ความหมาย เหงือกร่น
เหงือกร่น (Gingival Recession) คืออาการที่เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณรอบ ๆ ฟันอ่อนแอลงจนทำให้เนื้อเหงือกค่อย ๆ ร่นเข้าไปหารากฟันและทำให้เห็นตัวฟันมากขึ้น บางรายเนื้อเหงือกอาจร่นไปจนเผยให้เห็นรากฟันทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียมากขึ้น และทำให้เกิดคราบหินปูน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวช่องปากอื่น ๆ ตามมา อาการเหงือกร่นไม่สามารถรักษาให้หาย หรือกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ทำได้เพียงป้องกันเหงือกร่นลงไปอีก นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรรักษาอาการเหงือกร่น เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดความเสียหายของกระดูกฟัน จนทำให้ฟันไม่แข็งแรงและหลุดร่วงไปในที่สุด
อาการของเหงือกร่น
อาการของเหงือกร่นที่เห็นได้คือ ลักษณะเหงือกที่เปลี่ยนไป คือเนื้อเหงือกจะร่นลงจนเห็นตัวฟันมากขึ้น หากเป็นมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เห็นบริเวณคอฟันหรือรากฟันได้ชัด นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- มีอาการเสียวฟัน
- มีเลือดออกหลังจากแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน
- เหงือกบวมแดง
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกเจ็บบริเวณเหงือก
- ฟันโยก หรือฟันมีลักษณะดูยาวกว่าปกติ
ในการกัดหรือเคี้ยว ผู้ที่เป็นเหงือกร่นอาจกัดหรือเคี้ยวได้ค่อนข้างลำบาก และยิ่งมีอาการเจ็บมากขึ้นหากกดบริเวณเหงือก อีกทั้งหากมีอาการเหงือกร่นติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่มีการรักษาที่ดีพอ ก็จะทำให้บริเวณที่เหงือกร่นกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค นำมาสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากตามมาได้
สาเหตุของเหงือกร่น
เหงือกร่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ร้ายแรงที่สุดคือเกิดจากโรคปริทันต์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดเหงือกร่นแล้วยังนำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ จนอาจทำให้สูญเสียฟันได้ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดเหงือกร่น ได้แก่
- การแปรงฟันผิดวิธี การเลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งมากเกินไป หรือการแปรงฟันแรง ๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อเหงือกเสียหายและร่นขึ้นไปจนกลายเป็นเหงือกร่นได้
- สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี การแปรงฟันไม่สะอาด ไม่ใช้ไหมขัดฟันหรือน้ำยาบ้วนปาก อาจก่อให้เกิดหินปูนเกาะระหว่างเหงือกและฟันได้ ซึ่งหากไม่รักษาก็จะทำให้เกิดเหงือกร่นในที่สุด
- เกิดอาการบาดเจ็บที่เหงือก เช่น อุบัติเหตุ การเจาะเหงือกและปากเพื่อความสวยงาม หรือการเล่นกีฬาที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณปาก อาจทำให้เนื้อเยื่อเหงือกตายและร่นเข้าไปที่รากฟันได้เช่นกัน
- โรคปริทันต์อักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเหงือก จนทำให้อวัยวะที่อยู่รอบตัวฟัน เช่น กระดูกรอบ ๆ รากฟันถูกทำลายจนมีขนาดลดลง เป็นสาเหตุทำให้เหงือกร่นตามลงมาด้วย
- พันธุกรรม ลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัวอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับเหงือกได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สตรีมีครรภ์ และผู้ที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพเหงือกได้โดยตรง ทำให้เหงือกอ่อนแอลง จนง่ายต่อการอักเสบและการสูญเสียเนื้อเยื่อได้
- การสูบบุหรี่ สารพิษที่อยู่ในบุหรี่เป็นตัวการสำคัญให้เกิดคราบพลัคที่ยากต่อการทำความสะอาด และหากทิ้งไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดคราบหินปูน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเหงือกร่นได้
- พฤติกรรมผิด ๆ ที่ติดเป็นนิสัย เช่นการกัดฟัน หรือเคี้ยวฟันขณะนอนหลับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงกดจำนวนมากที่ฟัน และส่งผลไปยังเหงือก ทำให้เหงือกอ่อนแอลงจนร่นลงไปที่โคนฟันได้
- เกิดจากการใส่อุปกรณ์จัดฟันที่ไม่พอดี อุปกรณ์จัดฟันที่แน่นเกินไป หรือไม่เข้ากับรูปฟันของผู้ป่วย จะทำให้เหงือกอ่อนแอ และร่นลงจนเห็นเนื้อฟันมากขึ้น
การวินิจฉัยอาการเหงือกร่น
อาการเหงือกร่นในเริ่มแรกอาจยากจะสังเกตเห็นได้ เนื่องจากอาการนี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย แต่หากอาการเริ่มมากขึ้น ผู้ป่วย หรือทันตแพทย์จะสังเกตเห็นลักษณะเหงือกที่ร่นลงไปที่โคนฟันได้มากขึ้น
ทั้งนี้ แพทย์จะคาดคะแนนความลึกของร่องเหงือก หากมีความลึกประมาณ 1-3 มิลลิเมตรแปลว่าเหงือกมีลักษณะปกติ แต่หากลึกกว่า 3 มิลลิเมตร แพทย์จะสันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีอาการของโรคเหงือก โดยเมื่อพบสาเหตุแล้วก็จะเริ่มรักษาในขั้นต่อไป
การรักษาเหงือกร่น
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเหงือกร่น แต่ทั้งนี้เหงือกที่เสียหาย จะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ทำได้เพียงรักษาเหงือกที่เหลืออยู่ไม่ให้ร่นลงไปมากกว่าเดิม และป้องกันอาการแทรกซ้อนที่ส่งผลให้เกิดโรคปริทันต์อื่น ๆ ในบางกรณีอาจต้องส่งต่อผู้ป่วยให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคเหงือกเพื่อการรักษาที่ตรงจุด โดยในระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะต้องรักษาความสะอาดของช่องปากให้มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาภายในช่องปากซ้ำซ้อน
การรักษาตามสาเหตุการเกิดควรปฏิบัติดังนี้
- เกิดจากพฤติกรรมการแปรงฟันที่ผิด ในกรณีที่พบว่าสาเหตุเกิดจากการแปรงฟันแรง ๆ แพทย์จะแนะนำวิธีการแปรงฟันใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
- เกิดจากโรคปริทันต์ ในเบื้องต้นแพทย์จะขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อขจัดคราบหินปูนที่เกาะตามฟันออก ซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อเหงือกแนบสนิทกับฟันอีกครั้ง และหากมีอาการอักเสบของเหงือก แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อรักษาการอักเสบให้หาย ซึ่งผู้ป่วยจะต้องใช้ยาตามที่แพทย์กำหนด และรักษาความสะอาดของช่องปากให้มากขึ้นเป็นพิเศษ
- เกิดจากการใส่อุปกรณ์จัดฟันที่ไม่พอดี หากผู้ที่จัดฟันมีอาการเหงือกร่น แพทย์จะปรับอุปกรณ์จัดฟันให้พอดีกับช่องปากมากขึ้น จะช่วยให้อาการไม่เลวร้ายลงไปกว่าเดิมได้
ในกรณีที่เหงือกร่นมีอาการรุนแรง เช่นเนื้อเหงือกร่นลงมาจนเห็นรากฟันชัดเจน แพทย์อาจแนะนำวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเข้ามาเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วย โดยวิธีผ่าตัดทางทันตกรรมที่มักใช้ ได้แก่
- การซ่อมแซมกระดูก ในกรณีที่กระดูกที่รองรับฟันเกิดความเสียหายจากอาการเหงือกร่น การซ่อมแซมกระดูกและเนื้อเยื่อเป็นวิธีที่จะช่วยให้ฟันไม่เกิดความเสียหายได้ โดยแพทย์จะใช้เนื้อเยื่อเหงือกที่เพาะเลี้ยงภายนอก หรือเยื่อบุผิวเหงือกมาใช้ร่วมในการรักษา และปล่อยให้ร่างกายค่อย ๆ ซ่อมแซมกระดูกและเนื้อเยื่อ วิธีนี้เมื่อการรักษาได้ผลตามที่ต้องการแล้ว เนื้อเยื่อเหงือกจะขึ้นมาปิดรากเหงือกได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด
- การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือก เป็นการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายเนื้อเยื่ออ่อน ๆ บริเวณร่องฟันที่หายไปจากอาการเหงือกร่น โดยจะนำเอาเนื้อเยื่อจากบริเวณเพดานปากมาเย็บปิดบริเวณที่มีรากฟันโผล่ออกมาให้เห็น หรือหากผู้ป่วยยังมีเนื้อเยื่อเหงือกบริเวณรอบ ๆ ฟันเพียงพอ ทันตแพทย์จะใช้เนื้อเยื่อบริเวณเหล่านั้นแทน และไม่ใช้เนื้อเยื่อจากเพนดานปาก วิธีนี้อาจไม่ทำให้เหงือกกลับมาสู่สภาพปกติได้สมบูรณ์แต่ก็ช่วยให้รากฟันที่โผล่ออกมาจากอาการเหงือกร่นปลอดภัยจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบได้
ภาวะแทรกซ้อนจากเหงือกร่น
ภาวะแทรกซ้อนของอาการนี้ที่พบได้บ่อยที่สุดคือโรคปริทันต์ เนื่องจากการที่เหงือกอ่อนแอลงและร่นลงไป หากไม่ได้รับการรักษาเพื่อชะลอความรุนแรง อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบรุนแรงได้
นอกจากนี้ หากเนื้อเยื่อบริเวณเหงือกร่นลงมาเกินไป ก็จะทำให้ฟันไม่สามารถยึดติดกับที่ได้แน่นหนาเหมือนเดิม และนำมาสู่อาการฟันโยก เนื้อฟันถูกทำลาย อีกทั้งยังส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้ายิ้ม เพราะกลัวผู้อื่นจะเห็นความผิดปกติได้
การป้องกันอาการเหงือกร่น
เหงือกร่นป้องกันได้หลากหลายวิธี โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต และรักษาสุขอนามัยภายในช่องปากให้ดี ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่อ่อนนุ่ม เพื่อป้องกันความเสียหายของเหงือก อีกทั้งควรแปรงฟันตามที่แพทย์แนะนำและใช้ไหมขัดฟันอย่างระมัดระวัง
- พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งจะช่วยให้แพทย์เฝ้าระวังอาการเหงือกร่นและรักษาได้อย่างทันท่วงที
- รับประทานอาหารที่ประโยชน์ อาหารหลาย ๆ ชนิดสามารถบำรุงสุขภาพเหงือกให้แข็งแรงได้
- ลดการสูบบุหรี่ สารพิษจากบุหรี่เป็นสาเหตุให้เกิดเหงือกร่นได้ หากสามารถลดปริมาณการสูบหรือเลิกสูบบุหรี่ จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลง
วิธีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันอาการเหงือกร่นได้เท่านั้น แต่ยังช่วยชะลอความเสียหายของเหงือกในผู้ที่มีอาการเหงือกร่นอยู่แล้ว แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังคงลุกลามอย่างรวดเร็วควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาอย่างจริงจังต่อไป