ความหมาย เอวเคล็ด
เอวเคล็ด คือ ภาวะบาดเจ็บของหลังส่วนล่างจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหรือเอ็นบริเวณนั้น ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือการใช้งานหนักเกินไปจนส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดบริเวณเอว โดยมักรักษาให้หายได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการอย่างเรื้อรังต่อไปได้
อาการเอวเคล็ด
ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีอาการ ดังนี้
- ปวดหลังส่วนล่างอย่างเฉียบพลัน รู้สึกเจ็บเมื่อถูกสัมผัส อาจปวดร้าวไปถึงบริเวณก้น ขาหนีบ หรือขา
- เคลื่อนไหวลำบาก รู้สึกปวดหลังส่วนล่างมากขึ้นเมื่อทำกิจกรรม ซึ่งรวมถึงเมื่อก้ม ยืดเหยียด ไอ หรือจามด้วย
อาการเอวเคล็ดอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาอย่่างเหมาะสม โดยเฉพาะหากมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมกับเอวเคล็ด ดังนี้
- มีไข้สูงกว่า 38.3 องศาเซลเซียส
- ปัสสาวะบ่อย เจ็บขณะปัสสาวะ ปัสสาวะปนเลือด หรือควบคุมการขับถ่ายไม่ได้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- ปวดเอวแบบเจ็บแปลบหรือรู้สึกเหมือนถูกแทง ปวดเอวตลอดเวลาหรือไม่ทุเลาลงหลังจากเริ่มมีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์ ปวดเอวร้าวไปถึงขา ปวดหรือชาบริเวณขา ขาอ่อนแรง ยืนหรือเดินไม่ได้
- ปวดหลังบริเวณอื่น ๆ เพิ่มเติม
สาเหตุของเอวเคล็ด
เอวเคล็ดมักเกิดจากการทำกิจกรรมที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อหรือเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่างเกิดการบาดเจ็บ ซึ่งปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดเอวเคล็ดได้ มีดังนี้
- เคยเอวเคล็ดมาก่อน
- ไม่อบอุ่นร่างกายก่อนทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย
- ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากโดยใช้กล้ามเนื้อหลังแทนที่จะใช้กล้ามเนื้อขา หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากกว่าปกติ
- เล่นกีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายและออกแรงมาก เช่น ยกน้ำหนัก บาสเก็ตบอล เทนนิส หรือกอล์ฟ
- อยู่ในท่วงท่าที่ไม่ถูกต้อง นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน ก้มหรือหมอบคลานหลาย ๆ ครั้งติดต่อกัน
- มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- หกล้ม หรือประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนจนทำให้เอวเคล็ด
- ไออย่างรุนแรง
- หลังส่วนล่างงอมากผิดปกติ กล้ามเนื้อหลังหรือหน้าท้องอ่อนแอ กระดูกเชิงกรานเอียงไปด้านหน้า กล้ามเนื้อต้นขาส่วนหลังตึงตัวมากผิดปกติ
การวินิจฉัยเอวเคล็ด
โดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยอาการเอวเคล็ดด้วยการซักประวัติและตรวจร่างกาย แต่หากสงสัยว่าอาจเอวเคล็ดจากโรคอื่น ๆ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ ทำซีที สแกน หรือเอ็มอาร์ไอ สแกน เพื่อศึกษาภาพถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างละเอียด ซึ่งแพทย์อาจต้องให้สารทึบแสงแก่ผู้ป่วย เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพบริเวณหลังส่วนล่างได้ชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การสแกนกระดูกด้วยสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งต้องฉีดสารกัมมันตภาพรังสีปริมาณเล็กน้อยเข้าสู่หลอดเลือดของผู้ป่วยก่อนสแกนดูการไหลเวียนของเลือดไปสู่กระดูกและดูการทำงานของเซลล์ในกระดูก หรืออาจตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพื่อประเมินการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
การรักษาเอวเคล็ด
อาการเอวเคล็ดสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาไม่กี่วันหากมีอาการเพียงเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจใช้เวลารักษาตัวนานหลายสัปดาห์
โดยผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการเอวเคล็ดได้ ดังนี้
- นอนพัก ผู้ป่วยควรพักทำกิจกรรมไปก่อนหลังจากได้รับบาดเจ็บเป็นเวลา 1-2 วัน
- ประคบเย็น ผู้ป่วยควรประคบน้ำแข็งบริเวณที่ปวดทันที และทำซ้ำทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง ครั้งละ 20-30 นาที เป็นเวลา 2-3 วัน เพื่อลดอาการปวดบวม
- ประคบร้อน เมื่ออาการบวมทุเลาลง ผู้ป่วยควรประคบร้อนบริเวณหลังส่วนล่างหลังจากประคบเย็นในช่วง 2-3 วันแรกแล้วเท่านั้น โดยผู้ป่วยสามารถแช่ตัวในน้ำร้อน รวมทั้งใช้แผ่นประคบร้อนหรือถุงน้ำร้อนประคบครั้งละ 20 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดอาการปวดและการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
- รับประทานยา ผู้ป่วยอาจรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการปวด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยากลุ่มเอนเสด เพื่อช่วยลดอาการปวดบวมบริเวณหลังส่วนล่าง เช่น ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน เป็นต้น แต่ไม่ควรใช้ยาติดติดกันเป็นเวลานาน เพราะยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงมาก ยกเว้นในกรณีที่แพทย์แนะนำให้ใช้ นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาแก้ปวดประเภทอื่นและยาคลายกล้ามเนื้อแก่ผู้ป่วยบางราย เพื่อช่วยลดอาการปวดและการหดเกร็งของกล้ามเนื้อด้วย
- ทำกิจกรรมและออกกำลังกาย ผู้ป่วยอาจเริ่มทำกิจกรรมที่ออกแรงน้อยหลังจากพักทำกิจกรรมในช่วงแรกของการบาดเจ็บ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รักษาความตึงตัวของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างและกล้ามเนื้อหน้าท้องให้กลับมาเป็นปกติ รวมทั้งลดโอกาสการบาดเจ็บซ้ำ โดยอาจว่ายน้ำหรือปั่นจักรยานอยู่กับที่แทนการเล่นกีฬาประเภทอื่น ๆ ซึ่งผู้ป่วยควรออกกำลังกายแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ควรเพิ่มความหนักหน่วงของการออกกำลังกายจนกว่าจะรู้สึกเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เพราะการหักโหมอาจทำให้ผู้ป่วยปวดหลังเรื้อรังและเกิดความเสียหายภายในอย่างถาวรได้
- สวมใส่อุปกรณ์พยุงหลัง การสวมใส่เข็มขัดพยุงหลังหรือเสื้อพยุงหลังจะช่วยรองรับน้ำหนักบริเวณหลังซึ่งบรรเทาอาการเอวเคล็ดได้ โดยควรสวมใส่ในระยะเวลาสั้น ๆ สวมใส่เมื่อต้องยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก หรือเมื่อต้องยกสิ่งของหลาย ๆ ครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเกี่ยวกับวิธีการใช้อุปกรณ์
ภาวะแทรกซ้อนของเอวเคล็ด
ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือฝืนทำกิจกรรมทั้งที่ยังไม่หายเป็นปกติ อาจเกิดการบาดเจ็บบริเวณหลังส่วนล่างอย่างเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดและซึมเศร้าจากอาการป่วยได้
การป้องกันเอวเคล็ด
โดยทั่วไป เอวเคล็ดสามารถป้องกันได้ ดังนี้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งอาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากมีน้ำหนักเกินหรือต้องการลดน้ำหนัก
- ควรนอนหงายหรือนอนตะแคงโดยสอดหมอนใต้ขาหรือระหว่างขาทั้ง 2 ข้าง และไม่ควรนอนคว่ำ
- งอเข่าและสะโพกเมื่อก้มลงเก็บสิ่งของบนพื้นแทนการก้มหลัง ใช้กล้ามเนื้อขารองรับน้ำหนักแทนการใช้หลัง ถือสิ่งของให้ชิดกับหน้าอกในระหว่างที่ยกตัวขึ้น และไม่ควรบิดตัวหรือยกสิ่งของเหนือระดับเอว
- หลีกเลี่ยงการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน พยายามนั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้และวางเท้าราบไปกับพื้น โดยห้ามเอื้อม ดึง หรือผลักสิ่งของที่มีน้ำหนักมากในขณะนั่ง
- เปลี่ยนท่ายืนบ่อย ๆ เมื่อต้องยืนเป็นเวลานาน โดยวางเท้าข้างหนึ่งลงบนที่พักเท้าแล้วยืนสลับเท้ากัน
- อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายเสมอ ออกกำลังกายในท่าที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลัง ร่วมกับการยืดเหยียดกล้ามเนื้อเป็นประจำ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อฝึกกล้ามเนื้อในท่าออกกำลังกายที่ถูกต้อง