แขนหัก

ความหมาย แขนหัก

แขนหัก (ฺBroken Arm) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อกระดูกส่วนแขนได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้กระดูกแตกออกจากกัน ทำให้แขนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ มีอาการปวด บวม หรือกระดูกบริเวณแขนผิดรูป โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากอุบัติเหตุ การเล่นกีฬา ความผิดปกติกระดูกที่ส่งผลให้กระดูกอ่อนแอและหักได้ง่าย

แขนประกอบไปด้วยกระดูก 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือกระดูกปลายแขนท่อนใน (Ulna) ตรงข้อมือฝั่งนิ้วก้อยถึงข้อศอก ส่วนที่สองคือกระดูกปลายแขนท่อนนอก (Radius) ตรงฝั่งนิ้วโป้งถึงข้อศอก และส่วนสุดท้ายคือกระดูกต้นแขน (Humerus) ที่อยู่บริเวณหัวไหล่ถึงข้อศอก โดยกระดูกต้นแขนจะเชื่อมต่อกับกระดูกปลายแขนทั้ง 2 ชนิด ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่แขนหักและความรุนแรงของอาการ

แขนหัก

อาการแขนหัก 

ผู้ที่แขนหักมักมีอาการบวม เจ็บหรือปวด จะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อขยับแขน กระดูกแขนผิดรูปทรงไปจากปกติ อาจมีแผลเปิดเนื่องจากกระดูกทะลุผ่านผิวหนังหรือมีการฉีกขาดของผิวหนัง รู้สึกชาบริเวณบาดแผล มีเลือดออกมาก ไม่สามารถขยับแขนได้เลยหรือแขนส่วนนั้นไร้ความรู้สึก หรืออาจมีอาการบาดเจ็บอื่นร่วมด้วย 

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนแขนหักควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หากไม่แน่ใจว่าตนเองแขนหักหรือพบอาการต่อไปนี้หลังเกิดอุบัติเหตุ ควรไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและประเมินอาการ

  • รู้สึกเจ็บมากในจุดที่กดโดนหรือเจ็บมากเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งบริเวณแขน
  • อาการเจ็บหรือปวดบริเวณแขนไม่หายไปหลังจากดูแลเบื้องต้น เช่น การประคบด้วยน้ำแข็งหรือรับประทานยาแก้ปวดอย่างยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน
  • มีอาการบวมเป็นวงกว้างหรือแขนมีลักษณะผิดรูปไปจากเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับแขนอีกข้าง
  • ปวดขณะขยับแขนหรือเคลื่อนไหวแขนได้ลำบาก 

สาเหตุของแขนหัก

แขนหักเกิดจากการได้รับแรงกระแทกบริเวณแขนอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการหกล้มในท่าที่แขนหรือศอกได้รับแรงกระแทกโดยตรง อุบัติเหตุทางรถยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ การเล่นกีฬาที่ส่งผลให้เกิดบาดแผลหรือการกระแทกรุนแรง รวมถึงการถูกทารุณกรรมหรือใช้ความรุนแรงในเด็กก็อาจทำให้แขกหักได้ 

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุของอาการแขนหักได้ อย่างผู้ที่มีความหนาแน่นของกระดูกต่ำ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนและโรคมะเร็งกระดูก หรือการใช้งานแขนมากเกินไปในกรณีที่มีรอยร้าวเล็ก ๆ อยู่ก่อนแล้วก็อาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการหักของกระดูกได้

การวินิจฉัยแขนหัก

แพทย์จะวินิจฉัยความรุนแรงของอาการในเบื้องต้น โดยการตรวจดูความผิดปกติบริเวณแขน อาการบวม อาการเจ็บเมื่อถูกกดหรือสัมผัส เส้นเลือดและเส้นประสาทที่ได้รับความเสียหาย หรือกระดูกแขนผิดรูปไปจากเดิม หลังจากการตรวจสอบในข้างต้น แพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อหาว่ากระดูกบริเวณใดของท่อนแขนที่ได้รับความเสียหาย บริเวณที่แตกออกจากกันนั้นมีขนาดเป็นวงกว้างมากน้อยเพียงใด และมีการแตกกี่จุดบนท่อนแขน บางกรณีแพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียดด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

การรักษาแขนหัก

การรักษาแขนหักขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่กระดูกแขนหัก แต่ในเบื้องต้นสามารถปฐมพยาบาลก่อนไปพบแพทย์ด้วยการนำผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดตัวมาคล้องแขนข้างที่ได้รับบาดเจ็บไว้กับคอ จากนั้นประคบเย็นด้วยห่อน้ำแข็งเป็นเวลา 20-30 นาที เพื่อลดอาการปวดและบวม แต่ห้ามใช้น้ำแข็งประคบที่ผิวโดยตรง ซึ่งวิธีรักษาแขนหักในทางการแพทย์สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

การจัดกระดูก

แพทย์จะจัดกระดูกในกรณีที่กระดูกท่อนแขนของผู้ป่วยเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม ผู้ป่วยอาจได้รับยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาท หรือยาชาก่อนเข้าสู่กระบวนการการรักษาโดยขึ้นอยู่กับขนาดของบาดแผลและอาการบวม 

การเข้าเฝือก 

วิธีนี้เป็นการตรึงอวัยวะด้วยการเข้าเฝือกอ่อนบริเวณแขนชั่วคราว เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวและป้องกันการเคลื่อนที่ของกระดูกบริเวณแขน แพทย์อาจใส่เฝือกอ่อนให้ผู้ป่วยหลังจากแขนหักไปแล้ว 5-7 วัน เพื่อรอให้อาการบวมที่แขนลงลดเสียก่อน ในระหว่างนั้น แพทย์จะเอกซเรย์บริเวณแขนที่หักเพื่อตรวจให้แน่ใจว่ากระดูกไม่เคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม

การใช้ยา

แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและการอักเสบ หากผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างรุนแรงอาจจะได้รับยาที่แรงขึ้น อย่างยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotic Drugs) ประมาณ 2-3 วัน แต่กรณีที่แขนหักจนมีบาดแผลจากกระดูกทิ่มหรือมีบาดแผลเปิดใกล้บริเวณที่กระดูกหัก ผู้ป่วยอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจลามไปถึงกระดูกได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาแก้อักเสบแบบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวดควรปรึกษาจากแพทย์ เพราะหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้กระดูกสมานตัวช้าลง

การผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดอาจทำเพียงบางกรณีหรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เพื่อช่วยจัดกระดูกให้เข้าที่ หากผู้ป่วยที่แขนหักมีแผลเปิด แพทย์จะต้องรอให้อาการบวมลดลงก่อนทำการผ่าตัด

หลังการรักษาอาการแขนหัก ผู้ป่วยจะต้องฟื้นฟูการใช้งานแขนด้วยการทำกายภาพหรือออกกำลังกายเสริม เพื่อลดอาการข้อติดบริเวณแขน มือ และหัวไหล่ในขณะที่ยังเข้าเฝือกอยู่ รวมถึงเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะแนะนำให้เริ่มเร็วที่สุดหลังจากรับการรักษาขั้นต้นแล้ว

สำหรับระยะเวลาในการรักษาอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนอกเหนือจากความรุนแรงของอาการและวิธีการรักษา เช่น โรคประจำตัว อายุ การรับประทานอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ และผู้ป่วยควรเว้นจากกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในช่วง 2-3 เดือนหลังการถอดเฝือก

ภาวะแทรกซ้อนของแขนหัก

ในระหว่างแขนหักอาจเกิดอาการแทรกซ้อนและส่งผลให้อาการหายได้ช้าลง เช่น

  • กระดูกเกิดการติดเชื้อ โดยเป็นผลมาจากบาดแผลเปิดจากกระดูกหักทะลุผิวหนัง หากมีอาการแผลติดเชื้อควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
  • เส้นประสาทหรือหลอดเลือดได้รับความเสียหาย เนื่องจากส่วนปลายของกระดูกทำอันตรายกับหลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด มีอาการชาหรืออ่อนแรง 
  • ภาวะความดันในช่องปิดของกล้ามเนื้อสูง (Compartment Syndrome) มีอาการบวมอย่างรุนแรงบริเวณบาดแผล ทำให้ปิดกั้นการลำเลียงเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนอื่นของแขน จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บปวดและชา หากมีภาวะนี้ภายใน 1-2 วันหลังจากเกิดอุบัติเหตุ ควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
  • อาการข้อติด เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้าเฝือกเพื่อป้องกันการเคลื่อนของกระดูกส่วนที่หัก บางครั้งจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณหัวไหล่และข้อศอกได้อย่างสะดวก เมื่อส่วนข้อไม่เคลื่อนไหวหรือค้างอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดอาการข้อติด
  • ภาวะกระดูกหักไปถึงแผ่นการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth Plate) ในเด็ก อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกภายหลังอาการบาดเจ็บ โดยกระดูกอาจมีขนาดและความยาวไม่สมดุลกับบริเวณใกล้เคียงทำให้เกิดกระดูกแขนผิดรูปได้
  • ภาวะกระดูกต่อไม่ติด อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ใช้งานแขนมากเกินไปในขณะที่อาการยังไม่หายดี มีโรคประจำตัว ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • ภาวะข้อกระดูกอักเสบหากมีการหักของกระดูกอยู่ในบริเวณที่เป็นข้อต่อ

การป้องกันแขนหัก

สิ่งสำคัญในการป้องกันแขนหัก คือ การลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุและการหกล้ม รวมถึงเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ภาวะดังกล่าว ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมอย่างนม โยเกิร์ตหรือชีส และอาหารที่มีวิตามินดีสูงอย่างไขมันชนิดดีจากปลาและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติมวิตามินดีเสริมลงไป รวมถึงการโดนแสงแดดอ่อน ๆ ก็ช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้เช่นกัน
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก โดยควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับช่วงอายุเพื่อป้องกันอันตรายจากการออกกำลังกาย
  • ป้องกันการล้มด้วยการใส่รองเท้าที่เหมาะสม กำจัดสิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการล้มภายในบ้าน หากมีความจำเป็นอาจติดตั้งราวกันลื่นภายในห้องน้ำและติดตั้งราวบันไดไว้สำหรับเป็นที่ยึดเหนี่ยวก็เป็นอีกแนวทางที่ช่วยป้องกันได้เช่นกัน
  • ใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือในขณะทำกิจกรรมหรือกีฬาที่มีความเสี่ยงต่อกระดูกแขนสูง เช่น รักบี้ ฟุตบอล เป็นต้น
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะลดความหนาแน่นของมวลกระดูก ส่งผลให้กระดูกอ่อนแอและเสี่ยงต่อการหักได้มากขึ้น อีกทั้งยังชะลอการฟื้นตัวของกระดูกส่วนที่หักด้วย