แดพโซน (Dapsone)
Dapsone (แดพโซน) เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียที่ใช้รักษาโรคเรื้อนชนิดต่าง ๆ อาการผื่นคันคล้ายตุ่มน้ำใส (Dermatitis Herpetiformis) และโรคผิวหนังบางชนิด โดยตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและบรรเทาการอักเสบ
นอกจากนี้ ยา Dapsone สามารถนำไปใช้รักษาโรคอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์ เช่น โรคมาลาเรีย โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ (Pneumocystis Jirovecii Pneumonia) และโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) เป็นต้น
เกี่ยวกับยา Dapsone
กลุ่มยา | กลุ่มยาซัลโฟน (Sulfone) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคเรื้อนบางชนิด ป้องกันโรคมาลาเรีย โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติสจิโรเวซิไอ และโรคท็อกโซพลาสโมซิส |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ เด็ก |
รูปแบบของยา | ยารับประทานและยาทา |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ และไม่ควรให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยา Dapsone เพราะตัวยาอาจส่งผ่านน้ำนมไปสู่ทารก |
คำเตือนในการใช้ยา Dapsone
ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Dapsone มีดังนี้
- แจ้งแพทย์และเภสัชกรหากมีอาการแพ้ยาจากยา Dapsone และยาชนิดอื่น รวมถึงอาการแพ้สารอื่น ๆ โดยผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบของยา Dapsone ก่อนการใช้
- เพื่อป้องกันอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากรับประทานวิตามิน สมุนไพร และยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาไซโดวูดีน (Zidovudine) ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ยาอะทาซานาเวีย (Atazanavir) ยาไรฟาบูติน (Rifabutin) เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์และทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรคตับ โรคหัวใจ โรคปอด ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน ภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรง โรคเลือดบางชนิด อย่างภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) และภาวะโลหิตจาง
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Dapsone หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์
- ยา Dapsone อาจทำให้ผิวไวต่อแสง ทำให้ผิวไหม้จากแสงแดดได้ง่าย หากต้องอยู่กลางแจ้งควรทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไปหรือปกป้องผิวด้วยวิธีอื่น
- ระมัดระวังการใช้ยา Dapsone ในเด็ก เพราะเด็กจะไวต่อการแพ้ยาชนิดนี้มากกว่าวัยอื่น ๆ
- การใช้ยา Dapsone อาจทำให้รู้สึกเวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวหรือการใช้เครื่องจักร รวมทั้งควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้รู้สึกมึนศีรษะมากขึ้นได้
ปริมาณการใช้ยา Dapsone
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Dapsone ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
ยารับประทาน
โรคเรื้อนประเภทเชื้อน้อย (Paucibacillary Leprosy)
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อรักษาโรคเรื้อนที่ตรวจพบเชื้อน้อยมากหรือตรวจไม่พบเชื้อ
- เด็กอายุ 10–14 ปี รับประทานยา Dapsone ปริมาณ 50 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับยาไรแฟมพิซินอย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
- เด็กอายุ 14 ขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา Dapsone ปริมาณ 100 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับยาไรแฟมพิซิน อย่างน้อย 6 เดือน จากนั้นอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
โรคเรื้อนประเภทเชื้อมาก (Multibacillary Leprosy)
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อรักษาโรคเรื้อนที่ตรวจพบเชื้อได้มาก
- เด็กอายุ 10–14 ปี รับประทานยา Dapsone ปริมาณ 50 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับยาไรแฟมพิซินและยาโคลฟาซิมีน (Clofazimine) อย่างน้อย 12 เดือน จากนั้นอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
- เด็กอายุ 14 ขึ้นไปและผู้ใหญ่ รับประทานยา Dapsone ปริมาณ 100 มิลลิกรัม/วัน ร่วมกับยาไรแฟมพิซินและยาโคลฟาซิมีน อย่างน้อย 12 เดือน จากนั้นอาจปรับการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
ผื่นคันชนิด Dermatitis Herpetiformis
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อรักษาอาการผื่นคันคล้ายตุ่มน้ำใส ๆ
- ผู้ใหญ่ รับประทานยา Dapsone ปริมาณ 50 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นอาจปรับปริมาณยาเพิ่มขึ้น สูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน หากมีอาการดีขึ้น แพทย์จะลดปริมาณยาลงทันทีโดยคงปริมาณการรับประทานยาอยู่ที่ 25–30 มิลลิกรัม/วัน
โรคมาลาเรีย
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย
ผู้ใหญ่ รับประทานยา Dapsone ร่วมกับยาไพริเมทามีน (Pyrimethamine) ปริมาณ 100 มิลลิกรัม/สัปดาห์
โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส จิโรเวซิไอ
- เด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไป รับประทานยา Dapsone ปริมาณ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือรับประทานยาปริมาณ 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
- ผู้ใหญ่ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ป่วยโรคเอดส์ใช้ยา Dapsone ร่วมกับการรับประทานยาไทรเมโทพริม (Trimethoprim) ปริมาณ 50–100 มิลลิกรัม/วัน หรือปริมาณ 100 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/สัปดาห์ หรือรับประทานยาปริมาณ 200 มิลลิกรัม/สัปดาห์
โรคท็อกโซพลาสโมซิส
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อป้องกันโรคท็อกโซพลาสโมซิส
- เด็กทารกอายุ 1 เดือนขึ้นไป รับประทานยาปริมาณ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 25 มิลลิกรัม
- ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 100 กรัม 2 ครั้ง/สัปดาห์ตลอดชีวิต
ยาทา
สิว
ตัวอย่างการใช้ยา Dapsone เพื่อรักษาสิวhttps://www.pobpad.com/สิว
- เด็กอายุ 9 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ยา Dapsone รูปแบบเจลที่มีความเข้มข้น 5% ให้ทายาบาง ๆ บริเวณที่มีอาการ 2 ครั้ง/วัน หากเป็นยารูปแบบเจลที่มีความเข้มข้น 7.5% ทาบาง ๆ บริเวณที่มีอาการ 1 ครั้ง/วัน
การใช้ยา Dapsone
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Dapsone ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด และไม่ควรปรับปริมาณการใช้ยาเอง หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง เพราะการหยุดใช้ยาก่อนกำหนดอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ซ้ำได้
- ยาชนิดรับประทานยาสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ โดยให้รับประทานยาในเวลาเดิมทุกวันเพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
- ในการรับประทานยา Dapsone ควรเว้นระยะห่างกับยาชนิดอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และยารักษาโรคกรดไหลย้อน เพราะยาดังกล่าวอาจขัดขวางการดูดซึมยา Dapsone เข้าสู่ร่างกายได้
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้และรับประทานยาครั้งต่อไปตามช่วงเวลาเดิม ห้ามเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็น 2 เท่า
- หากใช้ยาเกินขนาดและหายใจลำบากหรือหมดสติ ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้ เนื่องจากปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองของอาการในแต่ละคน
- เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิดและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากมือเด็ก ความชื้น ความร้อนและอากาศเย็นจัด หากยาหมดอายุ ควรนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Dapsone
โดยทั่วไป ยา Dapsone อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ตาเบลอ หูอื้อ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และนอนไม่หลับ ในกรณีที่มีอาการแย่ลงหรือมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน
- ปากเป็นสีม่วงคล้ำ
- หายใจเร็ว
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เกิดเหน็บชาบริเวณมือหรือเท้า
- เกิดภาวะตัวบวม
- อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีไข้ ไอและหายใจลำบากอย่างรุนแรง
- ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
- เกิดภาวะดีซ่านhttps://www.pobpad.com/ดีซ่าน โดยตาและผิวหนังของผู้ป่วยจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
- มีอาการแพ้ยา โดยจะเกิดผื่น มีอาการคัน บวมในบริเวณใบหน้า ลิ้นและคอ เวียนศรีษะอย่างรุนแรงหรือหายใจลำบาก
- ตับอ่อนทำงานผิดปกติ โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้องช่วงบนอย่างรุนแรงก่อนจะลามไปที่หลัง
- เกิดความผิดปกติของปริมาณเม็ดเลือด ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายหรืออ่อนแรงกะทันหัน เจ็บคอ มีแผลในปาก เหงือกบวมหรือแดง มีไข้ หนาวสั่น กลืนลำบาก ผิวซีด ช้ำง่าย หรือผิวหนังมีจุดแดง
- มีอาการของโรคภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune Diseases) เช่น เจ็บหน้าอก ปวดหัว มึนงง หายใจไม่อิ่ม เกิดผื่นคล้ายรูปผีเสื้อในบริเวณแก้มหรือจมูก และอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่ออยู่กลางแดด เป็นต้น