ความหมาย แผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma)
แผลพุพอง (Impetigo/Ecthyma) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจส่งผลให้บริเวณใบหน้า รอบจมูก ปาก มือและเท้ามีผื่นแดง คัน มีตุ่มหนองที่แตกง่ายและแผลตกสะเก็ดเกิดขึ้น โดยแผลพุพองสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในเด็กและทารก
แผลพุพองอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผ่านการสัมผัสหรือเกาบริเวณแผล และสามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ผ่านสัมผัสทางผิวหนังหรือการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าขนหนูและของเล่น อย่างไรก็ตาม เพียงรักษาสุขอนามัยของร่างกายเป็นประจำและรักษาความสะอาดของบาดแผลอาจช่วยป้องกันการเกิดแผลพุพองได้
อาการของแผลพุพอง
แผลพุพองส่วนมากมักมีอาการไม่ร้ายแรง ซึ่งแผลพุพองอาจเกิดขึ้นได้ 3 แบบ คือ แบบมีตุ่มน้ำ แบบไม่มีตุ่มน้ำ และแบบรุนแรง โดยมีลักษณะและอาการดังต่อไปนี้
แผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำ (Bullous Impetigo)
ผิวหนังอาจมีตุ่มน้ำพองใสขนาด 1–2 เซนติเมตรขึ้นตามร่างกายบริเวณลำตัว ลำคอ แขนและขาทั้ง 2 ข้าง โดยตุ่มน้ำอาจแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก่อนจะแตกออกและกลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง อาจรู้สึกเจ็บและคันบริเวณรอบแผล นอกจากนี้ อาจมีไข้และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย แผลพุพองแบบมีตุ่มน้ำอาจรักษาให้หายเองได้ภายใน 1–2 สัปดาห์โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้
แผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำ (Non-Bullous Impetigo)
ผิวหนังอาจมีตุ่มหรือผื่นแดงขนาดประมาณ 2 เซนติเมตรหรือเล็กกว่า ซึ่งส่วนใหญ่มักขึ้นบนใบหน้า แขนและขา เมื่อตุ่มหรือผื่นกลายเป็นแผลมักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บแต่อาจทำให้รู้สึกคัน โดยแผลอาจกระจายเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็วและทิ้งสะเก็ดหนาสีเหลือง หลังจากสะเก็ดหลุดแล้วอาจทิ้งรอยแดงบนผิวหนัง ซึ่งอาจจางลงเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ แผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำอาจมีอาการไข้สูงและต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย
แผลพุพองแบบรุนแรง (Ecthyma)
แผลพุพองชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อที่ชั้นหนังแท้ อาการเบื้องต้นอาจมีลักษณะคล้ายแผลพุพองแบบไม่มีตุ่มน้ำแต่อาจมีสะเก็ดสีเหลืองและขอบแผลชัดกว่า ซึ่งมักพบแผลที่บริเวณขาหรือเท้าของเด็ก ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งหรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
สาเหตุของการเกิดแผลพุพอง
แผลพุพองสามารถเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) หรือเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ไพโอจีน (Streptococcus Pyogenes) เมื่อผิวหนังเมื่อมีเกิดบาดแผล ผื่น แมลงกัด หรือมีปัญหาผิวหนังอื่น ๆ เช่น กลากอาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่แผลและก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
แผลพุพองสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เพราะแบคทีเรียอาจแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วผ่านการสัมผัสผิวหนังของผู้ติดเชื้อหรือใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู แก้วน้ำ หรือของเล่น โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลพุพองได้มากที่สุด ได้แก่
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2–5 ปี เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้น เด็กอาจรู้สึกระคายเคืองและเผลอเกาบาดแผล ทำให้เชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังอาจเข้าสู่บาดแผลและกลายเป็นแผลพุพองได้
- ผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น สถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียน เนื่องจากเป็นสถานที่เกิดการสัมผัสทางผิวหนังได้ง่าย ซึ่งอาจส่งผลเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายเข้าบาดแผลได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ผู้ที่มีการระคายเคืองผิวหรือมีโรคผิวหนัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักส่งผลให้เกิดบาดแผลบนผิวหนังและอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียได้
- ผู้ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี เช่น การไม่อาบน้ำหรือไม่ล้างมือให้สะอาด อาจเสี่ยงให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่บาดแผลได้
- ผู้ที่อยู่ในภูมิอากาศร้อนชื้น เนื่องจากบริเวณที่มีอากาศร้อนหรือมีความชื้น อาจส่งผลให้แบคทีเรียสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคแผลพุพองได้
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อบนผิวหนัง เพราะปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงอาจช่วยให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อที่ทำให้เกิดแผลพุพอง
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่านการทำคีโม หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจส่งผลให้โอกาสในการติดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังเพิ่มมากขึ้น
การวินิจฉัยแผลพุพอง
แพทย์อาจวินิจฉัยแผลพุพองได้โดยการสังเกตจากลักษณะของแผล อย่างไรก็ตาม หากการรักษาไม่ได้ผล แพทย์อาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อหรือของเหลวบริเวณแผลส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะที่อาจเหมาะสมต่อการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจมีการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุของโรคต่อไป
การดูแลรักษาแผลพุพอง
การดูแลรักษาแผลพุพองทั่วไปอาจใช้เวลาประมาณ 7–10 วัน ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับแนะนำให้ผู้ป่วยพัฒนาและเสริมสร้างสุขอนามัยของตนให้ดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนและป้องกันการแพร่ของเชื้อแบคทีเรีย โดยการรักษาแผลพุพองสามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
การใช้ยาปฏิชีวนะ
แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าแบคทีเรียที่กอ่ให้เกิดแผลพุพอง โดยรูปแบบของยาปฏิชีวนะที่ใช้ มีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะแบบครีม สำหรับผู้ที่มีแผลพุพองที่ไม่รุนแรง แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะแบบครีม เช่น ยามิวพิโรซิน (Mupirocin) ก่อนทายาควรล้างมือและทำความสะอาดบาดแผล จากนั้นล้างมือให้สะอาดหลังทายาและปิดแผลด้วยผ้าพันแผล เพื่อลดการกระจายของเชื้อแบคทีเรีย
- ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) มักใช้สำหรับผู้ที่มีอาการแผลพุพองรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้าง หรือใช้ยาปฏิชีวนะแบบครีมแล้วอาการไม่ดีขึ้น
การใช้ยาปฏิชีวนะทั้งสองรูปแบบควรใช้อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง โดยการใช้ยาปฏิชีวนะแบบครีมอาจส่งผลให้มีอาการระคายเคือง แดงหรือคันบริเวณที่ทาครีม สำหรับยาปฏิชีวนะแบบรับประทานอาจมีผลข้างเคียง เช่น รู้สึกไม่สบาย คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง หากอาการผลข้างเคียงยังคงไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา
การดูแลรักษาที่บ้าน
นอกจากการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาแผลพุพองแล้ว ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองเพื่อให้แผลพุพองดีขึ้นและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- ทำความสะอาดแผลโดยใช้น้ำสะอาดกับสบู่ที่มีความอ่อนโยนหรือมีคุณสมบัติต่อต้านแบคทีเรีย และควรใช้ผ้าพันแผลปิดแผลทุกครั้งเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจาย
- แช่ผิวที่ตกสะเก็ดจากแผลพุพองในน้ำอุ่นเพียงอย่างเดียวหรือผสมกับน้ำสบู่อาจช่วยให้สะเก็ดของแผลอ่อนตัวและหลุดออกได้ง่ายยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่มีแผลพุพอง ไม่ควรแกะหรือเกา อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าขนหนูและเสื้อผ้า เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
- รักษาความสะอาดของร่างกาย ซักผ้าด้วยน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสโดนผิวหนังบริเวณที่มีแผลพุพอง
- ควรให้เด็กที่เป็นแผลพุพองอยู่แต่ในบ้านจนกว่าจะหายหรือจนกว่าจะครบ 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะครั้งแรก ผู้ปกครองไม่ควรพาไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้น
การรักษารูปแบบอื่น
สำหรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรุนแรง กระจายเป็นบริเวณกว้าง หรือไม่ตอบสนองต่อยาหรือการรักษาในรูปแบบอื่น แพทย์อาจเก็บตัวอย่างของเหลวหรือชิ้นเนื้อที่บริเวณแผลเพื่อนำไปทดสอบที่ห้องปฏิบัติการ และปรับยาปฏิชีวนะตามความรุนแรงหรือตามเชื้อที่ตรวจพบ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เคยเป็นแผลพุพองมากกว่า 1 ครั้ง อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ยังคงอาศัยอยู่ในจมูก ซึ่งปกติแล้วมักไม่ทำให้เกิดโรคใด ๆ แต่บางครั้งอาจแพร่กระจายไปที่ใบหน้าและทำให้แผลพุพองกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์อาจทำการเก็บตัวอย่างเชื้อในจมูกไปตรวจ (Swab Test) และจ่ายยาปฏิชีวนะแบบครีมมาให้ทาภายในจมูกเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของแผลพุพอง
แผลพุพองทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รีบเข้ารับการรักษาหรือดูแลรักษาไม่ดี แผลพุพองอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ เช่น
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เกิดการติดเชื้อที่ชั้นหนังแท้และเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการแดง บวม ตึง เจ็บ แสบร้อนที่ผิวหนัง หรืออาเจียนและมีไข้สูงร่วมด้วย
- ไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ มีไข้สูง ผื่นคันสีแดงหรือชมพูที่บริเวณหน้าอก ท้อง และกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น หูและคอ
- ไข้รูมาติก (Rheumatic Fever) เชื้ออาจกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งอาจพบว่ามีการอักเสบของหัวใจตามมา
- สะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ผิวแห้งแดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเทาหรือสีเงิน
- โรค 4S (Staphylococcal Scalded Skin Syndrome) เป็นอาการขั้นรุนแรงของการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีลักษณะคล้ายผิวที่โดนน้ำร้อนลวก ส่วนมา กจะพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicaemia) ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว มีอาการสั่น ถ้าเข้ารับการรักษาไม่ทันอาจทำให้การทำงานของอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้
- ไตอักเสบ โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าไปทำลายไต ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือดฝอยที่ไต
- กลุ่มอาการท็อกซิกช็อก (Toxic shock syndrome) เป็นอาการที่พบได้ยากแต่อาจอันตรายถึงชีวิต อาการที่อาจพบได้ เช่น ไข้สูง ความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นเร็ว
- รอยแผลเป็น แต่มักพบได้ยาก หากไม่แกะหรือเกาในบริเวณที่เป็นแผล
หากมีข้อสงสัยหรือกังวลว่าบุตรหลานจะเป็นแผลพุพอง ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรักษา ยิ่งรู้ไวก็ยิ่งรักษาได้ไว
การป้องกันการเกิดแผลพุพอง
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคแผลพุพอง ทั้งนี้ แผลพุพองสามารถป้องกันได้โดยเริ่มต้นจากการมีสุขอนามัยที่ดี ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ล้างมือเป็นประจำและเช็ดมือด้วยผ้าที่สะอาด
- อาบน้ำให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวหนังหรือของใช้ของผู้ที่เป็นแผลพุพอง
- หมั่นตัดเล็บเป็นประจำ ไม่ควรปล่อยไว้ให้ยาวเพื่อป้องกันการเกาจนแผลเกิดการอักเสบมากขึ้น
- เมื่อเกิดบาดแผลควรรีบทำความสะอาดแผลทันทีด้วยสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวและน้ำสะอาด จากนั้นทายา และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาหรือผ้าพันแผลให้เรียบร้อย
- ทำความสะอาดบ้านด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น