ความหมาย แพ้ท้อง
แพ้ท้อง (Morning Sickness) เป็นอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร หรืออาการอื่นร่วมด้วย โดยจะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และอาการจะเริ่มดีขึ้นแล้วหายไปในช่วงกลางหรือหลังไตรมาสที่ 2 แต่บางรายอาจมีอาการแพ้ท้องตลอดการตั้งครรภ์
อาการแพ้ท้องมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ โดยในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของอาการแพ้ท้องที่แน่ชัด ส่วนมากมักถูกกระตุ้นจากกลิ่นหรือการรับประทานอาหารบางชนิดได้ง่าย ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจปรึกษากับแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการได้ ยกเว้นในผู้ที่มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง (Hyperemesis Gravidarum) ควรพบแพทย์โดยเร่งด่วน
อาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่จะพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลร่วมด้วย โดยอาการแพ้ท้องมักพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสแรกหรือสัปดาห์ที่ 9‒14 ของการตั้งครรภ์ และอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางหรือช่วงหลังไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ อาการแพ้ท้องอาจถูกกระตุ้นได้ง่ายจากกลิ่น อาหารที่มีรสเผ็ด ความร้อน หรือภาวะน้ำลายมาก ในบางกรณีอาจมีอาการแพ้ท้องได้แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้น และอาจเกิดในช่วงใดก็ได้ตลอดวัน แต่มักจะมีอาการในช่วงเช้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตั้งครรภ์ควรเข้าพบแพทย์ทันทีหากมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างรุนแรง ปัสสาวะเป็นสีเข้มหรือไม่ขับถ่ายปัสสาวะติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 8 ชั่วโมง รู้สึกวิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง หน้ามืดอย่างรุนแรงเมื่อลุกยืน เจ็บท้อง เจ็บหรือมีเลือดออกขณะปัสสาวะ และน้ำหนักลดลง
สาเหตุของอาการแพ้ท้อง
ทางการแพทย์ยังไม่บอกถึงสาเหตุของอาการแพ้ท้องได้ชัดเจน แต่คาดกันว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ สำหรับในรายที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรง มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนอย่างต่อเนื่องอาจมีสาเหตุมาจากอาการของโรคหรือสภาวะอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ อย่างโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือโรคตับ แต่พบได้ค่อนข้างน้อย
อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ทุกคน แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยต่อไปนี้
- เคยมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนจากการเมารถ ปวดไมเกรน ได้กลิ่นหรือการรับประทานอาหารบางชนิด หรือเคยได้รับยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของเอสโตรเจน (Estrogen) ก่อนการตั้งครรภ์
- เคยมีอาการแพ้ท้องจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ
- ตั้งครรภ์ทารกแฝดหรือมากกว่า 1 คนขึ้นไป
นอกจากนี้ หากเคยตั้งครรภ์ทารกเพศหญิง สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการแพ้ท้องอย่างรุนแรง หรือเคยมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ๆ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่ออาการแพ้ท้องที่รุนแรง
การวินิจฉัยอาการแพ้ท้อง
โดยทั่วไป แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการแพ้ท้องได้จากอาการที่เกิดขึ้น ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ตั้งครรภ์อาจมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรง แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ การตรวจปัสสาวะเพื่อหาภาวะขาดน้ำ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจางและภาวะขาดน้ำ สมดุลเกลือแร่ สารอาหาร หรือวิตามินบางชนิด รวมไปถึงอาจมีการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
การรักษาอาการแพ้ท้อง
การรักษามักจะเน้นไปที่การบรรเทาความรุนแรงของอาการแพ้ท้องด้วยวิธีต่าง ๆ เนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์แต่ละคนมีอาการแพ้ท้องแตกต่างกันไป
การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต
แพทย์หรือผู้ดูแลอาจแนะนำให้ผู้ที่มีอาการแพ้ท้องไม่รุนแรงปรับการใช้ชีวิตและพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากความอ่อนล้าอาจทำให้อาการคลื่นไส้แย่ลง
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือกลิ่นที่ทำให้คลื่นไส้ รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด
- รับประทานอาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยขึ้น โดยให้เลือกอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย อาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างเนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงและไขมันต่ำ อย่างขนมปัง ข้าว ขนมปังแครกเกอร์ และพาสต้า
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของร้อนหากกลิ่นของอาหารร้อนทำให้รู้สึกคลื่นไส้
- รับประทานขนมปังปิ้งเปล่า ๆ หรือบิสกิตปริมาณเล็กน้อยก่อนเข้านอน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยให้จิบน้ำทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการอาเจียน
- รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของขิง ซึ่งอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน แต่ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทานในระหว่างตั้งครรภ์
การใช้ยา
แพทย์จะใช้วิตามินบี 6 เป็นวิตามินเสริม เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในเบื้องต้น แต่หากผู้ตั้งครรภ์ปฏิบัติตามวิธีก่อนหน้านี้แล้วไม่ได้ผลหรือมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม แพทย์หรือผู้ดูแลอาจแนะนำให้รับประทานยาชนิดอื่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการในระยะเวลาสั้น อย่างกลุ่มยาต้านอาการอาเจียน (Antiemetic) หรือยาต้านฮิสทามีน (Antihistamine) โดยแพทย์จะพิจารณาชนิดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ตั้งครรภ์แต่ละราย ในกรณีที่ไม่สามารถรับประทานยาได้ แพทย์จะแนะนำยาฉีดหรือยาเหน็บแทน อย่างไรก็ตาม ผู้ตั้งครรภ์ที่ต้องการใช้ยาในการรักษาควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องมักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงใด ๆ แต่อาการอาเจียนหรือคลื่นไส้บ่อยอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร ในรายที่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงมากก็อาจส่งให้เกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (Electrolyte Imbalance) หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการแพ้ท้องติดต่อกันนานกว่า 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์และมีน้ำหนักไม่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน เพราะภาวะหรืออาการต่าง ๆ จากอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์
การป้องกันอาการแพ้ท้อง
ผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถลดความรุนแรงหรือบรรเทาอาการแพ้ท้องได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดอาการ เช่น กลิ่นที่มีความรุนแรง ความอ่อนล้า อาหารที่มีรสเผ็ดหรือมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก การสูบบุหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ การกำจัดกลิ่นที่อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้โดยอาจระบายอากาศภายในบ้านและที่ทำงานก็อาจช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน
ในระหว่างตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอหรืองีบหลับในระหว่างวัน ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และวิตามินบำรุงครรภ์เสริม (Prenatal Vitamin) ตามคำแนะนำของแพทย์