แพ้ผงชูรส

ความหมาย แพ้ผงชูรส

แพ้ผงชูรส (MSG Allergy) เป็นอาการที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate: MSG) ผู้ที่แพ้ผงชูรสจะมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ผิวหนังแดง รวมทั้งอาจมีอาการแสบร้อนที่หน้าและคอ เป็นต้น

ผงชูรส เป็นวัตถุปรุงแต่งอาหารที่มักถูกนำมาใช้ในการปรุงเพื่อเพิ่มรสชาติแก่อาหาร ซึ่งคนทั่วไปสามารถบริโภคได้โดยไม่เกิดอันตรายหากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม แต่ผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการแพ้หลังรับประทานสารชนิดนี้ โดยอาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละคน บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันได้

อาการแพ้ผงชูรส

หากผู้ที่แพ้ผงชูรสรับประทานอาหารที่มีผงชูรส อาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ปวดศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผิวหนังแดง เกิดลมพิษซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นบวมนูนสีแดง
  • รู้สึกชา แสบร้อนบริเวณใบหน้า คอ รอบปาก และอาจรู้สึกแน่น ตึง หรือบวมที่ใบหน้า
  • มีเหงื่อออก
  • น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก
  • ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน

ในกรณีที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกเจ็บที่หน้าอก หายใจตื้นและถี่ คอบวม ใจสั่น เป็นต้น บางรายอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลันจนอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองมีอาการแพ้หลังจากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส ไม่ว่าอาการจะรุนแรงหรือไม่ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

1884 แพ้ผงชูรส rs

สาเหตุของอาการแพ้ผงชูรส

แม้เคยมีผู้ที่เกิดอาการแพ้หลังจากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารโมโนโซเดียมกลูตาเมต แต่ในปัจจุบันนักวิจัยก็ยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ความเกี่ยวข้องระหว่างผงชูรสและอาการแพ้ได้ มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าอาการแพ้ผงชูรสอาจเกิดจากการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยที่ไวต่อสารโมโนโซเดียมกลูตาเมต

นอกจากนี้ มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่า สารโมโนโซเดียมกลูตาเมตอาจเป็นอันตรายต่อสารพันธุกรรมและเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ทั้งยังมีงานวิจัยในสัตว์บางชนิดที่บ่งบอกว่าสารโมโนโซเดียมกลูตาเมตอาจส่งผลต่อสารเซโรโทนิน ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้า และยังอาจเป็นอันตรายต่อไตอีกด้วย แต่เนื่องจากงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการทดลองในกลุ่มคนจำนวนน้อยหรือสัตว์บางชนิดเท่านั้น อีกทั้งยังมีงานวิจัยบางส่วนที่แสดงผลว่า ผงชูรสไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ใด ๆ ทำให้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของอาการแพ้ผงชูรสได้

การวินิจฉัยอาการแพ้ผงชูรส

ในเบื้องต้นแพทย์จะประเมินจากอาการและอาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้ผงชูรส แพทย์อาจสอบถามเพิ่มเติมว่าผู้ป่วยได้รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรสในช่วงเวลา 2 ชั่วโมงก่อนมีอาการหรือไม่ ร่วมกับตรวจร่างกายผู้ป่วย นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือหายใจไม่สะดวก เป็นต้น แพทย์อาจตรวจอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และอาจตรวจดูทางเดินหายใจด้วยว่าถูกปิดกั้นหรือไม่

การรักษาอาการแพ้ผงชูรส

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย โดยผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมักไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากอาการต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปเอง ซึ่งผู้ป่วยอาจดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อช่วยขับสารโมโนโซเดียมกลูตาเมตออกจากร่างกาย และอาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดศีรษะ

ส่วนผู้ป่วยที่เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาอิพิเนฟริน ซึ่งเป็นยาที่ใช้ฉีดในกรณีฉุกเฉิน เพื่อรักษาภาวะช็อกหรือความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ร่วมกับใช้ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการหายใจไม่สะดวก คอบวม หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงอาการแพ้อื่น ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้ผงชูรส

ผงชูรสอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทและอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์บางอย่าง เช่น เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

นอกจากนี้ หากระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยไวต่อผงชูรสมาก อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย จนเกิดอาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว คอบวม หายใจไม่ออก ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

การป้องกันอาการแพ้ผงชูรส

ผู้ที่แพ้ผงชูรสควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป เช่น เนื้ออบแห้ง สารสกัดจากเนื้อ น้ำสต๊อคไก่ซึ่งเป็นน้ำต้มไก่ที่ใส่ผักหรือเครื่องปรุงที่เตรียมไว้สำหรับปรุงอาหาร รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนที่ผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส คาร์โบไฮเดรตแบบมอลโทเดกซ์ทริน สารอิมัลซิไฟเออร์ และแป้งแปรรูปประกอบอาหาร
  • กำชับผู้ปรุงอาหารไม่ให้ใส่ผงชูรสในอาหาร
  • เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสดใหม่ หรืออาหารแบบเกษตรอินทรีย์
  • หากต้องรับประทานอาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรอ่านฉลากที่อยู่บนผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนเสมอว่ามีส่วนผสมของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือไม่
  • รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารที่มีผงชูรส

นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่มีอาการแพ้ผงชูรสก็ควรรับประทานผงชูรสในประมาณที่พอเหมาะด้วย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการได้รับผงชูรสมากเกินไป รวมทั้งเลือกใช้ผงชูรสที่มีตราประทับ อย. และอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดผนึกเรียบร้อย