แพ้อาหารทะเล

ความหมาย แพ้อาหารทะเล

แพ้อาหารทะเล คือ ปฏิกิริยาตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายต่อโปรตีนในสัตว์น้ำทะเลและสัตว์น้ำจืดบางชนิด ได้แก่ สัตว์น้ำมีเปลือกทั้งหลาย เช่น กุ้ง ปู หอยนางรม หอยแครง ล็อบสเตอร์ หรือปลาหมึกชนิดต่าง ๆ เช่น หมึกยักษ์ หมึกกล้วย ซึ่งอาการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต

แพ้อาหารทะเล

อาการแพ้อาหารทะเล

อาการแพ้อาหารทะเลมักจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาตั้งแต่หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ เข้าไป และอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ จากการได้รับสารก่อภูมิแพ้แต่เด็ก จนค่อย ๆ ก่อให้เกิดอาการเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้บางคนอาจเพิ่งพบว่ามีอาการแพ้ในภายหลัง จากที่แต่ก่อนเคยรับประทานได้ปกติ อย่างไรก็ตามอาการแพ้ที่สังเกตได้ มีดังนี้

  • เกิดลมพิษ รู้สึกคัน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • คัดจมูก หายใจเสียงดังวี้ด หรือหายใจลำบาก
  • มีอาการบวมที่ใบหน้า ลำคอ ริมฝีปาก ลิ้น หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หู ฝ่ามือ นิ้วมือ
  • ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกมึนงง วิงเวียน บ้านหมุน หรือคล้ายจะเป็นลม
  • ปวดคล้ายเข็มทิ่มในปาก
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้บางรายอาจมีอาการรุนแรงที่ส่งผลถึงชีวิต มักเกิดขึ้นไม่นานหลังจากการรับประทานอาหารที่แพ้ และถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วนด้วยการฉีดยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) และนำตัวส่งห้องฉุกเฉินทันที ทั้งนี้อาการแพ้รุนแรงจะแสดงให้เห็น ดังนี้
  • คอบวมหรือมีก้อนในลำคอ ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงและหายใจลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • วิงเวียนศีรษะอย่างมาก หรือหมดสติ
  • มีอาการช็อก เนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำลงมาก
สาเหตุของการแพ้อาหารทะเล

อาการแพ้ที่เกิดจากอาหารทั้งหลายล้วนมีสาเหตุจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินไป เนื่องจากอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ดังกล่าวถูกตรวจจับว่าเป็นอันตราย จึงมีการกระตุ้นให้เกิดการผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibodies) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อสารชนิดนั้นขึ้น และในครั้งต่อไปที่ร่างกายสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากอาหารชนิดนั้น ๆ อีก ระบบภูมิคุ้มกันที่จดจำไว้แล้วว่าสารดังกล่าวเป็นอันตรายจึงปล่อยสารฮีสทามีนและสารเคมีอื่น ๆ ออกมาเพื่อป้องกันและจู่โจม ซึ่งสารเหล่านี้เองที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ที่เกิดขึ้นตามมา

แต่ละคนย่อมมีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารทะเลมากน้อยแตกต่างกัน หากบุคคลในครอบครัวเคยมีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ ก็ตาม สมาชิกในครอบครัวนั้นมักมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้อาหารทะเลมากกว่าปกติ นอกจากนี้ อาการแพ้อาหารทะเลยังสามารถเกิดขึ้นในช่วงวัยใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องแพ้ตั้งแต่เด็ก โดยจะพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนอาการแพ้อาหารทะเลของเด็กนั้นมักพบในเด็กผู้ชาย

ทั้งนี้ สัตว์น้ำมีเปลือกนั้นมีหลากหลายชนิด และแต่ละชนิดก็ประกอบด้วยโปรตีนชนิดแตกต่างกันในการทำให้เกิดอาการแพ้ แบ่งประเภทได้ดังนี้

  • สัตว์น้ำจำพวกกุ้งกั้งปู ได้แก่ ปู ล็อบสเตอร์ กุ้งต่าง ๆ รวมถึงกุ้งน้ำจืด
  • สัตว์น้ำลำตัวอ่อนนิ่ม ได้แก่ ปลาหมึก ปลาหมึกยักษ์ หอยทาก หอยกาบ หอยตลับ หอยแครง หอยนางรม
อย่างไรก็ตาม บางคนมีอาการแพ้อาหารทะเลเพียงบางชนิดแต่ยังสามารถรับประทานชนิดอื่น ๆ ได้ ในขณะที่บางคนอาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำมีเปลือกดังข้างต้นทุกชนิด

การวินิจฉัยอาการแพ้อาหารทะเล

แพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ และอาจใช้การทดสอบต่อไปนี้

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นการวินิจฉัยโดยใช้โปรตีนที่พบในสัตว์น้ำมีเปลือกปริมาณเล็กน้อยหยดเข้าไปภายใต้ผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก เพื่อดูว่ามีอาการแพ้อย่างเม็ดผื่นหรืออาการคันเกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณนั้นหรือไม่
  • การตรวจเลือดหรือที่เรียกว่าการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อสารก่อภูมิแพ้ (Radioallergosorbent: RAST) เพื่อดูการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในสัตว์น้ำมีเปลือก โดยวัดปริมาณสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibodies) ในกระแสเลือดชนิด IgE ที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม
ปฏิกิริยาบางอย่างหรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นหลังรับประทานหรือสัมผัสสัตว์น้ำมีเปลือกบางชนิดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของการแพ้อาหารทะเล แต่การทดสอบภูมิแพ้เป็นวิธีที่จะช่วยยืนยันถึงสาเหตุของอาการดังกล่าวและคัดแยกโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกันออกไป เช่น อาหารเป็นพิษ เป็นต้น

การรักษาอาการแพ้อาหารทะเล

หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำมีเปลือกที่จะทำให้เกิดอาการแพ้เป็นวิธีป้องกันการแพ้อาหารทะเลที่ดีที่สุด ทว่าแม้จะพยายามป้องกันแล้ว บางครั้งก็อาจเผลอรับประทานหรือสัมผัสอาหารเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสทามีน (Antihistamines) ช่วยลดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น อาการคันหรือมีผื่น

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเลชนิดรุนแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยจะต้องได้รับการฉีดยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) อย่างเร่งด่วนที่สุด และบางรายที่เสี่ยงต่ออาการแพ้รุนแรงนี้แพทย์จะแนะนำให้พกยาเอพิเนฟรินติดตัวไว้ตลอดเวลา รวมถึงสอนวิธีฉีดยาด้วยตนเอง ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องฉีดตั้งแต่มีสัญญาณบ่งบอกอาการแพ้เริ่มแรก และรีบไปพบแพทย์ทันทีแม้ว่าฉีดยาด้วยตนเองแล้วก็ตาม

ภาวะแทรกซ้อนของการแพ้อาหารทะเล

การแพ้อาหารทะเลรุนแรงอาจนำมาซึ่งอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น คอบวมจนปิดกั้นทางเดินหายใจ ชีพจรเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม ช็อก จนกระทั่งถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การป้องกันการแพ้อาหารทะเล

สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่าแพ้อาหารทะเลอยู่แล้ว การหลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์น้ำมีเปลือก รวมถึงผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีส่วนผสมจากอาหารเหล่านี้ เป็นวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ได้ดีที่สุด เพราะแม้จะได้รับอาหารที่แพ้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลให้บางรายมีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงได้ โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ ดังนี้

  • ควรระมัดระวังเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยแจ้งให้ทางร้านอาหารทราบ เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์เครื่องครัว น้ำมัน และวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาปรุงอาหารไม่มีการปนเปื้อนอาหารทะเลหรือผ่านการทำอาหารชนิดอื่นมาก่อน และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในร้านอาหารทะเล ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสและปนเปื้อนทางกายภาพจากอาหารทะเลสูง
  • อ่านฉลากที่ผลิตภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับอาหารที่มีส่วนผสมของอาหารทะเล แต่ควรระวังผลิตภัณฑ์บางชนิดที่อาจไม่ได้บอกส่วนประกอบอย่างละเอียด เช่น อาหารที่มีเครื่องปรุงรสอาหารทะเล
  • ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงบางรายอาจต้องอยู่ให้ห่างจากสถานที่ที่มีการประกอบการเกี่ยวกับสัตว์น้ำมีเปลือก เช่น ตลาดอาหารทะเลสด ร้านอาหารทะเล เพราะแม้เพียงสัมผัสหรือสูดหายใจเอาไอที่เกิดจากการปรุงอาหารทะเลเหล่านี้เข้าไปก็อาจมีอาการแพ้ตามมาได้
  • ผู้ที่มีบุตรหลานแพ้อาหารทะเลหรือสัตว์น้ำมีเปลือกควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบเพื่อป้องกันการแพ้จากการสัมผัสหรือรับประทาน ในกรณีที่เด็กมีอาการแพ้รุนแรง ทางสถานศึกษาควรเตรียมยาเอพิเนฟรินไว้พร้อมสำหรับฉีดตลอดเวลา
นอกจากนี้ ผู้ที่แพ้อาหารทะเลรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการพกยาฉีดฉุกเฉินเอพิเนฟริน หรือสวมข้อมือที่บอกข้อมูลการแพ้อาหารเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าตนมีอาการดังกล่าวและสามารถช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม

ส่วนความเชื่อที่ว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลจะเกิดอาการแพ้ต่อไอโอดีนหรือสารทึบรังสีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการนั้นไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกันแต่ประการใด ผู้ที่แพ้อาหารทะเลสามารถทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสสารไอโอดีนหรือสารทึบรังสีได้ตามปกติโดยไม่ต้องเป็นกังวล