แพ้ไรฝุ่น (Dust Mite Allergy)

ความหมาย แพ้ไรฝุ่น (Dust Mite Allergy)

แพ้ไรฝุ่น (Dust Mite Allergy) เป็นอาการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองอย่างผิดปกติเมื่อผู้ป่วยสัมผัสไรฝุ่นในอากาศ โดยจะมีอาการจาม มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ตาบวม ตาแดงหรือน้ำตาไหล และผู้ป่วยมักมีอาการรุนแรงขึ้นหากมีอาการของโรคหืดร่วมด้วย

ไรฝุ่นเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ ซึ่งอาการแพ้ไรฝุ่นสามารถบรรเทาและรักษาได้ ผู้ที่มีอาการแพ้เกิดขึ้น ควรตรวจและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังหรือการอักเสบในระบบทางเดินหายใจตามมาได้

Photophobia

อาการแพ้ไรฝุ่น

ผู้ป่วยแพ้ไรฝุ่นจะมีระดับความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ซึ่งอาการของแพ้ไรฝุ่นมีดังนี้

  • ไอ จาม
  • มีน้ำมูกไหล คัดจมูก หากเด็กมีอาการแพ้จะขยี้จมูกบ่อยครั้ง
  • หายใจเป็นเสียงหวีด
  • คันจมูก เพดานปากหรือคอ
  • มีเสมหะในคอ
  • ตาบวมหรือใต้ตาคล้ำ
  • ตาแดง คันหรือมีน้ำตาไหล
  • เจ็บหรือปวดแน่นใบหน้า

ในกรณีที่มีอาการแพ้ไรฝุ่นร่วมกับโรคหืด (Asthma) ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้น โดยอาจหายใจลำบาก แน่นหน้าอก มีเสียงหวีดขณะหายใจออก มีปัญหาด้านการนอนหลับเนื่องจากหายใจไม่อิ่ม ไอหรือหายใจเป็นเสียงหวีดซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อเป็นหวัดหรือไข้ รวมถึงมีอาการของโรคหืดอย่างรุนแรง

ทั้งนี้อาการแพ้ไรฝุ่นอาจคล้ายคลึงกับอาการแพ้อื่น ๆ หรืออาการของโรคอื่น ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม หากมีอาการดังกล่าวติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ รวมทั้งควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหากหายใจเป็นเสียงหวีดหรือมีอาการคัดจมูกอย่างรุนแรง นอนไม่หลับ หายใจไม่อิ่ม หายใจหอบ หรือหายใจลำบากเมื่อออกแรงเพียงเล็กน้อย

สาเหตุของอาการแพ้ไรฝุ่น

อาการแพ้ไรฝุ่นเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อไรฝุ่นด้วยการปล่อยโปรตีนแอนติบอดีเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้และอาการอักเสบในบริเวณปอดและทางเดินหายใจ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ไรฝุ่นมากกว่าผู้อื่นมักจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวหลายคนป่วยมีประวัติแพ้ไรฝุ่น สัมผัสหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีไรฝุ่นมากติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากนี้ หากผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้อย่างไรฝุ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน จะยิ่งทำให้มีอาการอักเสบเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโรคหืดได้

การวินิจฉัยอาการแพ้ไรฝุ่น

แพทย์จะวินิจฉัยอาการแพ้ไรฝุ่นจากการตรวจอาการ สอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย และอาจใช้ไฟฉายส่องไปยังบริเวณเยื่อบุจมูกเพื่อตรวจยืนยันอาการแพ้ที่เกิดจากละอองในอากาศ อาทิ โพรงจมูกบวม ซีดหรือเป็นสีม่วงคล้ำ จากนั้น แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) โดยแพทย์จะนำสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ รวมถึงสารที่สกัดจากสารไรฝุ่นมาหยดลงบนผิวและใช้เข็มสะกิดในบริเวณดังกล่าว หากมีอาการแพ้ ผิวของผู้ป่วยจะคันและเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งอาการจะหายไปภายในเวลา 30 นาที
  • การทดสอบภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Blood Test Allergy) เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้เนื่องจากการรับประทานยาหรือโรคผิวหนังบางชนิด โดยแพทย์จะตรวจหาการต้านทานต่อสารภูมิแพ้จากการเจาะเลือด และวิธีนี้มีความจำเพาะสูง

การรักษาอาการแพ้ไรฝุ่น

การหลีกเลี่ยงการสัมผัสไรฝุ่นถือเป็นการรักษาที่ได้ผลมากที่สุด เพราะจะช่วยบรรเทาอาการหรือลดความรุนแรงของอาการแพ้ โดยสามารถทำได้โดยการใช้ผ้าคลุมเตียงที่ป้องกันไรฝุ่น ควบคุมความชื้นภายในบ้านให้อยู่ในระดับต่ำโดยใช้เครื่องควบคุมความชื้น (Dehumidifier) หรือเครื่องปรับอากาศ เลือกซื้อของเล่นที่สามารถซักหรือทำความสะอาดได้ง่าย

นอกจากนี้ ควรซักผ้าปูที่นอน หมอนและผ้าห่มเป็นประจำทุกสัปดาห์ด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิอย่างน้อย 55 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าไรฝุ่นและเชื้อโรค ปัดกวาดหรือดูดฝุ่นอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการวางเครื่องใช้ที่สะสมฝุ่นไว้ในห้องนอน เช่น พรม ชั้นหนังสือหรือโซฟา เป็นต้น

นอกเหนือจากดูแลความสะอาดและสุขอนามัยภายในสถานที่พักอาศัย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้วิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยดังนี้

การใช้ยา

ผู้ป่วยอาจใช้ยาที่สามารถหาซื้อได้เองหรือยาตามใบสั่งแพทย์เพื่อบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น เช่น

  • ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการจาม น้ำมูกไหลหรืออาการคัน มีทั้งรูปแบบยาเม็ดอย่างยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) ยาลอราทาดีน (Loratadine) หรือยาเซทิริซีน (Cetirizine) ยาน้ำสำหรับเด็ก หรือยาพ่นจมูกอย่างยาอะเซลาสทีน (Azelastine) หรือยาโอโลพาทาดีน (Olopatadine)
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการบวมในจมูกและควบคุมอาการแพ้ ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยใช้เป็นยารูปแบบพ่นทางจมูกเนื่องจากมีผลข้างเคียงจากการใช้น้อยกว่ายาเม็ดแบบรับประทาน ตัวอย่างของยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ได้แก่ ยาฟลูติคาโซน โพรพิโอเนต (Fluticasone Propionate) ยาโมเมทาโซน ฟูโรเอท (Mometasone Furoate) หรือยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)
  • ยาลดอาการคัดจมูก เพื่อลดอาการบวมภายในโพรงจมูก ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น แต่ยาชนิดนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง โรคต้อหิน ต่อมลูกหมากโต หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดเนื่องจากตัวยาอาจเพิ่มระดับความดันโลหิต
  • ยาต้านลิวโคไตรอีน (Leukotriene Modifiers) อย่างยามอนเทลูคาสท์ (Montelukast) เพื่อยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารบางชนิดของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยรักษาอาการที่เกิดขึ้นจากภูมิแพ้และโรคหืด แต่การใช้ยาชนิดนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การติดเชื้อบริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน ปวดหัวหรือมีไข้ เป็นต้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านอารมณ์หรือสุขภาพจิต

การล้างจมูก (Nasal Irrigation)

การสวนล้างจมูกจะช่วยชะล้างน้ำมูกหรือเมือกเหนียวภายในจมูก โดยใช้น้ำเกลือ

การทำภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

การรักษาด้วยวิธีนี้จะเป็นการทำให้ร่างกายคุ้นเคยกับสารก่อภูมิแพ้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ผล โดยแพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยทีละน้อย ก่อนจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นภายในเวลา 3-6 เดือน และฉีดอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 4 สัปดาห์เป็นเวลา 3-5 ปี ทำให้ร่างกายผู้ป่วยค่อย ๆ คุ้นเคยกับสารที่แพ้ และทำให้การแพ้สารนั้นทุเลาลงหรือหายขาด

ภาวะแทรกซ้อนของอาการแพ้ไรฝุ่น

หากผู้ป่วยแพ้ไรฝุ่นสัมผัสกับไรฝุ่นติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะไซนัสอักเสบ ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อในโพรงจมูกเนื่องมาจากการแพ้ไรฝุ่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เยื่อบุผิวทางเดินหายใจถูกทำลายได้ง่ายจากการอักเสบเรื้อรัง หรืออาการของโรคหืดรุนแรงขึ้นหากเป็นโรคหืดอยู่ก่อนแล้ว เป็นต้น

การป้องกันอาการแพ้ไรฝุ่น

การลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ไรฝุ่นทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือได้รับไรฝุ่น รวมถึงทำความสะอาดบ้านและแหล่งที่เป็นที่อยู่ของไรฝุ่น เช่น การเปลี่ยนผ้าม่าน พรมหรือเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากผ้า เช็ดฝุ่นด้วยผ้าเปียกเท่านั้น ทำความสะอาดตุ๊กตา หมอน ผ้าห่มและผ้าปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน และควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อทำความสะอาดเพื่อป้องกันไรฝุ่นในอากาศเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น