แมงกานีส
แมงกานีส (Manganese) เป็นแร่ธาตุที่ช่วยให้ระบบประสาท สมอง หรือเอนไซม์ในร่างกายทำงานเป็นปกติ พบได้ในอาหาร เช่น ธัญพืช เมล็ดพืชที่ไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็ง ผักใบเขียว เป็นต้น โดยสามารถนำแร่ธาตุชนิดนี้มาใช้เพื่อรักษาภาวะขาดแมงกานีสได้ นอกจากนี้ อาจใช้ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ภาวะน้ำหนักตัวลดผิดปกติ ภาวะข้อเสื่อม ภาวะโลหิตจาง ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาการแผลที่ผิวหนัง หรืออาการที่เกิดก่อนมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอในการใช้แมงกานีสรักษาโรคข้างต้น จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแมงกานีสในการรักษาโรคหรือภาวะสุขภาพดังกล่าวก่อน และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับโรคของตนก่อนใช้อาหารเสริมชนิดใด ๆ เสมอ
เกี่ยวกับแมงกานีส
กลุ่มยา | อาหารเสริมแร่ธาตุ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ อาหารเสริมหรือยาที่หาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ใช้เสริมระดับแมงกานีสในร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ เด็ก |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ |
ยังไม่มีการศึกษาทดลองที่ใช้แมงกานีสในสัตว์ และยังไม่ทราบ ว่ายาทำอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ได้หรือไม่ โดยควรใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ในกรณีที่มีความจำเป็นเท่านั้น |
คำเตือนในการใช้แมงกานีส
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากแพ้แมงกานีส สาร หรือยาชนิดใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังรับประทานอยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับแมงกานีสได้
- หากกำลังให้นมบุตรหรือกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้แมงกานีส เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าแมงกานีสเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือถูกส่งผ่านทางน้ำนมได้หรือไม่
- ผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางเพราะร่างกายขาดธาตุเหล็กไม่ควรรับประทานแมงกานีสในปริมาณมาก เพราะร่างกายอาจดูดซึมแมงกานีสมากกว่าคนทั่วไป
- รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของแมงกานีสอย่างระมัดระวัง เพราะหากได้รับแมงกานีสปริมาณมากกว่า 11 มิลลิกรัม/วัน อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายได้
- ผู้ป่วยที่มีตับหรือระบบน้ำดีผิดปกติอาจมีการขับแมงกานีสออกจากร่างกายได้ลดลง แพทย์จึงอาจให้งดรับประทานแมงกานีส หรืออาจให้รับประทานแมงกานีสในปริมาณน้อยกว่าคนทั่วไป
- ห้ามฉีดแมงกานีสเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อได้
- ผู้ที่ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำอาจเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากการใช้แมงกานีสมากกว่าคนทั่วไป
- ปรึกษาแพทย์ก่อนให้เด็กรับประทานอาหารเสริมแมงกานีส
ปริมาณของการใช้แมงกานีส
ปริมาณและระยะเวลาในการรับประทานแมงกานีสอาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา หากต้องให้แมงกานีสปริมาณ 0.1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ให้ฉีดแมงกานีสเข้าหลอดเลือดดำหลังจากที่มีการเจือจางแมงกานีสแล้วเท่านั้น
ตัวอย่างปริมาณการใช้แมงกานีส
การให้แร่ธาตุแมงกานีสทดแทน
การให้แร่ธาตุแมงกานีสทดแทนแก่ร่างกายร่วมกับการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ มีดังนี้
ผู้ใหญ่ ฉีดแมงกานีสเข้าหลอดเลือดดำปริมาณ 0.15-0.8 มิลลิกรัม/วัน
เด็ก รับประทานแมงกานีสปริมาณ 2-10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับแมงกานีสชนิดน้ำในปริมาณที่น้อยกว่า 100 มิลลิลิตร รวมถึงควรมีการตรวจระดับแมงกานีสในเลือดหลังให้แมงกานีสเป็นระยะด้วย
การใช้แมงกานีส
- ใช้แมงกานีสตามฉลากและตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมถึงรับประทานแมงกานีสตามปริมาณที่แพทย์สั่ง หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์
- ใช้แมงกานีสชนิดน้ำต่อเมื่อแมงกานีสมีลักษณะเป็นน้ำใสและฝาบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
- หากต้องใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน ให้ใช้แมงกานีสอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังจากใช้ยาดังกล่าว แต่หากต้องใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีน ให้ใช้แมงกานีสก่อนใช้ยานี้ 2 ชั่วโมง หรือหลังจากใช้ยานี้ 4 ชั่วโมง เพราะหากใช้แมงกานีสพร้อมกับยาปฏิชีวนะ อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะลดลงได้
ผลข้างเคียงจากการใช้แมงกานีส
หากสูดดมแมงกานีสเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการสั่นตามร่างกายที่คล้ายกับอาการของโรคพาร์กินสัน และหากรับประทานแมงกานีสมากกว่า 11 มิลลิกรัม/วัน อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาในการขับแมงกานีสออกจากร่างกายอย่างผู้ป่วยโรคตับ อาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้แมงกานีสแม้จะรับประทานแมงกานีสในปริมาณน้อยกว่า 11 มิลลิกรัม/วัน ก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ไตมีปัญหาและได้รับการฉีดแมงกานีสเข้าร่างกายเป็นเวลานาน อาจมีปริมาณอะลูมิเนียมในร่างกายสูงจนเป็นอันตรายได้ เนื่องจากแมงกานีสชนิดฉีดอาจมีส่วนผสมของอะลูมิเนียมอยู่