แมวข่วน

ความหมาย แมวข่วน

แมวข่วน (Cat Scratch Disease) หรือไข้แมวข่วน (Cat Scratch Fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบที่ส่งผลกระทบต่อผิวหนัง เนื้อเยื่อข้างเคียง และต่อมน้ำเหลือง หรืออาจแพร่กระจายตามกระแสเลือด ซึ่งติดต่อกันได้จากการสัมผัสหรือคลุกคลีอยู่กับแมว อาจจากการถูกแมวข่วน กัดหรือเลีย แต่จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยและมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

แมวข่วน

อาการแมวข่วน
อาการแมวข่วนหรือไข้แมวข่วนจะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังจากการสัมผัสหรือคลุกคลีกับแมว แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 3-10 วัน หลังได้รับเชื้อจึงจะมีอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยอาจมีสัญญาณบ่งบอกอาการเริ่มต้น ได้แก่ มีตุ่มแดงขึ้นในบริเวณที่ถูกแมวข่วนหรือกัด อาจไม่รู้สึกเจ็บ แต่มักจะเป็นสะเก็ดและมีน้ำหนอง

หลังจากนั้นภายใน 2 สัปดาห์ แม้ว่าในขณะที่ตุ่มแดงได้หายไปแล้ว อาจพบว่ามีอาการต่อไปนี้

  • มีไข้ต่ำ
  • ปวดศีรษะ 
  • อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากอาหาร
  • ต่อมน้ำเหลืองบวม มักจะเกิดขึ้นใกล้กับบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ ตัวอย่างเช่น หากถูกแมวกัดที่แขน ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จะบวมหรือมีน้ำหนอง

นอกจากนั้น มีบางกรณีซึ่งพบได้น้อยมากที่โรคนี้จะทำให้เกิดปัญหารุนแรงจนส่งผลกระทบต่อกระดูก ข้อต่อ ดวงตา สมอง หัวใจ หรืออวัยวะอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี หรือผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

สาเหตุของแมวข่วน
สาเหตุของแมวข่วน เกิดจากการที่คนสัมผัสใกล้ชิดกับแมวที่มีเชื้อแล้วอาจถูกข่วนหรือกัด อย่างแรงจนทำให้เกิดแผลหรือผิวหนังแตกออก จนเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนั้น อาจติดเชื้อจากการถูกแมวเลียบริเวณที่บาดแผลเปิด หรือหากตาขาวโดนน้ำลายแมวก็มีโอกาสที่ทำให้ติดเชื้อได้

โดยแมวเหล่านี้จะมีเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบที่ชื่อว่า Bartonella Henselae ซึ่งประมาณ 40% ของแมวหรือลูกแมวจะมีเชื้อชนิดนี้อยู่ที่ระหว่างซอกฟันหรือใต้กรงเล็บ โดยแมวจะได้รับเชื้อชนิดนี้จากการกัดหรือข่วนหมัดที่ติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว หรือจากการต่อสู้กับแมวตัวอื่น ๆ ที่มีเชื้อ

อย่างไรก็ตาม แมวส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ตัวที่มีอาการรุนแรง อาจจะพบว่าการหายใจมีปัญหาหรือมีการติดเชื้อที่ปาก ดวงตา หรือทางเดินปัสสาวะ

การวินิจฉัยแมวข่วน
การวินิจฉัยแมวข่วน หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นแมวข่วนหรือไข้แมวข่วน แพทย์จะตรวจสอบว่าม้ามโตหรือไม่ รวมไปถึงอาการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากหากอาศัยเพียงการตรวจสอบอาการ แพทย์จะใช้วิธีที่ช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำยิ่งขึ้นด้วยการตรวจเลือดวิธี (Indirect Fluorescent Antibody: IFA) เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Bartonella Henselae นอกจากนั้น แพทย์ยังอาจวินิจฉัยโรคเพิ่มเติ่มจากการนำตัวอย่างของเนื้อเยื่อของต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย

การรักษาแมวข่วน
การรักษาแมวข่วนสำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มักจะไม่จำเป็นเพราะหายได้เอง แต่ในระหว่างที่เกิดอาการสามารถซื้อยาแก้อักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซน (Naproxen) มารับประทาน เพื่อช่วยลดอาการบวมหรืออาการเจ็บปวด หรือใช้การประคบร้อนเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ในบางรายที่มีอาการตึงหรือเจ็บปวดที่ต่อมน้ำเหลือง อาจไปพบแพทย์เพื่อเจาะระบายสารคัดหลั่งออก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันหรืออาการไม่หายไปในเวลา 2 เดือน ควรพบแพทย์เพื่อใช้ยาปฏิชีวนะรักษา ทั้งยังช่วยป้องกันเชื้อกระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ตับ กระดูก เป็นต้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะต่อไปหลายเดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของแมวข่วน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากแมวข่วนหรือไข้แมวข่วน ได้แก่

  • โรคสมองจากตับ (Encephalopathy) เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้หากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุกระจายเข้าสู่สมอง ในบางรายอาจทำให้สมองเสียหายอย่างถาวรหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ประสาทตาและจอประสาทตาอักเสบ (Neuroretinitis) ทำให้เกิดการมองเห็นที่ไม่ชัดเจนหรือการมองเห็นบกพร่อง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุเข้าสู่ดวงตา และเมื่อการติดเชื้อหายเป็นปกติดี การมองเห็นก็จะกลับมาเป็นปกติ
  • กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่กระดูกและทำให้กระดูกเกิดความเสียหาย ในบางรายที่มีความรุนแรงมากอาจจำเป็นต้องตัดส่วนที่เป็นโรคออก
  • กลุ่มอาการ Parinaud Oculoglandular Syndrome เป็นภาวะที่ดวงตาเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ และเชื้อผ่านเข้าสู่ดวงตาโดยตรง หรืออาจผ่านมาตามกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการตาแดง รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่เกิดการติดเชื้อออก แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

การป้องกันแมวข่วน

การป้องกันแมวข่วนทำได้ดังต่อไปนี้

  • หากถูกแมวข่วนหรือกัด ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ในทันที
  • หลังจากที่เล่นกับแมวเสร็จ ควรล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยเฉพาะหากมีเด็กเล็กหรือผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันบอกพร่องอาศัยอยู่ด้วย ควรระวังและดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มมีความบกพร่อง ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือเลี้ยงแมวที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี เพราะเป็นช่วงที่แมวมีโอกาสสูงในการติดเชื้อแบคทีเรีย Bartonella Henselae
  • หลีกเลี่ยงการเล่นอย่างรุนแรงกับสัตว์เลี้ยงหรือแมว เพราะอาจจะทำให้ถูกข่วนและกัดได้
  • ควรระมัดระวังอย่าให้แมวเลียถูกบาดแผลเปิด
  • ไม่ควรรับเลี้ยงหรือสัมผัสกับแมวจรจัด
  • ดูแลแมวของตนเองไม่ให้มีตัวหมัด โดยใช้ผลิตภัณฑ์ยาป้องกันหรือกำจัดหมัด รวมไปถึงใช้หวีสางหมัด
  • ควรตัดเล็บแมวให้สั้นอยู่เสมอ
  • ดูแลสุขภาพแมวด้วยการพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ หรือควรเลี้ยงแมวแบบปิด เพื่อป้องกันแมวของตนไปติดเชื้อจากแมวจรจัดหรือแมวที่มีเชื้อ
  • ดูแลที่อยู่อาศัยให้ปลอดจากหมัด ด้วยการทำความสะอาด เช่น ดูดฝุ่น หรือติดต่อตัวแทนที่ให้บริการกำจัดแมลง