โควิด-19 (COVID-19)

ความหมาย โควิด-19 (COVID-19)

โควิด-19 (COVID-19) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการได้หลายระดับ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองคล้ายกับไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และการฉีดวัคซีนสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ไม่ให้รุนแรงและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) จัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) โดยสามารถแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสูดดมหรือสัมผัสละอองของเชื้อไวรัส และเข้าสู่ร่างกายผ่านทางปาก จมูก หรือตา จึงควรระมัดระวังการแพร่กระจายและรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

โควิด-19

สาเหตุของโรคโควิด-19

โรคโควิด-19 มีสาเหตุมากจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้หลายทาง ได้แก่ การหายใจเอาเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในอากาศผ่านการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ การสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับสิ่งของต่าง ๆ ที่เคยปนเปื้อนเชื้อไวรัสมาก่อน แล้วนำมือมาสัมผัสดวงตา จมูก และปากของตนเอง

อาการของโรคโควิด-19 

อาการของโรคโควิด-19 จะแสดงออกมาภายใน 2–14 วัน หลังจากได้รับเชื้อ โดยจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่สุขภาพดีหรือได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป และสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ ในบางกรณีอาจไม่แสดงอาการได้เช่นกัน 

อาการของโรคโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงและสามารถพบได้ทั่วไป ได้แก่

  • มีไข้
  • ไอ
  • เจ็บคอ 
  • มีน้ำมูก
  • อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย
  • การรับรู้กลิ่นและรสชาติลดลง
  • อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

แต่ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน อาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง เช่น หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจลำบาก จึงควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

อาการของโรคโควิด-19 ที่ควรไปพบแพทย์

แม้ว่าอาการของโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่จะคล้ายกับไข้หวัดทั่วไปและสามารถรักษาได้ด้วยตนเองที่บ้าน แต่หากมีอาการที่รุนแรงเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการที่ควรไปพบแพทย์ ได้แก่

  • หายใจลำบาก หายใจไม่ออก
  • เจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
  • ริมฝีปาก เล็บ และผิวหนังมีสีม่วงอมฟ้า
  • เกิดความสับสน หรือมีปัญหาในการตื่นตัว

การวินิจฉัยโรคโควิด-19 

ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักประวัติเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย หรือประวัติการอยู่ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 คนอื่น นอกจากนี้ แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างเชื้อ (Swab Test) ผ่านทางน้ำลายหรือสารคัดหลั่งภายในโพรงจมูกหรือคอของผู้ป่วย เพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการณ์เพิ่มเติมด้วย

การรักษาโรคโควิด-19 

ในปัจจุบัน ยารักษาโรคโควิด-19 ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย การรักษาอาการของโรคโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นด้วยการใช้ยาที่หาซื้อได้เอง เช่น ยายาลดไข้หรือยาแก้ไอ อีกทั้ง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอและน้ำดื่มเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากอาการป่วยได้เร็ว รวมถึงแนะนำให้แยกตนเองให้ห่างจากผู้อื่นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแย่ลงควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาที่แตกต่างกันไป เช่น การให้สารน้ำเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดน้ำ การใช้ยาลดไข้ การให้ออกซิเจนบำบัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การใช้เครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยที่มีอาการหายใจลำบากหรือระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาบางชนิดที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาอาการของโรคโควิด-19 ด้วย ดังนี้

  • ยาต้านเชื้อไวรัสที่มีส่วนผสมของยาเนอร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) และยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ชื่อว่ายาแพกซ์โลวิด (Paxlovid)
  • ยาต้านเชื้อไวรัสสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
  • ยาต้านเชื้อไวรัสโลพินาเวียร์ (Lopinavir)
  • ยาต้านเชื้อไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)  

ภาวะแทรกซ้อนของโรคโควิด-19 

อาการของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น เกิดภาวะปอดบวมทั้งสองข้าง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

การป้องกันโรคโควิด-19 

การป้องกันโรคโควิด-19 ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดคือการฉีดวัคซีนโควิด-19 และการปฏิบัติตามมาตรฐานเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยมีวิธีปฏิบัติตนดังนี้

  • สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น รถโดยสารสาธารณะ หรือบริเวณที่มีผู้คนแออัด 
  • เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรืออาจใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% ทดแทน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา จมูก หรือปาก หากยังไม่ได้ล้างมือให้สะอาด  
  • ควรปิดปากและจมูกด้วยกระดาษทิชชู่ก่อนไอหรือจาม จากนั้นทิ้งลงถังขยะทันที หากไม่มีกระดาษทิชชู่ควรไอหรือจามใส่ข้อพับแขนตนเอง และควรล้างมือให้สะอาดหลังจากไอหรือจามทุกครั้ง
  • หมั่นทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านและอุปกรณ์ใด ๆ ที่มักสัมผัสหรือใช้งานเป็นประจำ เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสที่อาจปะปนอยู่บนพื้นผิวของสิ่งของดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะที่มีคนมารวมตัวเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
  • หากมีอาการของโรค เช่น ไอ มีไข้ มีน้ำมูก หรือหายใจลำบาก ควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการป้องกันตนเองจากปัจจัยภายนอกด้วยวิธีการต่าง ๆ แล้ว ทุกคนควรดูแลตนเองให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ และหมั่นออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าว