โซเดียมไบคาร์โบเนต
โซเดียมไบคาร์โบเนต (Sodium Bicarbonate) มีทั้งชนิดสารละลายที่ใช้ในโรงพยาบาลสำหรับรักษาภาวะเลือดเป็นกรดขั้นรุนแรง และชนิดเม็ดที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับช่วยลดสภาวะกรดในกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย หรือบางครั้งแพทย์อาจใช้รักษาโรคบางชนิดเพื่อปรับให้ปัสสาวะของผู้ป่วยมีสภาวะเป็นกรดน้อยลง ซึ่งในที่นี้จะเป็นการกล่าวถึงโซเดียมไบคาร์โบเนตชนิดเม็ดนี้เป็นหลัก
เกี่ยวกับยาโซเดียมไบคาร์โบเนต
กลุ่มยา | ยาลดกรด |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้ตามร้านขายยา |
สรรพคุณ | รักษาภาวะเลือดเป็นกรด ปรับปัสสาวะให้เป็นด่าง บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด สารละลาย |
คำเตือนการใช้ยาโซเดียมไบคาร์โบเนต
-
ห้ามใช้ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตชนิดเม็ดในกรณีที่มีภาวะต่อไปนี้
- มีอาการแพ้ส่วนประกอบในยาโซเดียมไบคาร์โบเนต
- ป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบหรือลำไส้อุดตัน
- ผู้ที่ต้องควบคุมอาหารด้วยการรับประทานอาหารโซเดียมต่ำ
- มีภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ภาวะปอดบวมน้ำ
- มีภาวะด่างเกินจากการหายใจ (Respiratory Alkalosis) หรือภาวะด่างเกินจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Alkalosis)
- มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะคลอไรด์ในเลือดต่ำ (Hypochlorhydria)
-
แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับโรคหรือภาวะใด ๆ ที่เผชิญอยู่ โดยเฉพาะในกรณีต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์ กำลังวางแผนมีบุตร หรือหญิงที่ต้องให้นมบุตร และหากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นระหว่างใช้ยาควรต้องปรึกษาแพทย์เช่นกัน
- มีอาการแพ้ยา อาหาร หรือสารใด ๆ
- เคยมีประวัติเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหาร
- ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว โรคตับ โรคไต ภาวะบวมน้ำ หรือมีเลือดออกทางทวารหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ
-
แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยารักษาโรค อาหารเสริม หรือสมุนไพรชนิดใดก็ตามที่กำลังใช้ เพราะยารักษาโรคบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับโซเดียมไบคาร์โบเนตได้ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยากลุ่มซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetics) เช่น ซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) หรือยาลดความอ้วน (Anorexiants) เช่น เฟนเทอร์มีน (Phentermine) ที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับยาเม็ดโซเดียมไบคาร์โบเนต
- ยาที่อาจออกฤทธิ์ได้น้อยลงเมื่อใช้ร่วมกับโซเดียมไบคาร์โบเนต ได้แก่ ยาต้านเชื้อรากลุ่มเอโซล เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ยาต้านจุลชีพกลุ่มเซฟาโลสปอริน เช่น เซฟาเลกซิน (Cephalexin) ยาลิเทียม (Lithium) หรือยากลุ่มเตตราไซคลีน เช่น ดอกซีไซคลีน (Doxycycline)
- การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ยาได้ง่าย
ปริมาณการใช้ยาโซเดียมไบคาร์โบเนต
ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตในไทยมีทั้งรูปแบบยาเม็ด (Sodamint 300 มิลลิกรัม) และสารละลายให้ทางหลอดเลือดดำ ได้แก่ 7.5% Sodiumbicarbonate Injection (0.89 มิลลิอิควิวาเลนท์/มิลลิลิตร ขนาด 10 มิลลิลิตร และ 50 มิลลิลิตร) ซึ่งการรักษาภาวะเลือดเป็นกรดในขั้นวิกฤติจะใช้เฉพาะยารูปแบบสารละลายให้ทางหลอดเลือดดำเท่านั้น
การฉีดสารละลายโซเดียมไบคาร์โบเนต
ภาวะเลือดเป็นกรดขั้นรุนแรง
ภาวะพิษต่อหัวใจ (Cardiotoxicity) จากยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium Channel Blocker) ให้สารละลายทางหลอดเลือดดำพร้อมกันทีเดียว 1-2 มิลลิอิควิวาเลนท์/กิโลกรัม ในเวลา 1-2 นาที แล้วติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากภายใน 5 นาทียังผิดปกติอยู่ สามารถให้ซ้ำได้ โดยให้ค่า pH ของสารอยู่ที่ 7.45-7.55
ปรับปัสสาวะให้เป็นด่าง ผสมโซเดียมไบคาร์โบเนต 7.5% 150 มิลลิลิตร ในสารละลายน้ำตาลเด็กซ์โตสความเข้มข้น 5% 1000 มิลลิลิตร หยดทางหลอดเลือดดำในอัตรา 2-3 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/ชั่วโมง (อาจให้ช้าลงในรายผู้สูงอายุ ผู้ป่วย โรคหัวใจและผู้ป่วยโรคไต) ติดตามค่า pH ของปัสสาวะให้อยู่ในระดับ 7.5-8 และระวังภาวะด่างในเลือด คงค่า pH ของสารไม่ให้ เกิน 7.55 โดยเฝ้าระวังให้โปแตสเซียมในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตชนิดเม็ด
ภาวะเลือดเป็นกรดเรื้อรัง
ผู้ใหญ่ ให้ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตวันละ 4.8 กรัม หรือมากกว่านี้หากจำเป็น
ผู้สูงอายุ อาจต้องมีการปรับปริมาณยา
ปรับปัสสาวะให้เป็นด่าง
ผู้ใหญ่ สำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์เรื้อรัง รับประทานยานี้เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไตจากการมีกรดยูริกในปัสสาวะสูง วันละ 10 กรัม โดยแบ่งปริมาณรับประทานและดื่มน้ำตาม
ผู้สูงอายุ อาจต้องมีการปรับปริมาณยา
อาการอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)
ผู้ใหญ่ รับประทาน 1-5 กรัมโดยละลายในน้ำ เมื่อมีอาการ
ผู้สูงอายุ อาจต้องมีการปรับปริมาณยา
การใช้ยาโซเดียมไบคาร์โบเนต
- ยานี้ควรใช้ตามคำสั่งของแพทย์และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้ยาอย่างเคร่งครัด
- สอบถามแพทย์หากมีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับวิธีใช้ยา
- ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตชนิดเม็ดอาจรับประทานพร้อมมื้ออาหารหรือระหว่างมื้ออาหารก็ได้
- ยานี้เมื่อลืมรับประทานเป็นเวลานานตั้งแต่ 1 วันขึ้นไปจะไม่มีผลลัพธ์ใด ๆ ต้องกังวล แต่หากแพทย์แนะนำให้รับประทานยานี้ ควรรับประทานเป็นประจำทุกวันตามกำหนด
- หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หรือแย่ลง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตจะใช้ฉีดให้ผู้ป่วยโดยแพทย์หรือพยาบาลในโรงพยาบาลเท่านั้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโซเดียมไบคาร์โบเนต
ยาโซเดียมไบคาร์โบเนตชนิดเม็ดมีผลข้างเคียงที่อาจพบได้คือ ภาวะเกลือโซเดียมต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาการปวดบีบท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ผายลม และเกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณแผลฉีดยา นอกจากนี้ หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้ ควรต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- อาการแพ้ยาอย่างรุนแรง ได้แก่ มีผื่น ลมพิษ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ปาก ริมฝีปาก หรือลิ้น
- ปวดศีรษะ
- อุจจาระมีสีดำหรือสีเหมือนยางมะตอย
- กระสับกระส่าย
- อ่อนแรง
- กล้ามเนื้อเกร็งตัว
- คลื่นไส้ อาเจียน
อย่างไรก็ตาม อาการข้างต้นยังไม่ใช่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด หากพบผลข้างเคียงอื่น ๆ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้นควรขอคำแนะนำจากแพทย์