โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)

โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)

Tocilizumab (โทซิลิซูแมบ) เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสารก่อการอักเสบ อย่างสาร Interleukin–6 เพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการบวม

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยานี้เพื่อรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ชะลอการเสื่อมสภาพของปอดจากโรคบางชนิด โรคหลอดเลือดขมับอักเสบ กลุ่มอาการจากการหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine Release Syndrome) ขั้นรุนแรง หรือโรคโควิด-19

โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)

เกี่ยวกับยา Tocilizumab

กลุ่มยา โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ บรรเทาอาการปวดและอาการบวมจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Tocilizumab

คำเตือนในการใช้ยา Tocilizumab 

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ โดยเฉพาะยา Tocilizumab รวมถึงหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ชนิดอื่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดระดับคอเลสเตอรอล ยาต้านการอักเสบ ยารักษาโรคทางอารมณ์ ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคหืด ยารักษาโรคภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคชัก หรือยาคุมกำเนิด 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Tocilizumab หากกำลังป่วยหรือมีประวัติการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติ เช่น โรคตับ อาการติดเชื้อ โรคทางระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดต่ำ โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคเบาหวาน โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคมะเร็ง วัณโรค รวมไปถึงหากมีประวัติการเดินทางไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากผู้ป่วยกำลังอยู่ในช่วงรักษาการติดเชื้อขั้นรุนแรง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี วัณโรค ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือเอดส์ 
  • การใช้ยา Tocilizumab อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ยา Tocilizumab อาจส่งผลกระทบต่อตับของผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีเข้ม ผิวเหลือง หรือตาเหลือง
  • การใช้ยา Tocilizumab อาจส่งผลให้เกิดรูในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้อง หรือมีอาการผิดปกติในการขับถ่าย
  • ระหว่างใช้ยา Tocilizumab ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยควรล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่เพิ่งฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นมา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 
  • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการผิดปกติที่เป็นสัญญาณการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้น หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย ไอ หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย น้ำหนักลดผิดปกติ ปัสสาวะแสบขัด หรือไอปนเลือด   
  • ในระหว่างใช้ยา Tocilizumab แพทย์อาจนัดผู้ป่วยตรวจเลือดเป็นระยะเพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ และการตอบสนองต่อยา ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Tocilizumab หากเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีน หรือมีแผนจะฉีดวัคซีน
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ทั้งชนิดรับประทาน แผ่นแปะผิวหนัง และวงแหวนคุมกำเนิด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ เนื่องจากยา Tocilizumab อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Tocilizumab หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลกระทบต่อวัคซีนบางชนิดที่ฉีดให้เด็กในช่วงแรกเกิดได้
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน หากกำลังใช้ยา Tocilizumab
  • ยา Tocilizumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการง่วงซึมได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยา Tocilizumab

ปริมาณการใช้ยา Tocilizumab

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับอายุ ความรุนแรงของโรค น้ำหนักตัว ความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ตัวอย่างการใช้ยา Tocilizumab เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 

ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

  • ผู้ใหญ่ แพทย์อาจใช้ยา Tocilizumab เพียงชนิดเดียวหรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาต้านรูมาติกชนิดอื่น โดยแพทย์จะให้ยาผ่านสายน้ำเกลืออย่างช้า ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ในปริมาณครั้งละ 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4 สัปดาห์ หรืออาจเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4 สัปดาห์ แต่จะจำกัดปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน 
  • เด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Systemic Juvenile Idiopathic Arthritis) แพทย์จะให้ยาผ่านสายน้ำเกลืออย่างช้า ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 30 กิโลกรัม แพทย์จะให้ยาในปริมาณครั้งละ 12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 2 สัปดาห์ และเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป แพทย์จะให้ยาในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 2 สัปดาห์

สำหรับการรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ชนิดหลายข้อในเด็ก (Juvenile Idiopathic Polyarthritis) แพทย์จะให้ยาผ่านสายน้ำเกลืออย่างช้า ๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 30 กิโลกรัม แพทย์จะให้ยาในปริมาณครั้งละ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไป แพทย์จะให้ยาในปริมาณ 8 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 4 สัปดาห์

ยาฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง

  • ผู้ใหญ่ แพทย์อาจใช้ยา Tocilizumab เพียงชนิดเดียว หรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาต้านรูมาติกชนิดอื่น โดยแพทย์จะฉีดยาครั้งละ 162 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง 

การใช้ยา Tocilizumab

ยา Tocilizumab เป็นยาที่ต้องฉีดโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และแพทย์จะนัดตรวจเป็นระยะ ๆ ระหว่างใช้ยาเพื่อติดตามอาการและการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ โดยปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา หากผู้ป่วยลืมไปพบแพทย์ตามนัด ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tocilizumab

ผู้ที่ใช้ยา Tocilizumab อาจพบผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย แขนขาบวม ไอ คัดจมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เกิดแผลในช่องปาก คันตา ตาแดง ผื่นขึ้น หรือปวดและบวมบริเวณที่ฉีดยา เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรงหลังจากใช้ยา เช่น

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น เวียนศีรษะขั้นรุนแรง หายใจลำบาก หรือใบหน้า ลิ้น คอเกิดอาการบวมหรือคัน
  • ไอเรื้อรัง
  • ไข้ขึ้น
  • น้ำหนักลดผิดปกติ 
  • อาการปวดท้องรุนแรงขึ้น
  • ระบบขับถ่ายมีปัญหา
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น หรือรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • เกิดรอยฟกช้ำ
  • มีอาการที่เป็นสัญญาณของวัณโรค เช่น ไอ หายใจไม่อิ่ม เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลดผิดปกติ หรืออ่อนเพลีย 
  • มีอาการของการติดเชื้อ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ไข้ขึ้น หนาวสั่น ไอ หรือเกิดแผลพุพองบริเวณปากและผิวหนัง 
  • มีอาการที่เป็นสัญญาณของโรคตับที่รุนแรง เช่น คลื่นไส้เรื้อรัง อาเจียนเรื้อรัง เบื่ออาหาร ผิวเหลือง ตาเหลือง อุจจาระสีเทา หรือปัสสาวะมีสีเข้ม 
  • มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกบริเวณเหงือก มีเลือดออกมาจากบริเวณช่องคลอด ปัสสาวะปนเลือด อุจจาระปนเลือด ไอปนเลือด หรืออาเจียนเป็นสีดำเข้ม