โทฟาซิทินิบ (Tofacitinib)

โทฟาซิทินิบ (Tofacitinib)

Tofacitinib (โทฟาซิทินิบ) เป็นยารักษาโรคในกลุ่มโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ขั้นรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด (Ankylosing Spondylitis) โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอื่น อย่างยาเมโทรเทรกเสท (Methotrexate)

โดยยา Tofacitinib จะช่วยชะลออาการของโรค บรรเทาอาการปวดและบวมตามข้อ นอกจากนี้ ยังอาจใช้รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) หรือภาวะอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์

โทฟาซิทินิบ (Tofacitinib)

เกี่ยวกับยา Tofacitinib

กลุ่มยา ยากลุ่มเจเอเคอินฮิบิเตอร์ (Janus Kinase inhibitors: JAK)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคในกลุ่มโรคข้ออักเสบโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ 
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ยาชนิดนี้อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในระหว่างการใช้ยาและในอนาคต ทั้งนี้ ห้ามให้นมบุตรในระหว่างใช้ยาและหลังการใช้ยาครั้งสุดท้ายภายในเวลาประมาณ 18 ชั่วโมง หรือ 36 ชั่วโมงในกรณีที่รับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นาน

คำเตือนในการใช้ยา Tofacitinib

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา Tofacitinib ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งแพทย์และเภสัชกรเกี่ยวกับอาการแพ้ยา ทั้งจากยาชนิดนี้ ยาและสารอื่น ๆ โดยผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับส่วนประกอบของยา Tofacitinib ก่อนการใช้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาแอสไพริน ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort)
  • ยา Tofacitinib อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายภายหลัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงโรคหรืออาการใด ๆ ที่ผู้ป่วยกำลังเป็นหรือเคยเป็น โดยเฉพาะภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ความผิดปกติของไขกระดูกหรือเม็ดเลือด โรคมะเร็ง ภาวะคอเรสเตอรอลสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคปอด โรคตับ โรคไต ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคงูสวัด วัณโรค โรคเอชไอวี
  • ก่อนรับการรักษาทางทันตกรรมหรือการผ่าตัดใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดซึ่งรวมถึงยา Tofacitinib วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่
  • ห้ามใช้ยา Tofacitinib ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังวางแผนตั้งครรภ์ สงสัยว่าตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ เนื่องจากยา Tofacitinib อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิง และผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดนี้ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่เหมาะสม
  • ผู้ป่วยมักจะต้องทดสอบวัณโรคก่อนเริ่มใช้ยา และแจ้งให้แพทย์ทราบหากสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ที่ใกล้ชิดมีผลการทดสอบวัณโรคทางผิวหนัง (Tuberculin Skin Tests) เป็นบวก
  • การใช้ยา Tofacitinib อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จึงควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากสงสัยว่าตนเองมีอาการของการติดเชื้อ เช่น หนาวสั่น มีไข้ เสียงแหบ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดหลังช่วงล่าง
  • ผู้ป่วยไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยการนำเชื้อโรคมาทำให้มีฤทธิ์น้อยลงจนไม่ก่อโรคแต่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ และไม่ควรใกล้ชิดกับผู้ที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อมาสู่ตนเอง

ปริมาณการใช้ยา Tofacitinib

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Tofacitinib ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด  

ตัวอย่างการใช้ยา Tofacitinib เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบชนิดติดยึด

  • ผู้ใหญ่ ยาชนิดออกฤทธิ์เร็วให้รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม 2ครั้ง/วัน หรือยาชนิดออกฤทธิ์ช้า ให้รับประทานยาปริมาณ 11 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน โดยอาจรับประทานร่วมกับยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาในกลุ่ม DMARDs แบบสังเคราะห์ตามคำสั่งแพทย์

โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

ตัวอย่างการใช้ยา Tofacitinib เพื่อรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ

  • ผู้ใหญ่ ยาชนิดออกฤทธิ์เร็วให้รับประทานยาปริมาณ 10 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วันร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ ตามคำสั่งแพทย์ เป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 16 สัปดาห์ และควรมีการปรับปริมาณยาเหลือ 5 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน หากรับประทานยาชนิดออกฤทธิ์ช้า ให้รับประทานยาปริมาณ 22 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ก่อนจะปรับปริมาณยาเป็น 11 มิลลิกรัม 1 ครั้ง/วัน

โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดข้ออักเสบมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ข้อขึ้นไป (polyarticular course Juvenile Idiopathic Arthritis: pcJIA)

ตัวอย่างการใช้ยา Tofacitinib เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดข้ออักเสบมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ข้อขึ้นไป  ตัวอย่างการใช้ยาในเด็กอายุ 2–17 ปี มีดังนี้

  • น้ำหนักตัว 10–20 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 3.2 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน
  • น้ำหนักตัว 20–40 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 4 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน
  • น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม รับประทานยาปริมาณ 5 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Tofacitinib

วิธีการใช้ยา Tofacitinib อย่างปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา
  • ห้ามเริ่ม หยุด หรือเพิ่มปริมาณการใช้ยาด้วยตนเอง
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้
  • ผู้ป่วยที่รับประทานยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์ทันทีแล้วมีปัญหาในการกลืนยา สามารถบดยาและชงผสมน้ำครึ่งแก้วดื่มได้ แต่หากรับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นาน จะต้องกลืนยาทั้งเม็ดโดยห้ามหัก เคี้ยวหรือบดยาโดยเด็ดขาด
  • หากรับประทานยา Tofacitinib ชนิดยาน้ำ ควรใช้ช้อนตวงยาเพื่อให้ได้ปริมาณตรงตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรใช้ยาหลังเปิดขวดไปแล้วเป็นเวลา 60 วัน ให้ทิ้งยาขวดนั้นแม้จะยังมียาเหลืออยู่และใช้ยาขวดใหม่แทน
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพตามแพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการใช้ยา Tofacitinib อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในระหว่างใช้ยา
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ ห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
  • กรณีที่ใช้ยาเกินขนาดและมีอาการหายใจไม่ออกหรือหมดสติ ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด รวมทั้งให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tofacitinib

ยา Tofacitinib อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ท้องเสีย รวมถึงมีอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ คัดจมูก จาม หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือทวีความรุนแรงขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ

แม้ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Tofacitinib ที่รุนแรงจะพบได้น้อย แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เช่น

  • มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน ลมพิษ หายใจลำบาก กลืนลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
  • มีอาการของโรคงูสวัด โดยมักเกิดผื่น รู้สึกปวด แสบ รู้สึกแปล๊บ ๆ มีอาการคล้ายเป็นหวัด ไอ จาม น้ำมูกไหล
  • ไออย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้อง พร้อมกับมีไข้และท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ผิวซีด
  • มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งบางชนิด เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ เกิดก้อนบวมในบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ ผิวหรือตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แผลหายช้า อุจจาระมีลักษณะคล้ายยางมะตอย เนื่องจากยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
  • มีสัญญาณของโรคตับอักเสบ เช่น ปวดท้อง เบื่ออาหาร เกิดภาวะดีซ่าน ปัสสาวะเป็นสีเข้มหรืออุจจาระมีสีซีดจาง
  • มีอาการของภาวะติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียผิดปกติ เนื่องจากตัวยาอาจทำให้ร่างกายต้านการติดเชื้อได้น้อยลง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็วที่สุด หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม มีเหงื่อออกมาก ปากตกข้างใดข้างหนึ่ง ลิ้นแข็ง หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก และลุกลามไปยังขากรรไกร แขน ไหล่หรือหลัง คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก แขนหรือขาบวมและปวด