ความหมาย โนโรไวรัส
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นโรคติดเชื้อจากโนโรไวรัสที่มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม และภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ส่งผลให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ มีไข้ต่ำ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นและหายได้เอง อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรือถ่ายเหลวติดต่อกันเกิน 2-3 วันควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำได้
อาการของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เองใน 1-3 วัน อาการโดยทั่วไปของการติดเชื้อโนโรไวรัส ได้แก่
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- อุจจาระมีเลือดปน
- ทารกหรือเด็กที่ถ่ายเหลวมากกว่า 5 ครั้ง หรืออาเจียนมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน
- มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ตาโหล อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ รู้สึกมึนงง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม ทารกที่มีภาวะขาดน้ำอาจไม่ปัสสาวะเลยใน 6-8 ชั่วโมง ส่วนเด็กอาจไม่ปัสสาวะเลยใน 12 ชั่วโมง ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา รวมทั้งอาจแสดงอารมณ์หงุดหงิดหรือไม่พอใจ
- ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวชนิดรุนแรง เช่น โรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่วมกับมีอาการท้องเสียและอาเจียน
- อาการป่วยไม่ดีขึ้นใน 2-3 วัน
สาเหตุการติดเชื้อโนโรไวรัส
เชื้อโนโรไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากการได้รับเชื้อแม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ อีกทั้งไวรัสชนิดนี้มีระยะฟักตัวสั้นและทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นาน นอกจากนี้ เชื้อจะยังคงอาศัยอยู่ในร่างกายต่อไปได้อย่างน้อย 2 อาทิตย์หลังจากที่อาการหายดีแล้ว ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโนโรไวรัส มีดังนี้
- การรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือใช้ภาชนะใส่อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาดหรือปรุงไม่สุก
- การนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก
- การสัมผัสใกล้ชิดหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
การวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัสนั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย หากผู้ป่วยมีอาการใกล้เคียงและเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบรุนแรงจากการติดเชื้อชนิดนี้ เช่น มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีโรคประจำตัว แพทย์อาจเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น Real-Time PCR หรือการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
การรักษาโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
ปัจจุบันโรคติดเชื้อโนโรไวรัสไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลงตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่โออาร์เอสเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายหรืออาเจียน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่อาจดื่มน้ำด้วยตนเอง แพทย์จะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด
- รับประทานอาหารรสอ่อน เช่น ข้าวต้ม แกงจืด เป็นต้น และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
- รับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อมีไข้หรือรู้สึกปวด และพักผ่อนให้มาก ๆ
- ผู้ใหญ่อาจรับประทานยาแก้ท้องเสียหรือยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
โดยปกติ ผู้ติดเชื้อโนโรไวรัสมักมีอาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำหรือภาวะทุพโภชนาการ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้มีปัญหาสุขภาพ และผู้ที่เคยปลูกถ่ายสเตมเซลล์หรือเคยปลูกถ่ายอวัยวะ หากเป็นโรคนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคติดเชื้อโรโนไวรัส
การติดเชื้อโนโรไวรัสไม่อาจป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ทำได้คือการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แปรงสีฟัน เป็นต้น
- กดชักโครกและชำระล้างร่างกายให้สะอาดทุกครั้งหลังขับถ่ายของเหลว เช่น อุจจาระ คราบอาเจียน เป็นต้น
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังใช้ห้องน้ำ หลังดูแลผู้ติดเชื้อโนโรไวรัส ก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนเตรียมอาหาร ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์แทนสบู่ เพราะไม่อาจกำจัดเชื้อไวรัสได้
- หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัดและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน โรงพยาบาล อย่างน้อย 2 วันหลังจากไม่มีอาการป่วยแสดงให้เห็นแล้ว
- ผู้ดูแลควรสวมถุงมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ หรืออาเจียน และทิ้งขยะที่มีสารคัดหลั่งปะปนในถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิด โดยแยกจากขยะชนิดอื่น ๆ
- ซักเสื้อผ้าและเครื่องนอนที่อาจมีเชื้อไสรัสปะปนด้วยน้ำร้อน เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อถูกกำจัดจนหมด