โพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium Iodide)
โพแทสเซียมไอโอไดด์ (Potassium Iodide) เป็นยาที่แพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมสารกัมมันตรังสีรังสีไอโอดีนของต่อมไทรอยด์เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์ระหว่างการรักษา
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้ในการรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ใช้ขับเสมหะในระบบทางเดินหายใจเพื่อบรรเทาอาการไอหรืออาการหายใจลำบากที่เป็นผลมาจากโรคบางชนิด หรือใช้ลดขนาดต่อมไทรอยด์และปริมาณการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดนำต่อมไทรอยด์ออก อย่างผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ โดยการใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านไทรอยด์ เป็นต้น
เกี่ยวกับยาโพแทสเซียมไอโอไดด์
กลุ่มยา | ยาต้านไทรอยด์ ยาขับเสมหะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ป้องกันสารกัมมันตรังสีไอโอดีน ขับเสมหะในระบบทางเดินหายใจ ลดขนาดต่อมไทรอยด์และปริมาณการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ดและยาน้ำ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ |
คำเตือนในการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติแพ้ยานี้ สารไอโอดีน และยาชนิดอื่น รวมถึงหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยาต้านไทรอยด์ ยาที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียม ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคทางอารมณ์ ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังป่วยเป็นโรคไต โรคหัวใจ วัณโรค โรคผิดปกติทางกล้ามเนื้อชนิด Myotonia Congenita โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ตะคริวแดด มีภาวะขาดน้ำ มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมหมวกไต กำลังอยู่ในช่วงการรักษาโรคไทรอยด์ หรือมีอาการทางผิวหนังชนิด Dermatitis Herpetiformis เช่น มีอาการคัน มีแผลพุพอง ผื่นขึ้น ผิวหนังแสบร้อน บริเวณข้อศอก หัวเข่า หนังศีรษะ และสะโพก
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน ไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 1 วัน หากไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาอาจส่งผลให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หรืออาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางสมองของเด็กได้
- กรณีที่ผู้ป่วยเป็นเด็ก การใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ควรใช้เมื่อเด็กได้รับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน หรือต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ขณะใช้ยานี้ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อให้แพทย์ตรวจการทำงานต่อมไทรอยด์อย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการผิดปกติบางอย่างหลังใช้ยา เช่น ผื่นขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวเหลือง ทารกไม่ดื่มนม หรือทารกร้องไห้มากผิดปกติ
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ป้องกันสารกัมมันตรังสีไอโอดีน
ตัวอย่างการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์เพื่อป้องกันการดูดซึมสารกัมมันตรังสีไอโอดีน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 130 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 10–14 วัน หรือรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 16.25 มิลลิกรัม
เด็กที่อายุระหว่าง 1 เดือน–3 ปี รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 32.5 มิลลิกรัม
เด็กที่อายุระหว่าง 3–12 ปี รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 65 มิลลิกรัม
เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 68 กิโลกรัม รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 65 มิลลิกรัม
เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปี ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 68 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 130 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 10–14 วัน หรือรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์
รักษาอาการไอ
ตัวอย่างการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์เพื่อรักษาอาการไอ
ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาชนิดน้ำ วันละ 3 หรือ 4 ครั้ง ครั้งละ 300 หรือ 600 มิลลิกรัม
การใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์
ผู้ป่วยที่รับประทานยาโพแทสเซียมไอโอไดด์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่รับประทานยาชนิดน้ำ ให้ใช้อุปกรณ์สำหรับตวงยาโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการรับประทานยาเกินขนาด
สำหรับผู้ที่รับประทานยาชนิดน้ำ หากรับประทานยาแล้วรู้สึกระคายเคืองในท้อง ให้รับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหาร หรืออาจรับประทานยาโดยนำยาไปผสมกับน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น นมสูตรไขมันต่ำ หรือน้ำผลไม้ นอกจากนี้ ให้หลีกเลี่ยงการเอนตัวนอนหลังจากรับประทานยาอย่างน้อย 10 นาที
ผู้ป่วยอาจเลือกรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวันเพื่อจดจำเวลาและป้องกันการลืมรับประทานยา ในกรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลารับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า รวมถึงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ
สำหรับการเก็บรักษายา ให้เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิม โดยเก็บในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น หากเก็บยาไว้ในที่เย็น ให้เขย่าขวดหรือนำยาไว้ในอุณหภูมิห้องก่อนรับประทานเนื่องจากยาอาจตกตะกอนได้ และควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก นอกจากนี้ ควรดูวันหมดอายุบนฉลากยาก่อนใช้ยาทุกครั้ง หากพบว่ายาเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลหรือสีเหลือง ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาและแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเพื่อขอเปลี่ยนยา
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์
การใช้ยาโพแทสเซียมไอโอไดด์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีรสโลหะในปาก ไข้ขึ้น ผื่นขึ้น สิวขึ้น หรืออาการบวมบริเวณปากและคอ ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรงหลังจากใช้ยา เช่น
- อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น รู้สึกคันหรือมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น คอ เวียนศีรษะขั้นรุนแรง หายใจลำบาก กลืนอาหารลำบาก ไข้ขึ้น ปวดตามข้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม หายใจมีเสียงหวีด
- รู้สึกแสบร้อนบริเวณปากและลำคอ
- ปวดบริเวณเหงือกและฟัน
- เกิดอาการบวมภายในช่องปาก เกิดอาการบวมบริเวณคอด้านหน้า
- ปริมาณน้ำลายเยอะผิดปกติ
- รู้สึกคันหรือบวมบริเวณเปลือกตา
- ปวดศีรษะขั้นรุนแรง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เจ็บหน้าอก
- น้ำหนักเพิ่ม
- หนาวง่าย
- อ่อนเพลียผิดปกติ
- สับสน
- มือและเท้ารู้สึกชา ปวด เหมือนมีเข็มทิ่ม หรืออ่อนแรง
- อาเจียนเป็นสีดำ
- ท้องผูก
- อุจจาระมีสีดำ หรืออุจจาระปนเลือด