โรคขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder)

ความหมาย โรคขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder)

โรคขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder) เป็นผลมาจากการที่ร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยและอาจทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีอาการของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำหรืออาการคอพอก ในเด็กอาจมีภาวะตัวเตี้ย แคระแกร็น หรือมีสติปัญญาพัฒนาช้า

โรคขาดสารไอโอดีนอาจพบได้ในคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารที่มีไอโอดีนอย่างเพียงพอ คนที่กำลังตั้งครรภ์ หรือคนที่ป่วยด้วยโรคประจำตัวบางโรค ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีความผิดปกติทางร่างกายแสดงออกมาอย่างชัดเจน ในกรณีที่เกิดกับเด็กอาจส่งผลต่อสติปัญญา หูหนวก เป็นใบ้ หรือกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว

โรคขาดสารไอโอดีน (Iodine Deficiency Disorder)

อาการของโรคขาดสารไอโอดีน 

อาการของโรคขาดสารไอโอดีนจะขึ้นอยู่กับวัย ความรุนแรงและระยะเวลาของการขาดสารไอโอดีน ผู้ป่วยมักจะมีอาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์บริเวณคอของผู้ป่วยจะขยายใหญ่ขึ้น และหากใหญ่มากอาจส่งผลให้รู้สึกแน่นภายในลำคอ เสียงแหบ ไอ กลืนหรือหายใจลำบาก หรือมีอาการอื่น ๆ ดังนี้

  • ผู้ป่วยวัยทารก เด็กและวัยรุ่น ที่ขาดไอโอดีนจะมีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ โดยอาจมีอาการลิ้นและหน้าบวม ท้องผูก กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก ง่วงซึม มีภาวะเจริญเติบโตและเข้าสู่วัยรุ่นช้า มีปัญหาด้านการรับรู้ เช่น เกิดภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ไอคิวต่ำ และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยวัยอื่นอาจมีอาการหน้าบวม ผมบาง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวแห้ง น้ำหนักมากขึ้น ทนต่ออากาศเย็นได้น้อย ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น หัวใจเต้นช้า และท้องผูก ซึ่งเป็นอาการของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำเช่นกัน
  • ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ ภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด ทารกตายในครรภ์หรือแท้ง

นอกจากนี้ โรคขาดสารไอโอดีนยังอาจนำไปสู่ภาวะมิกซีดีมา (Myxedema) ซึ่งเป็นผลจากการป่วยด้วยภาวะไทรอยด์ขั้นร้ายแรง ผู้ป่วยจะไวต่ออากาศหนาวอย่างรุนแรง ง่วงซึมหรือมึนงงอย่างรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากสังเกตเห็นว่าตนเองหรือผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย

สาเหตุของโรคขาดสารไอโอดีน 

โรคขาดสารไอโอดีนมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายไม่ได้รับสารไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ตามปกติ โดยพบได้ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่ควบคุมอาหารหรือเลี่ยงการกินอาหารบางชนิดอย่าง อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนมหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือบริโภคและธัญพืช

ในบางกรณี โรคขาดสารไอโอดีนอาจพบได้ในคนที่รับประทานไอโอดีนต่ำร่วมกับอาหารที่มีสารกอยโตรเจน (Goitrogens) มากเกินไป อาทิ ถั่วเหลือง บร็อคโคลี ดอกกะหล่ำ หรือกะหล่ำปลี โดยสารนี้จะไปขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้ อาจพบในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจที่ต้องลดการรับประทานเกลือด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไป คนในแต่ละช่วงวัยจะมีปริมาณความต้องการไอโอดีนที่แตกต่างกัน ในวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ควรได้รับไอโอดีนประมาณ 90 ไมโครกรัมต่อวัน เด็กวัย 6–12 ปี ควรได้รับไอโอดีนประมาณ 120 ไมโครกรัมต่อวัน วัยรุ่นและผู้ใหญ่ควรได้รับไอโอดีนประมาณ 150 ไมโครกรัมต่อวัน และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรได้รับไอโอดีนประมาณ 250 ไมโครกรัมต่อวัน

การวินิจฉัยโรคขาดสารไอโอดีน 

แพทย์จะตรวจและวินิจฉัยโรคขาดสารไอโอดีนจากการตรวจวัดระดับไอโอดีนในร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • การตรวจวัดระดับไอโอดีนที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ การตรวจปัสสาวะแบบปกติและการตรวจปัสสาวะแบบ 24 ชั่วโมง แต่วิธีการตรวจปัสสาวะแบบปกติมีความแม่นยำน้อยกว่าการตรวจปัสสาวะแบบ 24 ชั่วโมง และวิธีการตรวจอื่น ๆ 
  • การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับไอโอดีนในร่างกาย และตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคขาดสารไอโอดีน เป็นวิธีที่แสดงผลได้อย่างแม่นยำ

การรักษาโรคขาดสารไอโอดีน  

แพทย์จะรักษาโรคขาดสารไอโอดีนตามความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ในขั้นแรกอาจเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีปริมาณไอโอดีนที่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น สาหร่าย ปลา กุ้ง อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน 

หากเป็นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์อาจรับประทานไอโอดีนในรูปแบบยาเม็ดตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ไม่ควรรับประทานไอโอดีนในรูปแบบดังกล่าวเกินกว่า 150 ไมโครกรัมต่อวัน เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายได้รับไอโอดีนในปริมาณที่มากเกินไปและเป็นอันตรายต่อต่อมไทรอยด์ได้ ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปริมาณไอโอดีน ควรปรึกษาแพทย์

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะมิกซีดีมา ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำและรักษาภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำไปพร้อม ๆ กัน 

ในกรณีที่เด็กขาดสารไอโอดีนหรือมีอาการที่รุนแรงนั้น อาจส่งผลให้สมองถูกทำลายอย่างถาวรและทารกที่คลาดจากแม่ที่มีโรคขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงขณะตั้งครรภ์อาจมีสติปัญญาทึบ หูหนวก เป็นใบ พิการทางประสาทและกล้ามเนื้ออย่างถาวร ซึ่งเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคขาดสารไอโอดีน 

ผู้ที่ป่วยด้วยโรคขาดสารไอโอดีนแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ ภาวะหัวใจโตหรือภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะปลายประสาทอักเสบ ภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง 

นอกจากนี้ หากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เป็นโรคขาดสารไอโอดีน อาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด ทารกพิการแต่กำเนิด ภาวะแท้งหรือทารกตายในครรภ์

การป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน 

โรคขาดสารไอโอดีนป้องกันได้ด้วยรับประทานอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารที่มีไอโอดีน อย่างอาหารทะเล สาหร่ายทะเล โยเกิร์ต อาหารที่ใส่เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน และหากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคนี้ อาจรับประทานไอโอดีนในรูปแบบยาหรืออาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ร่างกายได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอและเหมาะสม