ความหมาย โรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) คือโรคที่ถูกค้นพบโดยกุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น โทมิซากุ คาวาซากิ เป็นโรคที่พบมากในเด็กเล็กและทารก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ในประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักมีไข้สูง ผื่นคัน มือหรือเท้าบวม ผิวหนังลอกที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า ปากแห้ง มีการอักเสบที่ปากและลำคอ ตุ่มขึ้นที่ลิ้นคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่ รวมถึงต่อมน้ำเหลืองบวม ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมและทันเวลา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
อาการของโรคคาวาซากิ
โรคคาวาซากิจะมีระยะเวลาในการแสดงอาการประมาณ 6 สัปดาห์ แบ่งได้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน ระยะกึ่งเฉียบพลัน และระยะพักฟื้น โดยมีรายละเอียดและอาการดังต่อไปนี้
-
ระยะเฉียบพลัน (Acute Phase) ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 จะเกิดอาการขึ้นได้อย่างกะทันหันและอาจมีอาการที่รุนแรงได้ เช่น
- มีไข้สูง อาการแรกที่พบคือมีไข้สูงระหว่าง 38-40 องศาเซลเซียส โดยปกติผู้ป่วยจะเป็นไข้อย่างน้อยประมาณ 5 วัน หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้เป็นไข้นานประมาณ 11 วัน และในบางรายอาจเป็นไข้นานถึง 3-4 สัปดาห์ อาจมีไข้สูงเป็น ๆ หาย ๆ และไข้ขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ตอบสนองต่อยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดไข้ไอบูโปรเฟน (Ibuporfen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
- ผื่นแดงคัน เป็นจุด มักเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศและกระจายไปยังลำตัวและใบหน้า
- มือและเท้าบวม แดง หรือเจ็บเมื่อมีการลงน้ำหนัก ทำให้เกิดความลำบากในการเดินหรือคลาน และอาจมีผิวหนังลอกที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าตามมา
- ตาบวมแดง โดยไม่มีขี้ตาทั้งสองข้าง
- ริมฝีปากแดงแห้ง แตก บวม และลอก อาจมีอาการอักเสบภายในปากและลำคอ รวมถึงลิ้นเป็นตุ่มแดงบวมคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Tongue)
- ต่อมน้ำเหลืองโต ที่ลำคอ คลำได้ อาจพบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง รู้สึกตึง เจ็บ และอาจบวมขึ้นจนมีขนาดใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตร
- ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ระยะกึ่งเฉียบพลัน (Subacute Phase) ในช่วงสัปดาห์ที่ 2-4 ไข้สูงและอาการต่าง ๆ จะเริ่มลดความรุนแรงลง รวมถึงอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ผิวลอกที่บริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้าปวดศีรษะ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ง่วงซึมหรือหมดแรง ปวดตามข้อหรือข้อบวม มีหนองในปัสสาวะ ผิวหรือตาเหลือง เป็นต้น ในระยะนี้จะง่ายต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น หลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่โป่งพอง (Coronary Artery Aneurysm) พบได้ค่อนข้างน้อยแต่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
- ระยะพักฟื้น (Convalescent Phase) ในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 ผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้น แต่จะยังคงรู้สึกอ่อนแรงหรือเหนื่อยง่าย และในระยะนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน แต่มักจะเกิดขึ้นในระยะกึ่งเฉียบพลันได้มากกว่า
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโรคคาวาซากิเกิดขึ้นจากสาเหตุใด มีเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคคล้ายกับอาการของการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่โรคจะไม่แพร่กระจายจากคนสู่คน ทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากการติดเชื้อเพียงปัจจัยเดียว
- พันธุกรรม เหล่านักวิจัยไม่ปักใจเชื่อว่าโรคนี้จะสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แต่คนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคคาวาซากิจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากถึง 10 เท่า
- ชาติพันธุ์ โรคคาวาซากิมักพบมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี
- ระบบภูมิคุ้มกัน ที่ทำลายเนื้อเยื่อและอวัยวะในร่างกาย
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด มลพิษ สารพิษ หรือสารเคมี
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสนาน 5 วันขึ้นไป และพบว่าผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อย 4 อย่างจาก 5 อาการ ดังต่อไปนี้
- อาการตาบวมและแดง โดยไม่มีขี้ตาทั้งสองข้าง
- ริมฝีปากแห้งแตก บวมแดง ลิ้นบวม ปากและคอแห้ง
- มีอาการปวด บวม ที่มือหรือเท้า หรือผิวหนังลอกที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า
- ผื่นแดงคันตามลำตัว
- ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอโต คลำได้
- ไข้อีดำอีแดง เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดผื่นแดง
- ภาวะช็อกจากพิษ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ค่อนข้างพบได้น้อยแต่เป็นอันตรายต่อชีวิต
- โรคหัด เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อย ทำให้ผู้ป่วยมีไข้ และจุดสีน้ำตาลแดงขึ้นตามผิวหนัง
- ไข้และต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อไว้รัส เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr)
- กลุ่มอาการสตีเฟนส์-จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome) เป็นอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง
- ไวรัสเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นการติดเชื้อของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง
- โรคลูปัส หรือโรคเอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคพุ่มพวง เป็นผลมาจากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำให้รู้สึกเมื่อยล้า เจ็บข้อ และผื่นคัน
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiograph) หรือการทำเอคโคหัวใจ เป็นขั้นตอนการจำลองภาพของหัวใจและหลอดเลือดด้วยคลื่นเสียง เพื่อตรวจดูว่ามีลักษณะหลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่
- การตรวจเลือด (Blood Tests) ในผู้ป่วยโรคคาวาซากิอาจมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น และเซลล์เม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อยลง และพบเกล็ดเลือดสูงขึ้น ดูการอักเสบของร่างกาย รวมถึงตรวจปริมาณโปรตีนไข่ขาว (Albumin) ในเลือดว่าต่ำหรือไม่ และตรวจการทำงานของตับอาจมีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ
- การเอกซเรย์ (X-Ray) ที่บริเวณหน้าอกเพื่อตรวจสัญญาณเตือนของภาวะหัวใจล้มเหลว
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
- การตรวจปัสสาวะ ในผู้ที่เป็นโรคคาวาซากิอาจพบเม็ดเลือดขาวปนในปัสสาวะ
ในการรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ที่หัวใจและเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ วิธีหลัก ๆ ในการรักษาโรคคาวาซากิมีด้วยกัน 2 วิธีคือ การให้อิมมิวโนโกลบูลิน และการใช้ยาแอสไพริน
- การให้อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ทางหลอดเลือดดำ เป็นแอนติบอดี้ที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย และช่วยลดปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกาย หลังจากรักษาแล้วอาการจะดีขึ้นภายในเวลา 3 วัน หากไม่พบอาการที่ดีขึ้น อาจต้องทำการฉีดซ้ำอีก 1 ครั้ง ระหว่างให้ยาต้องสังเกตอาการในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด และการให้อิมมิวโนโกลบูลินจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย
- การใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ลดอาการบวม ลดการอุดตันของเกล็ดเลือด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในการใช้ยากับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีได้ เช่น กลุ่มอาการไรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) ค่อนข้างพบได้น้อย ส่งผลต่อตับ และทำให้เกิดความเสียหายที่สมอง ควรรีบไปพบแพทย์หากพบอาการอาเจียนอย่างต่อเนื่อง และหมดแรง
-
การใช้ยาอื่น ๆ เช่น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ มักใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการให้อิมมิวโนโกลบูลิน และการใช้ยาแอสไพริน
- ยาเมโธเทรกเซท หรือยาไซโคลฟอสฟาไมด์ในผู้ป่วยที่มีภาวะทนต่อการให้อิมมิวโนโกลบูลินทางหลอดเลือดดำ (IVIG-Resistant)
- ยาอินฟลิซิแมบในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง
- ยาต้านลิ่มเลือด เช่น ยาโคลพิโดเกรล หรือยาไดไพริดาโมล ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด
- ยากันเลือดแข็งตัว เช่น ยาวาร์ฟาริน หรือยาฮาเพริน ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดโป่งพองขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคคาวาซากิ
ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคคาวาซากิ คือ หลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่โป่งพอง (Coronary Artery Aneurysm) เมื่อผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง ในขณะลำเลียงเลือดเข้าสู่หัวใจ ความดันเลือดจะทำให้ผนังของหลอดเลือดนูนหรือโป่งคล้ายบอลลูน อาจมีอาการที่ดีขึ้นได้ด้วยตัวเองเมื่อเวลาผ่านไป บางครั้งลิ่มเลือดอาจก่อตัวขึ้นที่ผนังของหลอดเลือดที่ไม่แข็งแรง จึงเป็นสาเหตุทำให้ไปอุดเส้นเลือดหัวใจ เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดออกซิเจน และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ในบางกรณีหากหลอดเลือดโป่งพองมากจนแตกหรือฉีกขาด จะทำให้เลือดออกภายในร่างกายได้และเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคคาวาซากิ
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโรคคาวาซากิเกิดจากสาเหตุใด ทำให้ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ การรักษาที่เหมาะสมและทันเวลาจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจได้