ความหมาย โรคซิลิโคสิส (Silicosis)
โรคซิลิโคสิส (Silicosis) หรือโรคปอดจากฝุ่นหิน เป็นโรคปอดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสูดดมผลึกซิลิก้าหรือฝุ่นซิลิกอนไดออกไซด์เป็นระยะเวลานานจนสะสมในปอดและระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น ไอเรื้อรัง มีเสมหะ และหายใจลำบาก เป็นต้น
ผลึกซิลิก้าหรือฝุ่นซิลิกอนไดออกไซด์ เป็นผลึกที่มักปนอยู่ในทราย หิน หรือแร่บางชนิด อย่างควอทซ์ (Quartz) คริสโตบาไลท์ (Cristobalite) และทริไดไมท์ (Tridymite) ดังนั้น ผู้ที่ทำงานในบางอุตสาหกรรมจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซิลิโคสิสได้สูงกว่าคนทั่วไป เช่น พนักงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็ก คนงานก่อสร้าง คนงานซ่อมถนน เกษตรกร ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการตัดหินหรือสกัดหิน และผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมแก้ว เซรามิก หรือครก
อาการของโรคซิลิโคสิส
อาการต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากโรคซิลิโคสิสมักเกิดขึ้นหลังจากการสูดดมผลึกซิลิก้า ซึ่งระยะเวลาแสดงอาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนอาจพบอาการภายในไม่กี่สัปดาห์หลังจากการสูดดมผลึกซิลิก้า ในขณะที่บางคนอาจพบอาการหลังจากผ่านการสูดดมผลึกซิลิก้าเป็นระยะเวลา 5–10 ปี หรืออาจเป็นหลายสิบปี
โดยอาการแรกเริ่มที่มักพบ ได้แก่ อาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ เหนื่อยง่าย และหายใจลำบาก จากนั้นอาการจะเริ่มแย่ลงและนำไปสู่อาการอื่น ๆ เช่น
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
- เจ็บหน้าอก
- ไข้ขึ้นเฉียบพลัน
- ขาบวม
- ริมฝีปากเขียวคล้ำ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
ทั้งนี้ โรคซิลิโคสิสเป็นโรคที่อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง หากพบอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับผลึกซิลิก้า
สาเหตุของโรคซิลิโคสิส
โรคซิลิโคสิสเป็นโรคปอดชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสูดดมผลึกซิลิก้าที่มักปนอยู่ในทราย หิน หรือแร่บางชนิดสะสมเป็นเวลานานหลายปี เมื่อผลึกซิลิก้าเข้าสู่ร่างกายจะไปสะสมอยู่ตามบริเวณทางเดินหายใจ ส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในปอดเกิดความเสียหายจนเกิดแผลและเป็นพังผืด หากพังผืดจับตัวกันหนาจะทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่และนำไปสู่อาการผิดปกติอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรคซิลิโคสิส
ในการวินิจฉัยโรคซิลิโคสิส แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติต่าง ๆ และประวัติของผู้ป่วย โดยเฉพาะประวัติเกี่ยวข้องกับการสัมผัสหรือสูดดมผลึกซิลิก้า ร่วมกับการฟังเสียงปอดขณะผู้ป่วยหายใจ
หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซิลิโคสิส แพทย์จะใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง โดยวิธีที่แพทย์อาจใช้ เช่น
- การเอกซเรย์ (X–Ray) หรือซีทีสแกน (CT Scan) บริเวณทรวงอกของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ บริเวณปอด
- การใช้กล้องส่องหลอดลม (Bronchoscopy) โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีลักษณะเป็นกล้องขนาดเล็กติดกับสายยางสอดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อตรวจดูความผิดปกติบริเวณปอด
- การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) แพทย์อาจตัดเนื้อเยื่อปอดของผู้ป่วยบางส่วนออกมาเพื่อนำไปตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ ด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์
- สไปโรเมทรีย์ (Spirometry) วิธีนี้เป็นวิธีที่แพทย์ใช้เพื่อตรวจการทำงานของปอด โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจผ่านท่อที่ติดอยู่กับตัวเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer)
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้วิธีการตรวจเสมหะของผู้ป่วย (Sputum Test) ร่วมด้วย เพื่อหาสัญญาณของโรคปอดอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยโรคซิลิโคสิสส่วนใหญ่มักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับปอด
การรักษาโรคซิลิโคสิส
ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรคซิลิโคสิสให้หายได้ โดยวิธีการรักษาจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เช่น
- การใช้ยาสูดสเตียรอยด์ (Inhaled Steroids) เพื่อลดเยื่อเมือกในปอด
- การใช้ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น
- การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ออกซิเจนบำบัด (Oxygen Therapy) วิธีนี้เป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือดของผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียของร่างกาย
- การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาวิธีการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายปอดให้ผู้ป่วยบางราย
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่อากาศเป็นมลพิษหรือมีฝุ่นเยอะ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลึกซิลิก้า ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงเข้ารับการฉีดวัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคซิลิโคสิส
ผู้ป่วยโรคซิลิโคสิสชนิดเรื้อรังที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรง เช่น วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งปอด หัวใจวาย โรคหนังแข็ง โรคไต ข้ออักเสบ เป็นต้น
การป้องกันโรคซิลิโคสิส
ในเบื้องต้น การป้องกันโรคซิลิโคสิสสามารถทำได้โดยปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลึกซิลิก้า หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากกันสารพิษ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ช่วยป้องกันการสูดดมผลึกซิลิก้าเข้าสู่ร่างกาย
- หากต้องทำงานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลึกซิลิก้า ควรล้างมือและใบหน้าให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ที่มีผลึกซิลิก้า
- อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังจากเลิกงานหรือการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลึกซิลิก้า