โรคดื้อต่อต้าน

ความหมาย โรคดื้อต่อต้าน

โรคดื้อต่อต้าน

ODD (Oppositional Defiant Disorder) หรือโรคดื้อต่อต้าน เป็นโรคที่เด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อผู้ดูแลอย่างผู้ปกครอง หรือครู  อย่างการต่อต้าน ท้าทาย ขัดขืน และไม่ฟังคำสั่ง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ระบบประสาท หรือสภาพแวดล้อม อาการที่พบนั้นมักก่อให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวและสังคมรอบข้าง โดยอาการต่าง ๆ อาจเริ่มแสดงให้เห็นเมื่อเด็กมีอายุ 6-8 ปี และมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง อัตราการพบ ODD ในวัยรุ่นอยู่ที่ 2-16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นชายและหญิงในจำนวนเท่า ๆ กัน อย่างไรก็ตาม โรคดื้อต่อต้านไม่ได้พบแค่ในเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังพบได้ในผู้ใหญ่ด้วย ส่วนการรักษามักเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ทั้งกับตัวเด็กและผู้ปกครองของเด็กด้วย

อาการของ ODD

อาการหรือพฤติกรรมของ ODD มักวินิจฉัยโดยอ้างอิงจากคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DMS-5) ที่จัดพิมพ์โดยสมาคมจิตเวชศาสตร์อเมริกา ภายในหนังสือคู่มือนี้มีการแบ่งพฤติกรรมของ ODD ไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งหากเด็กมีพฤติกรรมตรงกับเกณฑ์ต่อไปนี้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป อาจถูกจัดว่าเป็นโรคดื้อต่อต้าน

2004 ODD rs

อารมณ์รุนแรงและเปลี่ยนแปลงง่าย

อารมณ์เสีย โมโห หรือไม่พอใจได้ง่าย และอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อถูกผู้อื่นรบกวนจะรู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ อาจระเบิดอารมณ์เมื่อโกรธหรือไม่พอใจมาก ๆ

มีพฤติกรรมต่อต้าน

มักเถียงผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองอย่างรุนแรงและไม่ลดละ จงใจที่จะก่อกวนหรือสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น ไม่ทำตามกฎข้อบังคับ ไม่รับฟังหรือยอมทำตามคำขอหรือคำสั่งจากผู้อื่น รวมทั้งไม่ยอมรับผิดและโทษคนอื่นในความผิดที่ตนเองทำ

เจตนาร้าย

มีการสบถหรือพูดคำหยาบคายเมื่อรู้สึกไม่พอใจ หากรู้สึกโกรธใครมาก ๆ มักจะหาทางแก้แค้น ตอบโต้ หรือกลั่นแกล้งอีกฝ่าย และเกิดขึ้นมากกว่า 2 ครั้งในระยะเวลา 6 เดือน

ส่วนพฤติกรรมของผู้ที่เป็น ODD ในผู้ใหญ่นั้น อาจมีลักษณะคล้ายกันกับเด็ก เพียงแต่เปลี่ยนไปในคนละรูปแบบหรือบริบท อย่างในเด็กอาจมีการต่อต้านไม่ใส่ใจในคำสั่งของผู้ปกครอง แต่ในผู้ใหญ่อาจเป็นการต่อต้านหรือเพิกเฉยในคำสั่งของหัวหน้าหรือผู้ดูแลงาน มักรู้สึกโกรธ เกิดความเข้าใจผิด หรือไม่ชอบในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ยอมรับผิดหรือฟังความเห็นจากผู้อื่น และอาจโทษผู้อื่นในความผิดของตนเองด้วย

นอกจากการแสดงพฤติกรรมข้างต้นแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นโรค ODD อาจมีอาการทางอารมณ์อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อารมณ์แปรปรวน รู้สึกท้อแท้ และไม่มั่นใจในตนเอง เป็นต้น รวมทั้งอาจมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดด้วย

ทั้งนี้ นอกจากอาการตามคู่มือ DMS-5 ยังแบ่งระดับอาการของ ODD ไว้ 3 ระดับด้วยกัน ดังนี้

  • ระดับไม่รุนแรง มีอาการของโรคเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น เช่น บ้าน โรงเรียน หรือที่ทำงาน เป็นต้น
  • ระดับรุนแรงปานกลาง มีอาการของโรคเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ที่ เช่น บ้านและโรงเรียน หรือบ้านและที่ทำงาน เป็นต้น
  • ระดับรุนแรงมาก มีอาการของโรคเกิดขึ้นตั้งแต่ 3 สถานที่ขึ้นไป

สาเหตุของ ODD

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุหลักในการเกิด ODD อย่างแน่ชัด แต่มีแนวคิดที่ว่าโรคดื้อต่อต้านอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยประกอบกัน ดังนี้

ปัจจัยทางร่างกาย มีการศึกษาที่ได้กล่าวว่าโรคดื้อต่อต้านนั้น อาจเป็นส่วนหนึ่งของภาวะพฤติกรรมบกพร่องที่เกิดจากสารสื่อประสาทและเซลล์ประสาททำงานผิดปกติ รวมถึงสารเคมีในสมองที่อยู่ในภาวะไม่สมดุล ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากการที่สมองได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความบกพร่องบางอย่าง นอกจากนี้ เด็กและวัยรุ่นที่เป็น ODD อาจมีความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ โรควิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น โดยความผิดปกติเหล่านี้อาจมีผลต่อการแสดงพฤติกรรมทางลบอีกด้วย

ปัจจัยทางพันธุกรรม ODD นั้นอาจเกิดจากการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัวที่เคยมีประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิต เช่น โรควิตกกังวล ภาวะความผิดปกติทางบุคลิกภาพ และภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ เป็นต้น

ปัจจัยแวดล้อม ปัญหาหรือพฤติกรรมในครอบครัวอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้ เช่น ครอบครัวมีฐานะยากจน ผู้ปกครองละเลยไม่ใส่ใจดูแลลูก เด็กขาดการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ การขาดแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิต การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี พ่อและแม่หย่าร้างกัน ความรุนแรงในครอบครัว คนในครอบครัวมีภาวะความผิดปกติทางจิต และการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดของคนในครอบครัว เป็นต้น

ปัจจัยอื่น ๆ อาจมีปัจจัยอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของ ODD ได้ เช่น การเผชิญความเครียด การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทำร้ายร่างกาย การย้ายบ้านหรือย้ายโรงเรียนบ่อยครั้ง เป็นต้น

การวินิจฉัย ODD

ในเบื้องต้น ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กจากแนวทางในคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต โดยสังเกตว่าเด็กมีอาการจากกลุ่มพฤติกรรมใดก็ตามเป็นจำนวน 4 อาการ และ 1 ในพฤติกรรมนั้นเด็กได้แสดงออกกับบุคคลที่ไม่ใช่ญาติหรือมีความใกล้ชิดแต่อย่างใด รวมทั้งสังเกตความถี่ในการเกิดพฤติกรรมและระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนั้น ควรสังเกตสถานการณ์รอบตัวเด็กด้วย โดยสังเกตว่าเด็กเข้าสังคมหรือมีความสัมพันธ์กับคนรอบตัวลดลงหรือไม่ และหากมีสัญญาณของ ODD เกิดขึ้น ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามถึงลักษณะพฤติกรรม ความถี่ในการเกิดพฤติกรรม และความรุนแรงของอาการ จากนั้นอาจตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการของโรคนี้ได้ เช่น โรคสมาธิสั้น ภาวะซึมเศร้า โรคจิต โรคไบโพล่าร์ รวมทั้งการใช้ยาหรือสารเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้นพร้อมกับ ODD ด้วย อย่างภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้หรือภาวะความผิดปกติทางการสื่อสาร

ทั้งนี้ หากไม่สามารถหาสาเหตุทางร่างกายได้ แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น เพื่อสังเกตความคิดและพฤติกรรมด้วยการสัมภาษณ์หรือการใช้แบบประเมินสำหรับวิเคราะห์อาการผิดปกติทางจิตในเด็ก หลังจากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยจากรายงานของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาร่วมกับประวัติการรักษาของเด็ก โดยอ้างอิงจากคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต

การรักษา ODD

หัวใจสำคัญของการรักษา ODD นั้น คือ ตัวเด็กและครอบครัว เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่มักพบในเด็ก โดยเด็กมักมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในครอบครัวมากที่สุด และครอบครัวก็เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเช่นกัน ดังนั้น การสร้างความเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีคิดจะส่งผลในทางบวกต่อผู้ป่วยและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัว

รูปแบบการรักษา ODD จะเน้นไปที่การบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม รวมถึงการแสดงออกของคนในครอบครัวต่อตัวผู้ป่วยด้วย โดยวิธีบำบัดเและรักษาโรคดื้อต่อต้าน อาจมีดังนี้

พฤติกรรมบำบัด มีจุดประสงค์เพื่อลดและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางลบ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดและพฤติกรรมของเด็กด้วยการพัฒนาวิธีการสื่อสารให้ถูกต้อง ให้เด็กเรียนรู้ทักษะในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งฝึกควบคุมความโกรธและการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

กลุ่มบำบัด เป็นการนำเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันหรือวัยใกล้เคียงกันมาพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อพัฒนาทักษะในการสื่อสาร การเข้าสังคม และการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเมื่ออยู่กับผู้อื่น

ครอบครัวบำบัด เป็นวิธีการบำบัดที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในอาการของโรค เพื่อเรียนรู้วิธีการแสดงออกต่อผู้ที่เป็น ODD อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยและคนในครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

Parent-Child Interaction Therapy (PCIT) เป็นวิธีการบำบัดโดยเปลี่ยนวิธีการแสดงออกของพ่อหรือแม่ เพื่อให้เด็กลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสังเกตการณ์อยู่อีกห้องหนึ่งและคอยให้คำแนะนำถึงเทคนิค วิธีการพูด และการแสดงออกต่อเด็กให้แก่ผู้ปกครอง เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น อย่างการให้รางวัลเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี นอกจากนี้ PCIT อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกนั้นเป็นไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

การเข้ารับการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่เป็น ODD เป็นการอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาวิธีเลี้ยงดูเด็กที่มีอาการ ODD อันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่อาจช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังช่วยลดความท้อแท้และเพิ่มกำลังใจให้ทั้งผู้ปกครองและเด็กด้วย ซึ่งนอกจากวิธีการเลี้ยงดู การเอาใจใส่ และความอดทนแล้ว การให้ความรักความอบอุ่นกับเด็กก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ด้วยเช่นกัน

การใช้ยา อาจเป็นวิธีที่ช่วยรักษาอาการได้ในกรณีที่ผู้ป่วย ODD มีความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า และโรคสมาธิสั้น เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ ODD

ด้วยทักษะทางสังคมที่ต่ำ ความก้าวร้าว และพฤติกรรมที่มักสร้างความรำคาญใจแก่ผู้อื่น อาจทำให้เด็กที่เป็น ODD ถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมชั้นหรือเด็กในวัยเดียวกัน โดยโรคดื้อต่อต้านอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนและปัญหาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • มีประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงานต่ำ
  • เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม
  • มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด
  • ฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ เด็กและวัยรุ่นที่เป็น ODD อาจมีความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีความผิดปกติทางความประพฤติ มีภาวะซึมเศร้า เป็นโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้หรือภาวะความผิดปกติทางการสื่อสาร เป็นต้น

การป้องกัน ODD

ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยหรือการศึกษาใดที่ยืนยันถึงวิธีการที่ช่วยป้องกันโรคนี้ได้อย่างแน่นอน แต่หากพ่อแม่หรือผู้ปกครองสังเกตเห็นเด็กมีอาการหรือสัญญาณของ ODD ควรรีบพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เนื่องจากการรักษาโรคดื้อต่อต้านตั้งแต่เริ่มแรกนั้นอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการและควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดพฤติกรรมทางลบในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม หากเด็กป่วยด้วยโรคนี้ ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลเด็กและให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะทำให้อาการของโรค ODD รุนแรงขึ้น เช่น การเกิดความรุนแรงในครอบครัว การด่าทอ การใช้สารเสพติด เป็นต้น และควรสร้างสภาพแวดล้อมของครอบครัวให้เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งคอยให้คำแนะนำอย่างเป็นเหตุเป็นผล ฝึกวินัยและความรับผิดชอบให้เด็กอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอด้วย