ความหมาย โรคทอกโซพลาสโมซิส
โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) หรือโรคขี้แมว เป็นโรคติดเชื้อจากปรสิตที่มีชื่อว่า Toxoplasma gondii โดยสามารถพบได้ในมูลของแมว เนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงสุกๆ ดิบๆ แม้ปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด และเชื้อยังสามารถแพร่จากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้
โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือหญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการรักษาทันทีหลังได้รับเชื้อ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้อที่รุนแรง
อาการของโรคทอกโซพลาสโมซิส
ผู้ป่วยโรคทอกโซพลาสโมซิสมักจะไม่มีอาการแสดงออกมาแม้จะมีปรสิตชนิดนี้อยู่ภายในร่างกาย แต่บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ เป็นต้น ซึ่งอาการจะหายไปได้เองภายในระยะเวลาไม่นาน ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองกำลังได้รับเชื้ออยู่
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางกลุ่มควรเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่นนั้นอาจพบอาการที่เป็นอันตรายต่อสมอง ดวงตา และอวัยวะอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้
ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
การรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ในผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจไปกระตุ้นเชื้อปรสิตในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน ชัก โคม่า มีอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างไอแห้งติดต่อกันเป็นเวลานานหรือหายใจไม่อิ่ม ปวดตา ตามัวจากการอักเสบของจอตา เป็นต้น
ผู้ที่ติดเชื้อก่อนหรือในระหว่างการตั้งครรภ์
ผู้ที่ได้รับเชื้อในช่วงแรกของการตั้งครรภ์อาจถ่ายทอดเชื้อไปยังทารกได้น้อย แต่มักส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือเกิดการแท้งบุตร สำหรับทารกที่รอดชีวิตมีแนวโน้มจะพบปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมา เช่น ชัก ตับโต ม้ามโต ดีซ่าน หรือติดเชื้อที่ดวงตาอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อนี้ในช่วงไตรมาสที่ 3 อาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่ทารกได้มากที่สุด แต่มักพบอาการผิดปกติได้น้อย และเด็กที่เกิดมาอาจจะพัฒนาอาการได้เมื่อโตขึ้น
สาเหตุของโรคทอกโซพลาสโมซิส
โรคทอกโซพลาสโมซิสเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยสาเหตุที่ทำให้ได้รับเชื้อ Toxoplasma gondii อาจมาได้จากหลายทาง ดังนี้
- เผลอสัมผัสปากตนเองหรือนำเชื้อโรคเข้าปากหลังจากสัมผัสดินหรืออุจจาระแมวที่มีเชื้อปรสิตปนเปื้อน โดยอาจเกิดขึ้นได้หลังจากทำความสะอาดกระบะทรายแมว เล่นกับแมว หรือปลูกต้นไม้แล้วล้างมือไม่สะอาด
- รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อปรสิต โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ดิบอย่างเนื้อหมูหรือแกะดิบ สัตว์น้ำอย่างหอยนางรมหรือหอยแมลงภู่ ผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์หรือกระบวนการฆ่าเชื้อ ผักและผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด รวมไปถึงการใช้เครื่องครัวอย่างมีด เขียง และช้อนส้อมกับเนื้อสัตว์ดิบและสัตว์น้ำก็อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนเช่นกัน
- ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก สตรีที่ป่วยเป็นโรคทอกโซพลาสโมซิสในระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งต่อเชื้อไปสู่ทารกได้
- ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่ติดเชื้อหรือการถ่ายเลือดที่ติดเชื้อ แต่กรณีนี้มักพบได้น้อยมาก
ยิ่งไปกว่านั้น เชื้อปรสิตชนิดนี้สามารถแฝงอยู่ภายในร่างกายของผู้ที่มีสุขภาพดี แต่เมื่อใดที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง โดยอาจเกิดได้จากการเจ็บป่วยหรือใช้ยาบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ การติดเชื้อกำเริบขึ้นมาและทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
การวินิจฉัยโรคทอกโซพลาสโมซิส
โดยทั่วไป แพทย์จะวินิจฉัยโรคทอกโซพลาสโมซิสโดยให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคและคงอยู่ในร่างกายเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อในครั้งต่อไป หากตรวจพบแอนติบอดีที่จำเพาะต่อโรคอยู่ภายในร่างกายแสดงว่าบุคคลนั้นกำลังติดเชื้อนี้อยู่หรือเคยติดเชื้อนี้มาก่อน ทั้งนี้ การตรวจเลือดในระยะแรกของการติดเชื้ออาจไม่พบแอนติบอดีแม้ว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อจริง เนื่องจากร่างกายยังไม่ได้สร้างแอนติบอดีขึ้น แพทย์จึงอาจนัดมาตรวจซ้ำอีกครั้ง
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่แสดงอาการของโรคทอกโซพลาสโมซิส แพทย์อาจพิจารณาให้เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาเชื้อ รวมถึงอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าทารกนั้นมีสัญญาณการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งหากเกิดการติดเชื้อจริงอาจต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเพิ่มเติม ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนเกิดการติดเชื้อในสมองอาจต้องวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) ตรวจหาเชื้อจากน้ำไขสันหลัง หรือตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งวิเคราะห์ เพื่อตรวจหารอยโรคหรือซีสต์ที่หุ้มเชื้อปรสิตในสมอง อย่างไรก็ตาม วิธีตรวจนี้อาจใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากหรือตอบสนองต่อการรักษาได้ไม่ดีเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้ยากและอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การรักษาโรคทอกโซพลาสโมซิส
ผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรงมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีสัญญาณของโรคทอกโซพลาสโมซิสเฉียบพลัน มีอาการรุนแรง ส่งผลต่อดวงตาและอวัยวะภายในอื่น ๆ แพทย์อาจให้รับประทานยารักษาโรคมาลาเรียอย่างไพริเมตามีนร่วมกับยาปฏิชีวนะอย่างซัลฟาไดอะซีน เช่นเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์อาจใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับกรดโฟลิกเพื่อป้องกันการขาดวิตามินบี 9 หรือใช้ยาไพริเมตามีนคู่กับยาคลินดามัยซินแทนได้
การรักษาโรคทอกโซพลาสโมซิสในหญิงตั้งครรภ์มีอยู่หลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะที่ติดเชื้อและความรุนแรงของเชื้อ เช่น
- การติดเชื้อภายใน 16 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะอย่างสไปรามัยซิน เพื่อลดอัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- การติดเชื้อหลังสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ หรือทารกในครรภ์ติดเชื้อ อาจต้องรับประทานยาไพริเมตามีน ยาซัลฟาไดอะซีน กรดโฟลิก และยาลูวโคโวริน ทั้งนี้ ยาทั้ง 2 ชนิดนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้ เช่น กดไขกระดูกที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือด เกิดความเป็นพิษต่อตับ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคทอกโซพลาสโมซิส
แม้ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันปกติจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อย แต่บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อที่สมอง หัวใจ ปอด รวมถึงการติดเชื้อที่ดวงตาและหากไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้ตาบอดได้ สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจเกิดอาการชัก และติดเชื้อที่สมองอย่างรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างไข้สมองอักเสบ ส่วนเด็กที่เกิดมาพร้อมกับโรคทอกโซพลาสโมซิสอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน บกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ หรือตาบอดได้สูง
การป้องกันโรคทอกโซพลาสโมซิส
โรคทอกโซพลาสโมซิสสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง หมั่นดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพและสุขอนามัยที่ดี รวมถึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- สวมถุงมือเมื่อต้องขุดดิน ปลูกต้นไม้ หรือสัมผัสกับดิน และควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังทำกิจกรรม
- ไม่รับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบโดยเฉพาะเนื้อหมู เนื้อวัว หอยนางรม และหอยแมลงภู่ แต่ควรรับประทานเมื่อผ่านการปรุงสุกแล้วเท่านั้น
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานหรือก่อนนำไปประกอบอาหารทุกครั้ง และอาจปอกเปลือกผลไม้หลังล้างเสร็จแล้ว
- ล้างเครื่องมือและเครื่องใช้ในครัวทุกครั้งหลังจากประกอบอาหารด้วยน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนตามเขียง มีด จานชาม หรือช้อนส้อม รวมไปถึงล้างมือหลังจากสัมผัสกับเนื้อดิบ
- เลือกดื่มผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านกระบวนฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น
- ดูแลของเล่นเด็กให้สะอาด โดยเฉพาะกระบะทราย เพื่อป้องกันไม่ให้แมวใช้เป็นที่อุจจาระหรือปัสสาวะ
- เลี้ยงแมวในระบบปิดและให้อาหารเม็ดหรืออาหารกระป๋องแทนเนื้อสัตว์ดิบที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค
- สวมถุงมือและหน้ากากอนามัยหากต้องทำความสะอาดกระบะทรายแมว ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดหลังเสร็จภารกิจ และควรเปลี่ยนทรายทุกวัน เพื่อป้องกันซีสต์ของเชื้อปรสิตที่ออกมาพร้อมมูลแมว