ความหมาย โรคพิษสุราเรื้อรัง
โรคพิษสุราเรื้อรัง เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานจนไม่สามารถเลิกดื่มได้ แม้รู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็ตาม ซึ่งหากหยุดดื่มอาจก่อให้เกิดอาการขาดสุรา เช่น มือสั่น หงุดหงิด อาเจียน สันสน หรือประสาทหลอน เป็นต้น โดยผู้ที่ประสบปัญหานี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดอย่างถูกต้อง
อาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังอาจมีอาการแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไป อาการบ่งชี้ของโรคนี้มี 3 ระยะ ได้แก่
ระยะแรก
- หันไปพึ่งแอลกอฮอล์เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา
- ต้องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมึนเมา
- จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้
- ไม่ต้องการแบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับผู้อื่น
- รู้สึกอยากดื่มแอลกอฮอล์ตลอดเวลา
- รู้สึกผิดหลังจากดื่มแอลกอฮอล์
ระยะกลาง
- ไม่สามารถควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ได้ แม้รู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ หรือส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัว
- ต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองออกจากการดื่มแอลกอฮอล์
- มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและมีอารมณ์แปรปรวน
ระยะรุนแรง
- มีอาการขาดสุราเมื่อหยุดดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหงื่อออก ตัวสั่น มือสั่น หงุดหงิด คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย สับสน หัวใจเต้นเร็ว หรือประสาทหลอน เป็นต้น
สาเหตุของโรคพิษสุราเรื้อรัง
ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของโรคพิษสุราเรื้อรังได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากส่งผลให้สารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลงและทำให้เกิดความรู้สึกสุขสมตามมา จนอาจทำให้ความรู้สึกดังกล่าวส่งผลต่อผู้บริโภคให้ต้องการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ และเกิดการเสพติดในที่สุด ซึ่งหากหยุดดื่มอาจมีอาการขาดสุราตามมาจึงทำให้เลิกดื่มได้ยากไปด้วย
โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงต่อโรคพิษสุราเรื้อรังมากกว่าคนทั่วไป
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ
- มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคจิตเภท เป็นต้น
- เผชิญกับแรงกดดัน หรือรู้สึกเครียดเป็นประจำ
- มีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ
- มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- อยู่ในชุมชนที่คนส่วนใหญ่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การวินิจฉัยโรคพิษสุราเรื้อรัง
หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการบ่งชี้ของโรคพิษสุราเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โดยวิธีวินิจฉัยโรคพิษสุราเรื้อรัง มีดังนี้
- แพทย์จะสอบถามพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ป่วย ทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด รวมถึงสอบถามประวัติทางการแพทย์และตรวจร่างกายเบื้องต้น
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือใช้การสร้างภาพทางรังสีวิทยา เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคพิษสุราเรื้อรัง
- ใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา เช่น แบบสอบถามเกี่ยวกับความคิด พฤติกรรม ความรู้สึก และอาการผิดปกติของผู้ป่วย หรือหลักเกณฑ์สำหรับวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders 5: DSM 5) เป็นต้น เพื่อประเมินสุขภาพจิตของผู้ป่วย
การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง
การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
การถอนพิษสุรา
อาจเรียกว่าช่วงล้างพิษ จัดเป็นขั้นตอนแรกของการรักษาโรคนี้ โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดดื่มหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับให้ยาบรรเทาอาการขาดสุราควบคู่ไปด้วย
การฟื้นฟูสมรรถภาพ
เป็นการเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้จักควบคุมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเอง
การให้คำปรึกษาทางจิต
เพื่อบำบัดความผิดปกติทางจิตที่เป็นสาเหตุของโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นการบำบัดแบบกลุ่มหรือการบำบัดรายบุคคล โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
การรับประทานยา
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาที่มีฤทธิ์ช่วยให้ไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่
- ยานาลเทรกโซน ช่วยลดความรู้สึกสุขสมจากการดื่มแอลกอฮอล์
- ยาแอคแคมโพรเซส ช่วยปรับสารเคมีในสมองให้อยู่ในระดับปกติ จึงมีความรู้สึกอยากดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง
- ยาไดซัลฟิแรม ช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และเวียนศีรษะ เป็นต้น
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังขั้นรุนแรง แพทย์จะเฝ้าดูอาการขาดสุราตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลด้วย เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นแพทย์จึงจะอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายดี
ภาวะแทรกซ้อนของโรคพิษสุราเรื้อรัง
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ เกิดแผลในหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร การดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ลดลง เป็นต้น
- โรคตับ อาจเกิดโรคหรือความผิดปกติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตับ อย่างไขมันพอกตับหรือตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ รวมถึงโรคตับแข็งที่อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของเสียจำพวกยูเรียจนเกิดพิษต่อสมองได้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจโต หัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกลูโคสของตับ และอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตามมา ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังใช้ยาอินซูลินเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลยิ่งลดต่ำลงจนเป็นอันตราย
- พัฒนาการทางเพศผิดปกติ ผู้ป่วยชายอาจเสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนผู้ป่วยหญิงอาจเสี่ยงต่อภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ความพิการแต่กำเนิด หญิงตั้งครรภ์ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือเผชิญกับกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ จนส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ผิดปกติ
- กระดูกเกิดความเสียหาย อาจเกิดโรคกระดูกพรุน หรือไขกระดูกซึ่งมีหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย จนส่งผลให้เกล็ดเลือดมีปริมาณลดลง ผู้ป่วยจึงเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกมากกว่าปกติ
- ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น มือเท้าชา กระบวนการคิดผิดปกติ ภาวะสูญเสียความทรงจำชั่วคราว หรือโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังอาจเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่าง ๆ มากกว่าปกติ เช่น โรคปอดบวม เป็นต้น
- มะเร็ง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอาจเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ มากกว่าคนทั่วไป เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม เป็นต้น
- การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของยารักษาที่ผู้ป่วยกำลังรับประทานอยู่ โดยฤทธิ์ของยาอาจลดลง มากขึ้น หรือกลายเป็นพิษต่อร่างกายได้
- ปัญหาในการดำเนินชีวิต การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุประเภทต่าง ๆ เช่น รถชน ตกจากที่สูง เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรม การข้องเกี่ยวกับอาชญากรรม หรือการตกเป็นเหยื่อของอาชญากร เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ตลอดจนเสี่ยงควบคุมตัวเองไม่ได้และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
การป้องกันโรคพิษสุราเรื้อรัง
โรคพิษสุราเรื้อรังสามารถป้องกันได้ เพียงจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ของตัวเอง โดยทั่วไปเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมักมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน โดย 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ 10 กรัม เฉลี่ยแล้ว 1 ดื่มอาจเท่ากับเบียร์ 360 มิลลิลิตร ไวน์ 150 มิลลิลิตร และสุรา 45 มิลลิลิตร จากคำแนะนำของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทย ผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 4 ดื่มมาตรฐาน/วัน ส่วนผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 2 ดื่มมาตรฐาน/วัน
นอกจากนั้น วัยรุ่นอาจเป็นวัยที่เสี่ยงต่อโรคพิษสุราเรื้อรังค่อนข้างสูง พ่อแม่จึงควรสังเกตสัญญาณผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูก และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของลูก
- พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับลูกเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เป็นต้น
- เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์
- สร้างบรรทัดฐานที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกปฏิบัติตามและเรียนรู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ