ความหมาย โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)
โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ทำให้มีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า ภายในปาก และสร้างความเจ็บปวด ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ เช่น ไอ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ปวดท้อง และไม่อยากอาหาร
โรคมือเท้าปากพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยอาการมักจะดีขึ้นและหายได้เองในระยะประมาณ 7–10 วัน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้แนะนำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดโรคและการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่
อาการของโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากมีระยะฟักตัว 3–6 วัน โดยหลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง 38–39 องศาเซลเซียส เจ็บคอ ไม่อยากอาหาร ปวดท้อง และอ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 1–2 วัน จะเริ่มมีตุ่ม ผื่น หรือแผลอักเสบมีหนองที่ผิวหนังบริเวณมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และบริเวณปากทั้งภายนอกและภายในตามมา
สาเหตุของโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสสายพันธุ์ค็อกซากี้ เอ16 (Coxsackie A16 Virus) และบางส่วนอาจเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) โดยเชื้อไวรัสสามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอหรือจาม การสัมผัสของเหลวหรือของเสียที่ปนเปื้อนเชื้อ
นอกจาก 2 สายพันธุ์นี้แล้ว ยังมีไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ ที่สามารถเป็นต้นเหตุของโรคมือเท้าปากได้ คือ กลุ่มเอนเทอโรไวรัส เช่น กลุ่มโปลิโอไวรัส (Polioviruses) กลุ่มค็อกซากี้ไวรัส (Coxsackieviruses) กลุ่มเอ็กโค่ไวรัส (Echoviruses) และกลุ่มเอนเทอโรไวรัสชนิดอื่น ๆ (Enteroviruses)
การวินิจฉัยโรคมือเท้าปาก
ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองว่าเข้าข่ายโรคมือเท้าปากหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วอาการป่วยจะทุเลาลงและหายป่วยเองภายในเวลา 7–10 วัน แต่หากอาการป่วยไม่ดีขึ้นหรือทรุดหนักลง ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
โดยแพทย์จะสอบถามอาการที่เกิดขึ้นและตรวจร่างกาย ตรวจดูบริเวณที่มีแผลหรือตุ่มหนองอักเสบ จากนั้นถึงจะพิจารณาวินิจฉัยโรคจากหลายองค์ประกอบ แพทย์อาจนำตัวอย่างของเหลวภายในลำคอ หรือตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของอาการป่วยต่อไป
การรักษาโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดในทันที หากป่วยด้วยโรคนี้ ผู้ป่วยควรพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ดูแลอาการหรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วย แล้วรอจนกว่าอาการเหล่านั้นจะหายไป แต่หากอาการป่วยไม่บรรเทาลง มีอาการป่วยที่ยิ่งทรุดหนัก หรือมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นเกิดขึ้นอีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปาก
อาการส่วนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก คือ ภาวะขาดน้ำ เพราะการป่วยทำให้เกิดแผลอักเสบภายในปากและลำคอ ทำให้กลืนลำบากและสร้างความเจ็บปวดขณะกลืนน้ำหรืออาหาร ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบตามมา มักเป็นอาการป่วยทั่วไปที่ไม่รุนแรง ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบได้น้อยมาก คือ อาการเล็บมือเล็บเท้าหลุด หรือภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส และภาวะสมองอักเสบ
การป้องกันโรคมือเท้าปาก
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากที่มีสาเหตุมาจากเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71 Vaccine) เท่านั้น การลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของโรคทางอื่นสามารถทำได้โดยการรักษาสุขอนามัย เช่น ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อย ๆ ทำความสะอาดเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ
รวมทั้งไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวหรืออุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ใช้ผ้าสะอาดหรือทิชชู่ปิดปากปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างใกล้ชิด และหากป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ควรลาพักรักษาตัวที่บ้านจนกว่าจะหาย