การรักษาโรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)
การรักษาโรคมือเท้าปากไม่มีวิธีการกำจัดเชื้อไวรัสต้นเหตุให้หมดไปหรือทำให้อาการป่วยหายขาดในทันที หากป่วยด้วยโรคนี้ ผู้ป่วยควรหยุดงานหรือหยุดเรียนเพื่อพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ดูแลรักษาตามอาการที่ป่วย รับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการป่วยเหล่านั้น แล้วรอจนกว่าอาการเหล่านั้นจะดีขึ้นและหายไปภายใน 10 วัน
ในกรณีที่อาการป่วยไม่บรรเทาลง อาการป่วยยิ่งทรุดหนัก หรือมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นเกิดขึ้นอีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป โดยแพทย์จะแนะนำแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
อาการไข้และความเจ็บปวดจากแผล
ผู้ป่วยอาจได้รับประทานกลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน นอกจากยาจะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดจากตุ่มแผลอักเสบที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย
โดยให้เลือกรูปแบบการใช้ยาตามความเหมาะสมกับวัยของผู้ป่วย หากเป็นเด็กเล็กอาจใช้ในรูปแบบยาน้ำรับประทาน สำหรับสตรีมีครรภ์ควรรับประทานยาพาราเซตามอล และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน
การใช้ยาควรศึกษาฉลากยาให้รอบคอบก่อน หากผู้ป่วยไม่มีไข้ก็ไม่ควรใช้ยาเพื่อควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ให้มีไข้สูง ควรให้ผู้ป่วยสวมเสื้อผ้าฝ้ายบาง ๆ เปิดหน้าต่างหรือพัดลมเพื่อระบายอากาศ แต่ไม่ควรใช้น้ำเย็นเช็ดตัวผู้ป่วย
เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวจากน้ำที่อุณหภูมิเย็นจัดแล้ว ยังทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังหดตัวเมื่อได้สัมผัสกับน้ำเย็น เป็นการลดการระบายความร้อนของร่างกาย และดักจับความร้อนไว้ใต้ผิวหนังส่วนที่ลึกลงไป ซึ่งอาจทำให้อาการป่วยแย่ลงไปด้วย
ตุ่มแผลอักเสบภายในปาก
แพทย์อาจแนะนำให้ยาลิโดเคน เจล (Lidocaine Gel) เป็นยาชาเฉพาะที่ ลดการเจ็บปวดในบริเวณที่ทา สามารถใช้ในเด็กได้ นอกจากนี้อาจให้เด็กบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุณหภูมิอุ่น ๆ แต่ต้องเป็นเด็กที่โตพอจะบ้วนปากได้เองโดยไม่กลืนน้ำเกลือลงคอไป
ในส่วนของการรับประทานอาหาร ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่กลืนง่าย เช่น ซุป ข้าวต้ม มันบด ไอศกรีม หรือโยเกิร์ต หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนจัด มีรสเปรี้ยว หรือมีรสเผ็ด รวมถึงควรดื่มน้ำเปล่าหรือนมมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
หากอาการเจ็บปวดภายในลำคอและปากทำให้การดื่มหรือกลืนน้ำยากลำบาก ให้รับประทานยาแก้ปวดก่อน เมื่อยาออกฤทธิ์ให้ดื่มน้ำมาก ๆ โดยควรดื่มน้ำทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงหรือบ่อยกว่านั้น หากโรคมือเท้าปากเกิดขึ้นกับเด็กและเด็กไม่ยอมดื่มน้ำควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดทดแทน