ความหมาย โรคลมหลับ
โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นความผิดปกติด้านการนอนที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ผู้ป่วยจะรู้สึกง่วงอย่างมากในช่วงกลางวันและมักหลับไปโดยไม่รู้ตัว บางรายอาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงกะทันหันร่วมด้วย ซึ่งมักมีปัจจัยกระตุ้นมากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างฉับพลัน เป็นต้น แม้ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาที่ช่วยให้หายขาดจากโรคนี้ได้ แต่การรับประทานยาและการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมก็อาจช่วยควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นได้
อาการของโรคลมหลับ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเริ่มแสดงอาการผิดปกติตั้งแต่ช่วงอายุ 10-25 ปี โดยอาการอาจค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นใน 2-3 ปีแรก หรืออาจเกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์หลังเริ่มแสดงอาการ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป ดังนี้
- ง่วงนอนอย่างมากในช่วงกลางวัน และผล็อยหลับไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เช่น ทำงาน พูดคุย รับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งขับรถอยู่ เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ และผู้ป่วยมักรู้สึกสดชื่นขึ้นเมื่อได้พักงีบ แต่ก็จะกลับไปมีอาการง่วงอีกครั้ง
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยมีปัจจัยกระตุ้นทางอารมณ์ เช่น การหัวเราะ ความรู้สึกตื่นเต้น ความโกรธ ความกลัว เป็นต้น
- อาการผีอำ (Sleep Paralysis) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือส่งเสียงได้ในระหว่างที่นอนหลับหรือแม้แต่ขณะตื่น ทว่ายังสามารถเคลื่อนไหวดวงตาและหายใจได้ตามปกติ โดยมักเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
- ประสาทหลอนขณะนอนหลับหรืออยู่ในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น
สาเหตุของโรคลมหลับ
ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่พบว่าผู้ป่วยหลายคนจะมีระดับสารเคมีในสมองที่เรียกว่าไฮโปเครติน (Hypocretin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับลดต่ำลงกว่าปกติ ทำให้คาดว่าการขาดสารนี้อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรค โดยภาวะที่ร่างกายขาดไฮโปเครตินอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ มีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคลมหลับบางรายมีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง ทำให้มีการสร้างแอนติบอดี้ขึ้นมาต่อต้านโปรตีนบางชนิดที่ผลิตขึ้นจากสมองส่วนเดียวกับที่ผลิตไฮโปเครติน จึงอาจส่งผลกระทบให้ปริมาณไฮโปเครตินในร่างกายลดลงไปด้วย
- ปัญหาสุขภาพ โรคหรือความผิดปกติในร่างกายบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่ผลิตไฮโปเครติน ทำให้ปริมาณไฮโปเครตินในร่างกายลดลง เช่น โรคมะเร็งสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคสมองอักเสบ หรือการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะ เป็นต้น
- ปัจจัยอื่น ๆ คาดว่าปัจจัยบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดโรคลมหลับหรือทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนหลับอย่างฉับพลัน ความเครียด การติดเชื้อ การรับวัคซีคบางชนิดอย่างแพนเดมิกวัคซีน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคลมหลับ
ในขั้นแรกของการวินิจฉัยโรคลมหลับ แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น อย่างความรู้สึกง่วงนอนอย่างมากในเวลากลางวัน หรือความผิดปกติด้านการนอนหลับ และตรวจดูว่ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่ หากประเมินแล้วว่ามีโอกาสเป็นโรคนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการนอนหลับอย่างละเอียด ดังนี้
- สอบถามประวัติการนอนหลับ แพทย์จะให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงในการหลับไปโดยไม่รู้ตัว โดยให้ระบุตัวเลขความเป็นไปได้ที่จะนอนหลับในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ขณะนั่งพักหลังรับประทานอาการกลางวัน เป็นต้น
- เก็บข้อมูลการนอนหลับ เป็นการจดบันทึกรูปแบบการนอนหลับของตนเองทุกวัน และแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายสวมเครื่องมือที่ข้อมือ เพื่อวัดระยะเวลาที่ตื่นและระยะเวลาที่นอนหลับ (Actigraphy)
- การแปลผลตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) เป็นการติดขั้วไฟฟ้าไว้บริเวณหนังศีรษะ เพื่อตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวของดวงตา และการหายใจขณะนอนหลับ โดยผู้ป่วยอาจต้องนอนที่โรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจชนิดนี้
- ตรวจความง่วงนอน (Multiple Sleep Latency Test) เป็นการตรวจวัดระยะเวลาที่รู้สึกง่วงและเวลาที่หลับไปในช่วงกลางวัน โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะให้ผู้ป่วยงีบหลับ 4-5 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมงเพื่อสังเกตรูปแบบการนอน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะหลับอย่างง่ายดายและรวดเร็ว
นอกจากการวินิจฉัยข้างต้น แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อประเมินสาเหตุของอาการป่วยให้แน่ชัด อย่างการตรวจวัดความดันโลหิต หรือการตรวจเลือด เพราะอาการผิดปกติที่พบอาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด การบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือการเกิดโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคลมหลับได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคซึมเศร้า โรคลมชัก ภาวะขาดไทรอยด์ เป็นต้น
การรักษาโรคลมหลับ
โรคลมหลับเป็นอาการป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรับประทานยาบางชนิดและการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม อาจช่วยควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น และทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนี้
การใช้ยา
ตัวยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคลมหลับรับประทาน ได้แก่
- ยากระตุ้น เป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตื่นอยู่ตลอดเวลาในช่วงกลางวัน อย่างยาโมดาฟินิลหรือยาอาร์โมดาฟินิล ทว่ายาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปากแห้ง เป็นต้น หรือแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานยาเมทิลเฟนิเดต ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงแต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิดง่ายและใจสั่น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเสพติดยานี้ จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
- ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอและกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ เช่น ยาฟลูออกซิทีน ยาเวนลาฟาซีน เป็นต้น โดยมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะผีอำ และอาการประสาทหลอน ทว่าอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น บกพร่องทางเพศ หรือระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ เป็นต้น
- ยากลุ่มไตรไซคลิก เช่น ยาโพรทริปไทลีน ยาอิมิพรามีน ยาโคลมิพรามีน เป็นต้น มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ทว่าอาจมีผลข้างเคียงทำให้ปากแห้งและวิงเวียนศีรษะได้
- ยาโซเดียมออกซีเบต มีประสิทธิภาพสูงในการบรรเทาอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และช่วยให้คุณภาพการนอนหลับในช่วงกลางคืนดีขึ้น หากรับประทานในปริมาณมากอาจช่วยควบคุมความรู้สึกง่วงในช่วงกลางวันได้ แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น รู้สึกคลื่นไส้ มีเหงื่อออกขณะนอนหลับ และผู้ที่มีภาวะเดินละเมออาจมีอาการรุนแรงขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้น การรับประทานยาชนิดนี้ร่วมกับยานอนหลับ ยาแก้ปวดชนิดเสพติด หรือแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้หายใจลำบาก เกิดภาวะโคม่า หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาทุกชนิดตามปริมาณที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยาชนิดอื่นอยู่ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนรับประทานยารักษาต่าง ๆ เสมอ
การปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
ผู้ป่วยโรคลมหลับควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาความรู้สึกง่วงในช่วงกลางวัน และช่วยให้คุณภาพการนอนช่วงกลางคืนดีขึ้น
- งีบหลับช่วงสั้น ๆ ระหว่างวัน โดยให้แพทย์แนะนำช่วงเวลาและระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการงีบหลับ เพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจใช้เวลาแตกต่างกัน
- ตื่นนอนและเข้านอนในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน
- ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน เช่น แช่น้ำอุ่น ฟังเพลงที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เป็นต้น
- สร้างสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะกับการนอนหลับ โดยปรับอุณหภูมิห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นจนเกินไป และให้มีเสียงดังเล็ดลอดเข้ามาในห้องนอนน้อยที่สุด
- รับประทานอาหารเย็นในปริมาณที่พอเหมาะ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหากมีอาการของโรคเกิดขึ้น เช่น การขับรถ การทำอาหาร เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคลมหลับ
ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจต้องเผชิญภาวะแทรกซ้อนบางประการ เช่น
- ปัญหาด้านความสัมพันธ์ อาการง่วงนอนที่เกิดขึ้นระหว่างวันอาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด โดยมองว่าผู้ป่วยขี้เกียจหรือไม่กระตือรือร้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจมีโอกาสหลับไปในขณะมีเพศสัมพันธ์จนเกิดปัญหากับคู่รักตามมาได้
- ปัญหาด้านการทำงาน ความง่วงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดปัญหาในการทำงานตามมา
- โรคอ้วน ผู้ป่วยโรคลมหลับอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การใช้ยาบางชนิด การละเลยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารในปริมาณมากเกินไป ภาวะขาดไฮโปเครติน เป็นต้น
- อุบัติเหตุ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ มีดบาด หรือไฟลวก หากผล็อยหลับขณะขับรถหรือทำอาหาร
การป้องกันโรคลมหลับ
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคลมหลับที่ได้ผล แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้โดยหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคลมหลับ ดังนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- พยายามตื่นนอนและเข้านอนในเวลาเดิมเป็นประจำทุกวัน
- เสริมสร้างสุขภาพจิตให้มีอารมณ์ดีเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความเครียด