ความหมาย โรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder)
โรคหลายบุคลิก หรือโรคหลายอัตลักษณ์ (Dissociative Identity Disorder) เป็นโรคทางจิตเวชรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตลักษณ์หรือบุคลิกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป ซึ่งจะสลับสับเปลี่ยนไปมาในตนเอง โดยระบบความจำ การรับรู้ ความคิด และความรู้สึกมักแยกขาดออกจากกัน ผู้ป่วยบางรายจึงอาจไม่สามารถจดจำตนเองได้เมื่ออีกอัตลักษณ์หนึ่งปรากฏออกมาแทนที่
สาเหตุของโรคหลายบุคลิกมักเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง อย่างการถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก เมื่อผู้ป่วยต้องเจอกับเหตุการณ์ที่รุนแรง สมองจึงสร้างกลไกป้องกันตัวเองโดยเปลี่ยนเป็นอีกอัตลักษณ์เพื่อตัดขาดจากความทรงจำและตัวตนเดิม
อย่างไรก็ตาม โรคหลายบุคลิกเป็นโรคที่พบได้ยาก แต่สามารถพบได้ในทุกช่วงวัยและมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากนี้ อาการของผู้ป่วยอาจมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงอาการร้ายแรงที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการของโรคหลายบุคลิก
อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่อยู่ภายในเพื่อกำหนดความเป็นตัวตนและบุคลิกภาพของแต่ละคน คนทั่วไปจะมีเพียงอัตลักษณ์เดียว แต่ในผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกอาจมีสองอัตลักษณ์หรือมากกว่านั้นผสมกันอยู่ในตัว โดยแต่ละอัตลักษณ์ในตัวผู้ป่วยอาจมีชื่อ เพศ อายุ หรืออุปนิสัยแตกต่างกันไป และจะสับเปลี่ยนกันเข้าควบคุมความคิด การรับรู้ต่อสภาพแวดล้อม และพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว
ผู้ป่วยโรคหลายบุคลิกอาจมีลักษณะอาการต่อไปนี้
- รู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มองดูการกระทำของตนเอง ผู้ป่วยบางรายอาจได้ยินเสียงผู้อื่นแทรกขึ้นมา อย่างเสียงเด็กหรือเสียงจากภายในที่คอยควบคุมตนเองอยู่
- รู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจในการควบคุมตนเองเมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนไป และอาจรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ เช่น รู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นเด็ก หรือมีร่างกายแข็งแรงขึ้นโดยที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับอัตลักษณ์หลัก เป็นต้น
- อัตลักษณ์รองมักปรากฏออกมาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดหรือได้รับความกดดันทางจิตใจ
- เมื่ออัตลักษณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยบางรายอาจจดจำเรื่องราวขณะนั้นได้ แต่บางรายอาจสูญเสียความทรงจำไปชั่วคราว
นอกจากนี้ อาจพบอาการอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อารมณ์แปรปรวน เบื่ออาหาร มีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า เป็นต้น
สาเหตุของโรคหลายบุคลิก
ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าโรคหลายบุคลิกอาจเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนทางร่างกายและจิตใจมาก่อน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ อาจเกิดขึ้นหลังการประสบเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ การจากไปของคนในครอบครัว หรือการถูกทอดทิ้งเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
โรคหลายบุคลิกจึงอาจเป็นวิธีการรับมือที่ผู้ป่วยสร้างขึ้นโดยไม่รู้ตัวเพื่อตัดขาดตนเองจากสถานการณ์ตึงเครียด หรือพยายามแยกความทรงจำอันเลวร้ายออกจากชีวิต ในบางกรณี การสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างขึ้นมาอาจเป็นกลไกการป้องกันตัวจากความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจจากเหตุการณ์ที่เคยพบเจอในอดีตแม้จะไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นซ้ำอีกในปัจจุบัน
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคหลายบุคลิก ได้แก่ ความเครียด อาการเจ็บป่วย และการนึกถึงประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็กของตัวเองเมื่อเห็นลูกในวัยเดียวกัน
การวินิจฉัยโรคหลายบุคลิก
การวินิจฉัยโรคหลายบุคลิกอาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ข้อสรุป เนื่องจากต้องพิจารณาตัดโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกันออกไป โดยทั่วไป การวินิจฉัยจะประกอบด้วยการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และตรวจร่างกายด้วยวิธีต่าง ๆ โดยอาจใช้วิธีตรวจเลือด การเอกซเรย์ หรือการทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตัดสาเหตุอื่นออกไปที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายโรคหลายบุคลิก เช่น ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ มีปัญหากับการนอนหลับ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง เป็นต้น
หากไม่พบความผิดปกติทางร่างกาย แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยการตรวจทางจิตเวช (Psychiatric Exam) โดยถามคำถามเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม มีการพูดคุยเรื่องอาการของผู้ป่วย และสอบถามประวัติครอบครัวและคนใกล้ชิดด้วยความยินยอมของผู้ป่วย
นอกจากนี้ จิตแพทย์จะใช้เกณฑ์ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต ฉบับที่ 5 (DSM-5) ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน เพื่อประเมินและวินิจฉัยโรคหลายบุคลิก ได้แก่
- ผู้ป่วยแสดงท่าที หรือมีผู้อื่นสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยมีอัตลักษณ์ตั้งแต่สองอัตลักษณ์ขึ้นไป โดยอาจอธิบายได้ด้วยความรู้สึกถูกครอบครอง (Possesion) จากอัตลักษณ์ที่ตนเองไม่ต้องการ ซึ่งแต่ละอัตลักษณ์จะมีรูปแบบการรับรู้ ความเกี่ยวข้อง ความคิดต่อตนเองและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
- ผู้ป่วยมักรู้สึกถึงช่องว่างในความทรงจำขึ้นบ่อยครั้ง โดยอาจหลงลืมข้อมูลส่วนตัว ทักษะความสามารถ เหตุการณ์ในชีวิตที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นหรือเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งไม่ใช่อาการหลงลืมทั่วไป
- อาการต่าง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำตามหลักวัฒนธรรมหรือศาสนา
- อาการต่าง ๆ ไม่ใช่ผลลัพธ์ของการใช้สารใด ๆ อย่างแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือยารักษาโรค ในกรณีที่เป็นเด็ก อาการจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเพื่อนในจินตนาการหรือจินตนาการอื่นของเด็ก
- อาการต่าง ๆ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ หน้าที่การงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
การรักษาโรคหลายบุคลิก
เป้าหมายของการรักษาโรคหลายบุคลิกคือ การยับยั้งอาการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง รวมถึงเชื่อมโยงอัตลักษณ์หรือบุคลิกที่หลากหลายให้รวมเป็นอัตลักษณ์เดียว และช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคหลายบุคลิกคือการเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์ คนรอบข้างควรทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดการต่อต้านและเข้ารับการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการของผู้ป่วย โดยใช้หลายวิธีผสมผสานกัน ดังนี้
จิตบำบัด (Psychotherapy)
เป็นวิธีการรักษาหลักของโรคหลายบุคลิก จิตแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยและช่วยให้ผู้ป่วยพูดคุยเกี่ยวกับความทรงจำอันเลวร้ายได้ดีขึ้นผ่านการเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรับมือในสถานการณ์ตึงเครียด และวิธีพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy)
เป็นวิธีที่เน้นการทำความเข้าใจสาเหตุ พร้อมกำหนดเป้าหมายในการบำบัดรูปแบบความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และฝึกฝนให้ผู้ป่วยมีทักษะในการจัดการกับปัญหาของตนเองได้ดียิ่งขึ้น
การบำบัดในรูปแบบอื่น
การรักษาโรคหลายบุคลิกด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy) พฤติกรรมบำบัด ครอบครัวบําบัด สมาธิบำบัด สะกดจิตบำบัด และดนตรีบำบัด เป็นต้น
การใช้ยา
เนื่องจากไม่มียาที่รักษาโรคหลายบุคลิกได้โดยตรง แต่หากผู้ป่วยมีอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า ผู้ป่วยอาจได้รับยาต้านเศร้า (Antidepressant) ยารักษาโรควิตกกังวล หรือยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic Drug) ตามดุลยพินิจของแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลายบุคลิก
โรคหลายบุคลิกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น
- ภาวะวิตกกังวล และโรคซึมเศร้า
- โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD)
- ความผิดปกติด้านการนอน เช่น ฝันร้าย นอนไม่หลับ หรือละเมอขณะหลับ
- ปัญหาการกินผิดปกติ
- การใช้ยาเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ความผิดปกติทางเพศและบุคลิกภาพ
- ความผิดปกติทางร่างกาย อย่างเวียนศีรษะหรือชัก
- การทำร้ายตนเองหรือมีความคิดฆ่าตัวตาย
การป้องกันโรคหลายบุคลิก
โรคหลายบุคลิกสันนิษฐานว่ามีปัจจัยเสี่ยงมาจากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก อย่างการใช้ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศ การป้องกันไม่ให้เด็กถูกทำร้ายจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลายบุคลิกได้
หากผู้ปกครองมีความเครียดหรือมีปัญหาส่วนตัวใด ๆ ที่กระทบต่อการเลี้ยงดูลูก ควรปรึกษาบุคคลที่ไว้ใจได้ โดยอาจเป็นเพื่อนสนิท แพทย์ประจำตัว นักจิตวิทยา หรือหากพบว่าลูกถูกทำร้ายร้ายกาย ประสบอุบัติเหตุ หรือเคยได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจมาก่อน ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจและเรียนรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์และความคิดของตนเองอย่างเหมาะสม