โรคหืด (Asthma)

ความหมาย โรคหืด (Asthma)

โรคหืด (Asthma) หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่าหอบหืด เป็นโรคที่เกิดจากการหดตัวหรือตีบตันของระบบทางเดินหายใจ เยื่อบุผนังหลอดลมอักเสบ ทำให้ไวต่อสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายมากกว่าคนปกติ เกิดการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม ทำให้หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี้ด อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง หายใจไม่อิ่ม มีอาการไอ เจ็บหน้าอก

โรคหืดเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ ถือเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อสภาพอากาศแปรปรวนหรือมีมลภาวะ ผู้ป่วยจะได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตมากขึ้นและอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการที่อาจกำเริบขึ้น เพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

Asthma

อาการของโรคหืด

อาการของหอบหืดจะเกิดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล บางรายจะมีอาการช่วงระยะหนึ่งแล้วหาย แต่บางรายมีอาการหอบหืดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอาจไม่สามารถคาดเดาช่วงเวลาที่จะเกิดอาการของโรคได้ 

อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยหอบหืด มีดังนี้

  • มีปัญหาเรื่องการหายใจ ผู้ป่วยหายใจสั้น หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจแล้วมีเสียงวี้ด 
  • เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก มักมาพร้อมกับอาการเหนื่อยหอบ
  • ไอ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ โดยเกิดจากการหายใจลำบากหรือการหายใจติดขัด ส่งผลให้หลับไม่สนิท หรือหลับไม่เต็มอิ่ม

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของหอบหืดที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการรักษาหากมีอาการต่อไปนี้

  • หายใจหอบถี่หรือหายใจลำบากมีเสียง และอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
  • เมื่อใช้อุปกรณ์พ่นยา เช่น อัลบิวเทอรอล แล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • มีอาการหายใจหอบเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ในกรณีที่โรคหืดมีอาการรุนแรงขึ้น อาจพบสัญญาณของหอบหืดเด่นชัดขึ้นกว่าเดิม เช่น เกิดอาการของโรคถี่ขึ้นและรบกวนการใช้ชีวิตมากขึ้น หายใจได้ลำบากกว่าเดิม ต้องใช้ยาบรรเทาหรือควบคุมอาการที่กำเริบขึ้นมาบ่อยขึ้น

สาเหตุของโรคหืด  

โรคหืดเกิดจากการที่หลอดลมมีภาวะไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งแวดล้อม เมื่อถูกกระตุ้นจะทำให้กล้ามเนื้อของหลอดลมหดเกร็ง มีการบวมของเยื่อบุบริเวณหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบ ตีบแคบ หายใจลำบาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการตีบแคบ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ หลอดลม การบวมอักเสบของเยื่อบุภายในหลอดลม หรือมีเสมหะจำนวนมากคั่งค้างอยู่ภายในหลอดลม

โดยสาเหตุของโรคหืดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

  • พันธุกรรม มีประวัติการเป็นหอบหืดของคนในครอบครัว
  • โรคภูมิแพ้ สารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญ เช่น ขนสัตว์เลี้ยง ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ สปอร์เชื้อรา เกสรดอกไม้
  • สารเคมี สารเคมีที่ใช้ในบ้านหรือที่ทำงานอาจกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น เช่น กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง สเปรย์แต่งผม รวมไปถึงควันบุหรี่ 
  • การออกกำลังกาย บางคนเกิดอาการของโรคหืดเมื่อต้องออกแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึง ออกกำลังกาย โดยเฉพาะในที่ที่มีอากาศแห้งและเย็น
  • ภาวะทางอารมณ์ มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีความเครียด ส่งผลให้หายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว จึงหายใจแบบลึกบ้างตื้นบ้างสลับกันไปมา
  • สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) และสารกันบูด สารที่เจือปนในอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลไม้แห้ง เบียร์ ไวน์
  • โรคกรดไหลย้อน ภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนในอก กรดไหลย้อนทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหอบหืด มีอาการบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นได้
  • ไวรัสทางเดินหายใจ
  • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การวินิจฉัยโรคหืด

การวินิจฉัยโรคหืดนั้นสามารถทำได้จากการซักประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย แต่จำเป็นต้องอาศัยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคอื่นที่มีลักษณะอาการคล้าย ๆ กัน

ในเบื้องต้น แพทย์จะทำการซักประวัติของการเกิดอาการและสัญญาณของโรคหืดโดยละเอียด รวมทั้งประวัติการเป็นโรคหืดของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจสมรรถภาพของปอด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • สไปโรเมทรีย์ (Spirometry) เป็นเครื่องตรวจสมรรถภาพปอด ซึ่งเป็นการตรวจวัดปริมาตรของอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอด
  • พีค โฟลว์ มิเตอร์ (Peak Flow Meter) เป็นเครื่องวัดความเร็วสูงสุดของลมที่เป่าออกได้ ใช้เพื่อวัดสมรรถภาพของปอด
  • การทดสอบทางหลอดลม (Bronchial Provocation Test) เป็นการวัดความไวของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหืดหรือไม่ จะใช้เมื่อทดสอบโดย 2 วิธีแรกแล้วยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ โดยใช้สารกระตุ้นเช่น สารเมธาโคลีน (Methacholine) มาใช้ในการทดสอบสมรรถภาพของปอด
  • การใช้เครื่องตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินในชีพจร (Pulse Oximetry) ช่วยให้สามารถวัดประเมินภาวะการขาดออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาให้ทันและควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุดเมื่อเกิดอาการ โดยจะแบ่งการรักษาออกเป็น 4 ขั้นตามความรุนแรง ได้แก่

  • มีอาการนาน ๆ ครั้ง (Intermittent Asthma) มีอาการนาน ๆ ครั้ง ช่วงที่มีอาการจะมีอาการน้อยกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนน้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน
  • มีอาการรุนแรงน้อย (Mild Persistent Asthma) มีอาการมากกว่า 1 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/เดือน
  • มีอาการรุนแรงปานกลาง (Moderate Persistent Asthma) มีอาการเกือบทุกวัน หรือมีอาการกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์
  • มีอาการรุนแรงมาก (Severe Persistent Asthma) มีอาการตลอดเวลา

การรักษาโรคหืด

โรคหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาจึงเป็นการควบคุมอาการให้อาการสงบให้ได้นานที่สุด และให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่เป็นปกติสุขด้วยการมีสมรรถภาพปอดใกล้เคียงปกติมากที่สุด

ในผู้ป่วยที่มีอาการจับหืดบ่อย จะรักษาด้วยการลดความรุนแรงของโรคโดยการใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ โดยมีทั้งยาเพื่อลดอาการที่เกิดโดยเฉียบพลันและช่วยควบคุมอาการในระยะยาว ยาที่ใช้รักษาหอบหืด จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • ยาที่ใช้ควบคุมโรคหืด (Controllers) ต้องใช้เป็นประจำเพื่อการรักษาอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (Inhaled Corticosteroid) และยังมียากลุ่มอื่น ๆ ที่สามารถใช้ได้ เช่น ยาต้านลิวโคไทรอีน (Leukotriene Modifier Antagonist) 
  • ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคหืด (Relievers) ใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบ จะใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะเมื่อมีอาการ ได้แก่ ยาพ่นขยายหลอดลมชนิดเบต้า 2 (Beta2-agonists) มีผลให้กล้ามเนื้อเรียบในหลอดลมคลายตัว หากผู้ป่วยมีการใช้ยาพ่นชนิดบรรเทาอาการบ่อยครั้งหรือเป็นประจำ จะเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีอาการเรื้อรังและการควบคุมอาการอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหืด

โดยทั่วไปแล้วโรคหอบหืดจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรังอาจจะมีแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้เป็นไซนัสอักเสบ หรือบางรายอาจเป็นเนื้องอกในโพรงจมูก

อาการแทรกซ้อนและผลกระทบอื่น ๆ เช่น การได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคหอบหืดเป็นเวลานาน หรือหลอดลมตีบแคบลงอย่างถาวร ทำให้มีปัญหาในการหายใจ และเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้

การป้องกันโรคหืด  

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคหอบหืด แต่ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการของตนเอง ควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้โดยการดูแลตนเองและให้ความร่วมมือกับแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งการป้องกันและควบคุมอาการของโรคหอบหืด มีดังนี้

  • ตรวจสอบการหายใจ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการหรือสัญญาณเบื้องต้นก่อนที่อาการหอบจะกำเริบ เช่น ไอ หายใจมีเสียง หายใจสั้น 
  • รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดบวม เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอาการของโรคหืด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรค หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการกำเริบ
  • พบแพทย์และเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เพื่อให้สามารถควบคุมอาการของโรคให้เป็นปกติ ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการของโรคให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติให้ได้ยาวนานที่สุด
  • ผู้ป่วยควรได้รับความรู้เบื้องต้น เช่น การใช้ยาอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ การใช้อุปกรณ์พ่นยา การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างพอเหมาะ รับประทานอาหารที่ช่วยลดการอักเสบและการอุดตันบริเวณทางเดินหายใจ ได้แก่ ผักผลไม้สด ธัญพืช เนื้อปลา รวมทั้งดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ