ตะคริว

ความหมาย ตะคริว

ตะคริว (Muscle Cramp) คือ การหดเกร็งตัวเป็นก้อนแข็งที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างกะทันหัน ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดเมื่อใด โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อน่อง กล้ามเนื้อด้านหลังต้นขา หรือกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขา

ตะคริวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หรืออาจเกิดจากการออกกำลังกายอย่างหักโหม โรคประจำตัว และการใช้ยาบางชนิด ตะคริวมักหายได้เองในเวลาไม่นาน การยืดกล้ามเนื้อและประคบบริเวณที่เป็นตะคริวจะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น

ตะคริว

อาการของตะคริว

อาการส่วนใหญ่ของตะคริวจะเกิดขึ้นที่ขาโดยเฉพาะที่น่อง นอกจากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันแล้ว อาจจะรู้สึกเกร็งกล้ามเนื้อหรือเห็นก้อนแข็ง ๆ เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง

โดยปกติ เมื่อเป็นตะคริวแล้วจะหายไปได้เองและไม่รุนแรงถึงขั้นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากพบอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

  • รู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง และอาการไม่ดีขึ้นหลังจากดูแลตัวเอง
  • ขาบวมแดง หรือผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เป็นตะคริวบ่อย 

สาเหตุของตะคริว

สาเหตุของการเป็นตะคริวยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยมีทั้งตะคริวประเภทที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุและประเภทที่มีสาเหตุร่วมด้วย

ตะคริวประเภทที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ

ตะคริวชนิดนี้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยคาดว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การทำงานของประสาทที่ผิดปกติระหว่างนอนหลับ ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อที่มากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดตะคริวได้ชั่วคราว และการที่เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ตามปกติ

นอกจากนั้น เส้นเอ็นที่หดตัวลงในผู้สูงอายุอาจทำให้เกิดตะคริวได้ ซึ่งเส้นเอ็นเหล่านี้จะเชื่อมจากกล้ามเนื้อกับกระดูก โดยหากเส้นเอ็นหดตัวมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อนั้น ๆ เป็นตะคริว

ตะคริวประเภทที่มีสาเหตุร่วมด้วย

ตะคริวประเภทนี้มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคประจำตัว และการใช้ยาบางชนิด ได้แก่

  • การออกกำลังกาย ซึ่งตะคริวมักจะเกิดขึ้นขณะที่กำลังพักหลังจากการออกกำลังกาย
  • ภาวะที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบ
  • โรคตับ หากตับทำงานได้อย่างไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดสารพิษไปยังกระแสเลือด ซึ่งสามารถทำให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุกหรือหดเกร็งตัว
  • โรคไต อาจทำให้มีเกลือแร่บางชนิดต่ำ และส่งผลให้มีตะคริวได้
  • ภาวะเกลือแร่ในร่างกายต่ำ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม
  • โรคที่ทำให้มีภาวะแคลเซียมต่ำ เช่น บกพร่องฮอร์โมนพาราไทรอยด์
  • การติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น บาดทะยัก (Tetanus) ซึ่งทำให้เกิดตะคริวและการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • การมีสารพิษ (Poisonous) ในเลือด เช่น ตะกั่ว หรือปรอท
  • ภาวะขาดน้ำ สามารถกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริวได้

ยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดตะคริวได้ในบางราย ได้แก่

  • ยาขับปัสสาวะ ซึ่งจะขับของเหลวออกจากร่างกายและใช้เพื่อรักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจวายและโรคเกี่ยวกับไตบางประเภท
  • กลุ่มยาสแตติน (Statins) ใช้รักษาผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ยากรดนิโคตินิก (Nicotinic Acid) รักษาผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
  • ยาราโลซิฟีน (Raloxifene) ใช้ในการป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยทอง
  • ยาไนเฟดิปีน (Nifedipine) ที่ใช้ในการรักษาอาการเจ็บหน้าอก (Angina) หรือโรคเรเนาด์ (Raynaud’s Phenomenon)

นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นตะคริว ได้แก่

  • อายุ ผู้สูงอายุที่เสียมวลกล้ามเนื้อไปมากแล้ว กล้ามเนื้อที่เหลือสามารถเกิดความตึงเครียดได้ง่าย
  • การเสียน้ำของร่างกาย นักกีฬาที่อ่อนล้าและเสียเหงื่อมาก ซึ่งเล่นกีฬาในที่ที่มีอากาศร้อนมักจะเกิดตะคริวได้ง่าย
  • การตั้งครรภ์ การเกิดตะคริวจะพบได้บ่อยในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
  • โรคประจำตัวหรือภาวะทางการแพทย์ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท โรคตับหรือไทรอยด์ มีโอกาสสูงที่จะเกิดตะคริวได้

การวินิจฉัยตะคริว

ในการวินิจฉัยหาสาเหตุของการเป็นตะคริว แพทย์ที่ทำการรักษาจะตรวจร่างกาย และสอบถามอาการ เช่น เป็นตะคริวบ่อยเพียงใด หรือเกิดกับกล้ามเนื้อส่วนใด รวมถึงพฤติกรรมการออกกำลังกาย การดื่มน้ำน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยารักษาโรคประจำตัว 

จากนั้น แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูระดับโพแทสเซียมและแคลเซียมในเลือด รวมถึงการทำงานของไตและไทรอยด์ ตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography) เพื่อวัดการทำงานของกล้ามเนื้อและตรวจความผิดปกติของกล้ามเนื้อ และตรวจประสาทไขสันหลังด้วยการฉีดสี (Myelography) ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพของเส้นประสาทไขสันหลังได้ชัดเจนขึ้น

หากมีอาการอ่อนเพลียอ่อนล้า มีความเจ็บปวดหรือรู้สึกชา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาการเหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาท

การรักษาตะคริว

โดยปกติ ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาอาการได้ด้วยตัวเอง เช่น การประคบร้อนและประคบเย็นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดบริเวณกล้ามเนื้อที่เจ็บ หดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อกระตุก ซึ่งสามารถใช้ผ้าชุบน้ำร้อน แผ่นทำความร้อน ผ้าเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่เป็นตะคริว

นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นตะคริวสามารถรักษาได้ด้วยการบริหารร่างกาย ซึ่งมี 2 ประเภท คือ

การบริหารขณะที่เกิดตะคริวเพื่อบรรเทาความเจ็บและหยุดตะคริว

การยืดเส้นหรือการนวดที่กล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว เช่น การเหยียดเท้าไปด้านหน้าและยกเท้าขึ้นแล้วดัดข้อเท้าให้นิ้วเท้าเข้ามาทางหน้าแข้ง และใช้ส้นเท้าเดินไปรอบ ๆ โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

การบริหารเพื่อป้องกันการเกิดตะคริว

การบริหารเพื่อลดโอกาสเป็นตะคริว ควรบริหารร่างกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อวันละ 3 ครั้ง เช่น หากมักเป็นตะคริวที่น่อง ให้ยืนห่างจากกำแพง 1 เมตร เอนตัวไปข้างหน้าให้มือแตะโดนกำแพง โดยวางเท้าให้แบนราบกับพื้น ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำไปเรื่อย ๆ ให้ครบ 5 นาที เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดควรทำให้ได้วันละ 3 ครั้ง

ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำวิธีการยืดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยลดโอกาสในการเกิดตะคริว เช่น หากเกิดตะคริวขึ้นที่น่อง สามารถใช้มือช่วยดึงเท้าให้สูงเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง และแนะนำให้การดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ

ในรายที่มักเกิดตะคริวตอนกลางคืนและรบกวนขณะนอนหลับเป็นประจำ อาจใช้ยาในการบรรเทาอาการ เช่น

  • ยาแก้ปวด หากมีอาการเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดตะคริว อาจใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการ
  • ยาควินิน (Quinine) เป็นยาที่ใช้ในการรักษามาลาเรีย และสามารถช่วยลดการเกิดตะคริวได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น หูอื้อ เกิดความบกพร่องทางการได้ยิน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ รบกวนการมองเห็น มึนงง หรือร้อนวูบวาบ

ภาวะแทรกซ้อนของตะคริว

การเป็นตะคริวไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ที่น่ากังวล แต่หากในรายที่เกิดรุนแรงมากก็จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายมาก หากเป็นตะคริวที่มีอาการขาบวมแดงหรือผิวหนังเกิดความเปลี่ยนแปลง หรือพบว่ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย เกิดตะคริวขึ้นบ่อยครั้ง หรือรักษาเองไม่หาย ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

การป้องกันตะคริว

วิธีที่จะช่วยป้องกันการเกิดตะคริวได้ง่ายที่สุด คือหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายจนทำให้เกิดการตึงของกล้ามเนื้อมาก ๆ นอกจากนั้น ยังมีวิธีต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดตะคริวได้ ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้มากพอในแต่ละวัน อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย
  • จำกัดการดื่มหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์
  • ยืดและเตรียมกล้ามเนื้อก่อนการเล่นกีฬาและการออกกำลังกายต่าง ๆ
  • ไม่ควรออกกำลังกายทันทีหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
  • ลดปริมาณการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น กาแฟและช็อกโกแลต

นอกจากนั้น ยังสามารถปรึกษาแพทย์ในการรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็น ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดตะคริวได้