โรคเมอร์ส (MERS)

ความหมาย โรคเมอร์ส (MERS)

โรคเมอร์ส (MERS) หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) ซึ่งสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Corona Virus) ผ่านการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อ หรือการอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ ไวรัสชนิดนี้ยังอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไข้หวัด โรคซาร์ส โควิด-19 แต่อาจมีความรุนแรงและลักษณะอื่น ๆ แตกต่างกัน

โรคเมอร์ส เป็นโรคที่พบครั้งแรกในประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส คือประเทศตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน อิรัก อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และซีเรีย โดยในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โรคเมอร์สยังคงจัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความเมื่อพบผู้ติดเชื้อเพื่อเฝ้าระวังโรค

โรคเมอร์ส

สาเหตุของโรคเมอร์ส

เมอร์สเป็นโรคติดต่อในกลุ่มระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะมาจากสัตว์ เพราะมีรายงานพบเชื้อไวรัสโคโรนาในอูฐและค้างคาว ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายไปสู่คน และติดต่อไปสู่ผู้อื่นเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโดยไม่มีการป้องกัน

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อโรคเมอร์สไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายหรือแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเหมือนโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ โดยส่วนมากการติดเชื้อจะเกิดขึ้นในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ บุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่ต้องคลุกคลีกับผู้ป่วยจนสัมผัสโดนสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยผ่านทางการไอหรือจาม  

โดยระยะฟักตัวของโรคเมอร์สนั้นยังไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงประมาณ 2–14 วันหลังการสัมผัสเชื้อไปจนถึงช่วงแสดงอาการ แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 5 วัน ซึ่งการแพร่กระจายมักจะอยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นหลัก เช่น อิหร่าน อิรัก อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย จากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังประเทศในทวีปแอฟริกา ยุโรป เอเชีย และอเมริกา 

อาการของโรคเมอร์ส 

อาการของโรคจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ความรุนแรงจะมีอยู่หลากหลายระดับ ตั้งแต่ไม่มีอาการไปถึงรุนแรงจนอาจเสียชีวิต โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการ ดังนี้ 

โดยในผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการของโรคปอดบวมหรือระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

อาการเมอร์สที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการข้างต้นภายใน 14 วันหลังกลับจากประเทศที่เป็นแหล่งระบาดของโรคหรือพื้นที่ใกล้เคียง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง เพราะอาจเสี่ยงต่อการมีอาการของโรครุนแรงมากกว่าปกติ  

การวินิจฉัยโรคเมอร์ส

สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยโรคเมอร์สจะเป็นการซักประวัติในการสัมผัสโรคของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศในตะวันออกกลางหรือสัมผัสกับผู้ที่มีอาการต้องสงสัยของโรคหลังกลับจากพื้นที่ระบาดภายในช่วง 14 วัน จากนั้นแพทย์อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยยืนยันผลการติดเชื้อ เช่น

  • การตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction: PCR) การตรวจด้วยวิธีพีซีอาร์สามารถตรวจพบเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจเก็บตัวอย่างจากน้ำมูก เสมหะ หรืออุจจาระเพื่อส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา
  • การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิต้านทานต่อเชื้อหรือแอนติบอดี หากผู้ป่วยติดเชื้อจะทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะเชื้อไวรัสโคโรนา จึงอาจตรวจพบแอนติบอดีได้ในเลือดของผู้ติดเชื้อได้
  • การเอกซเรย์ปอด แพทย์อาจเอกซเรย์เพื่อดูลักษณะของปอดว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เพื่อวินิจฉัยโรคเมอร์ส

การรักษาโรคเมอร์ส

ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคเมอร์ส โดยแพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น การใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดไข้ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ (Intravenous fluids) การให้ออกซิเจนสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะขาดออกซิเจน การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาผู้ที่มีอาการปอดบวมร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสสำหรับโรคเมอร์ส แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านไวรัสชนิดอื่น เช่น ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) เพื่อประคับประคองอาการในระหว่างช่วงที่รอผลการตรวจ 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเมอร์ส

โรคเมอร์สเป็นโรคติดต่อในกลุ่มระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคปอดบวม โรคไตวาย โรคระบบหายใจล้มเหลว

การป้องกันโรคเมอร์ส

โรคเมอร์สเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ โดยวิธีป้องกันโรคเมอร์สอาจทำได้หลายวิธี เช่น  

  • ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำเมื่อสัมผัสสิ่งสกปรก ก่อน-หลังการรับประทานอาหาร หรือสิ่งของในที่สาธารณะ
  • ใช้ทิชชูปิดปากเมื่อมีการไอหรือจาม 
  • หลีกเลี่ยงการนำมือที่สกปรกมาสัมผัสโดนบริเวณตา จมูก ปาก 
  • ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกันหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น ใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหาร การจูบ 
  • เลือกรับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกหรือฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว 

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเมอร์ส ดังนั้น การรักษาสุขอนามัยและรักษาสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่มีการระบาดหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ หากมีอาการของโรคเมอร์ส ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงและอาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเมอร์สได้