โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia)

ความหมาย โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia)

โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติจากการขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้ออกซิเจนในร่างกายไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ ไม่เพียงพอและเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด หรือหายใจไม่อิ่ม เป็นต้น

โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ ระบบการดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายมีปัญหา การตั้งครรภ์ หรือการเสียเลือด เป็นต้น ถือเป็นภาวะโลหิตจางชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย

โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

อาการของโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ในช่วงแรกผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอาจไม่พบการเกิดอาการผิดปกติใด ๆ หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย ได้แก่ อ่อนเพลียหรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติแม้จะเป็นการทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ไม่มีสมาธิ การตอบสนองหรือคิดวิเคราะห์ช้าลง

แต่หากร่างกายขาดธาตุเหล็กเป็นเวลานานจนส่งผลให้ภาวะโลหิตจางรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยอาจเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา โดยอาการที่มักพบได้ เช่น

  • เล็บเปราะ ผมร่วง
  • เวียนศีรษะขณะลุกขึ้นยืน
  • ผิวหนังซีด มือหรือเท้าเย็น
  • เจ็บบริเวณหน้าอก หายใจไม่อิ่ม
  • เจ็บลิ้นหรือลิ้นอักเสบ เกิดแผลในปาก
  • ขากระตุกขณะหลับ 
  • เบื่ออาหาร โดยเฉพาะทารกและเด็กที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
  • อยากรับประทานของที่ไม่ใช่อาหารหรือไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร อย่างดินหรือน้ำแข็ง

เนื่องจากภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากพบว่าเริ่มมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการอื่น ๆ อย่างอุจจาระมีสีเข้มหรือมีเลือดปน ประจำเดือนมามาก ปวดบริเวณท้องส่วนบน หรือน้ำหนักตัวลด

นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานธาตุเหล็กเสริมด้วยตัวเอง เนื่องจากการรับธาตุเหล็กมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อตับหรือส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

สาเหตุของโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

โดยทั่วไป ร่างกายจะต้องการธาตุเหล็กในการผลิตฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อการผลิตฮีโมโกลบิน อาจส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ ลดลง หรือเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้

ทั้งนี้ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • การเสียเลือด เนื่องจากธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเซลล์เม็ดเลือดแดง ดังนั้น การเสียเลือดอาจส่งผลให้ธาตุเหล็กในร่างกายลดลงได้ โดยการเสียเลือดอาจมีสาเหตุมาจากประจำเดือน หรือภาวะเลือดออกภายในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer) หลอดอาหารอักเสบ (Esophagitis) ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ (Colon Polyp) หรือการใช้ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และแอสไพรินเป็นระยะเวลานาน
  • อาหารที่รับประทานมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่แล้ว ธาตุเหล็กในร่างกายมักมาจากการรับประทานอาหาร ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดการขาดธาตุเหล็กได้
  • การดูดซึมธาตุเหล็กของร่างกายมีปัญหา โดยปกติแล้วร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณลำไส้เล็ก แต่ในบางกรณี ร่างกายอาจดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง หากกำลังป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับลำไส้อย่างโรคเซลิแอค (Celiac Disease) โรคโครห์น (Crohn Disease) หรือเคยผ่านการผ่าตัดเชื่อมลำไส้เล็กกับกระเพาะอาหาร 
  • การตั้งครรภ์ ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กได้ เนื่องจากธาตุเหล็กในร่างกายของผู้ที่ตั้งครรภ์จะถูกนำไปใช้ในการสร้างฮีโมโกลบินสำหรับทารกในครรภ์

นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจมีโอกาสในการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมากขึ้น เช่น

  • ผู้หญิง เนื่องจากการเสียเลือดในช่วงประจำเดือน
  • ทารกและเด็ก เช่น เด็กที่รับประทานอาหารไม่หลากหลาย เด็กที่ไม่ได้ดื่มนมแม่หรือดื่มนมที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอ เด็กทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำหรือคลอดก่อนกำหนด
  • ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติหรือไม่รับประทานเนื้อ
  • ผู้ที่บริจาคเลือดอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากธาตุเหล็กจะออกไปกับเลือดที่เสียไปด้วย

การวินิจฉัยโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ในเบื้องต้น แพทย์จะซักถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ เช่น

  • ขนาดและสีของเซลล์เม็ดเลือดแดง เนื่องจากผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมักมีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เล็กหรือจางกว่าคนปกติทั่วไป
  • ค่าฮีมาโตคริต (Hematocrit) หรือปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงในเลือดทั่วร่างกาย โดยผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีค่าฮีมาโตคริตต่ำกว่า 39 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ชาย และต่ำกว่า 36 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้หญิง
  • ค่าฮีโมโกลบิน โดยผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจะมีค่าฮีโมโกลบินต่ำกว่า 13 กรัม/เดซิลิตรในผู้ชาย หรือต่ำกว่า 12 กรัม/เดซิลิตรในผู้หญิง
  • ค่าเฟอร์ริติน (Ferritin) หรือโปรตีนที่ช่วยกักเก็บธาตุเหล็กในร่างกาย หากร่างกายมีระดับธาตุเหล็กต่ำก็อาจส่งผลให้ค่า Ferritin ต่ำไปด้วย

หากผลการตรวจเลือดระบุว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าว เช่น

  • การตรวจด้วยการส่องกล้อง โดยการใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้าไปในร่างกายผ่านทางลำคอ หรือช่องทวารหนัก เพื่อตรวจหาจุดที่อาจมีเลือดออก เช่น บริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ หรือลำไส้ตรง เป็นต้น
  • อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หากผู้ป่วยมีประจำเดือนมามากกว่าปกติ แพทย์อาจทำการอัลตราซาวด์บริเวณกระดูกเชิงกรานเพื่อหาสาเหตุของภาวะดังกล่าว อย่างเนื้องอกบริเวณมดลูก

อย่างไรก็ตามแพทย์อาจใช้วิธีการวินิจฉัยดังกล่าวเพิ่มเติมระหว่างการรักษา เพื่อติดตามผลการรักษาของผู้ป่วย

การรักษาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

เมื่อแพทย์วินิจฉัยพบว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กเพื่อเพิ่มระดับธาตุเหล็กในร่างกาย และทำการรักษาภาวะหรือโรคต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก

การรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก

ในการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือนเพื่อให้ระดับธาตุเหล็กในร่างกายกลับสู่ปกติ โดยแพทย์จะกำหนดปริมาณและวิธีการรับประทาน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานขณะท้องว่าง หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกับยาลดกรด

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กพร้อมมื้ออาหาร หากผู้ป่วยมีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือหากผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาลดกรด แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเสริมธาตุเหล็กก่อนรับประทานยาลดกรด 2 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานยาลดกรด 4 ชั่วโมง

นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานธาตุเหล็กร่วมกับวิตามินซี เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น หรือหากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กอย่างอุจจาระมีสีดำหรือท้องผูก แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาระบายที่ช่วยให้อุจจาระนิ่มร่วมด้วย

การรักษาโรคหรือภาวะที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะขาดธาตุเหล็ก

หากอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นแม้จะรับการรักษาด้วยการรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าภาวะขาดธาตุเหล็กอาจเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จึงอาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การให้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานในกรณีที่ผู้ป่วยมีประจำเดือนมามาก การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาอื่น ๆ สำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกในลำไส้ใหญ่

นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กขั้นรุนแรง แพทย์อาจเลือกฉีดธาตุเหล็กผ่านทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วย หรือให้เลือด (Blood Transfusions) เพื่อทดแทนธาตุเหล็กหรือการเสียเลือดในร่างกายทันที

ภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กไม่รุนแรงมักไม่เป็นอันตรายและไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากภาวะดังกล่าวไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ ได้ เช่น

  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เนื่องจากหัวใจต้องสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนระดับออกซิเจนที่ลดลงจากภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว (Tachycardia) หรือเกิดภาวะหัวใจโต และหัวใจวายตามมา
  • ร่างกายเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากการขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกอาจมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
  • หากเกิดในทารกหรือเด็กอาจส่งผลให้มีพัฒนาการช้าหรือเจริญเติบโตช้า 

การป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ในเบื้องต้น อาจลดความเสี่ยงได้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก อย่างเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง สัตว์ปีก อาหารทะเล ถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้แห้ง ธัญพืช ขนมปัง หรือพาสต้า และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารบางประเภทที่ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง อย่างชา กาแฟ นม ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ธัญพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย หรืออาหารที่มีกรดไฟติกสูง

นอกจากนี้อาจเลือกรับประทานอาหารหรือผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น เช่น ส้ม น้ำส้ม บรอกโคลี ฝรั่ง มะละกอ สับปะรด ผักใบเขียว สตรอว์เบอร์รี และมะเขือเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กอย่างทารก อาจยังไม่สามารถรับประทานอาหารได้หลากหลาย ดังนั้น ผู้ปกครองควรป้องกันภาวะดังกล่าว โดยให้ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ดื่มนมแม่หรือนมสูตรเสริมธาตุเหล็ก และอาจให้ทารกที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน รับประทานธัญพืชหรือเนื้อสัตว์บดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เมื่อทารกมีอายุเกิน 1 ปี ควรเริ่มจำกัดปริมาณนม เพื่อให้ทารกรับประทานอาหารที่หลากหลาย