ความหมาย โลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia)
Pernicious Anemia คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ดีได้เพียงพอเพราะขาดวิตามินบี 12 อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรืออาเจียนได้ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 น้อยเกินไป ร่างกายขาดโปรตีนบางชนิดที่มีหน้าที่ดูดซึมวิตามินบี 12 หรือเป็นผลมาจากโรคอื่น เป็นต้น โดยการรักษาในปัจจุบันสามารถทำได้โดย ฉีดวิตามินบี 12 เข้าสู่ร่างกาย รับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินบี 12 หรือรับประทานอาหารเสริม เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและสมองได้
อาการของโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
อาการของ Pernicious Anemia มีหลายรูปแบบซึ่งอาการในผู้ป่วยแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการใด ๆ อาการที่เกิดขึ้นได้มี ดังนี้
- อ่อนเพลีย
- ผิวซีด
- ปวดศีรษะ
- หายใจไม่อิ่ม
- ลิ้นบวม เลือดออกบริเวณเหงือก
- ท้องเสียหรือท้องผูก
- ไม่อยากอาหาร
- น้ำหนักลด
- มีอาการเวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นยืน
- มือหรือเท้าเย็น
หากร่างกายของผู้ป่วยมีวิตามินบี 12 ต่ำเป็นเวลานาน อาจมีผลกระทบต่อระบบประสาทจนเกิดอาการต่าง ๆ เช่น สับสน ฉุนเฉียวง่าย มีปัญหาด้านการใช้สมาธิ รู้สึกชาหรือเสียวซ่าบริเวณมือหรือเท้า เห็นภาพหลอน เป็นโรคหลงผิด โรคซึมเศร้า สูญเสียความจำ หรือประสาทตาฝ่อ เป็นต้น
สาเหตุของโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
Pernicious Anemia เกิดจากร่างกายขาดวิตามินบี 12 เพื่อนำไปสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งมีหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ เมื่อร่างกายได้รับวิตามินชนิดดังกล่าวน้อยลง จึงทำให้เม็ดเลือดแดงเกิดความผิดปกติ และส่งผลกระทบต่อการทำงานของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะในร่างกาย โดยภาวะโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12 นี้เกิดจากหลายปัจจัย เช่น
- ขาดโปรตีนอินทรินสิค (Intrinsic Factor) ที่ช่วยดูดซึมวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากกระเพาะอาหาร โดยสาเหตุของการขาดโปรตีนชนิดนี้ส่วนใหญ่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายไปทำลายเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างโปรตีนชนิดดังกล่าว จึงทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบี 12 ไม่ได้ และยังอาจได้จากโรคผิดปกติทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถสร้างโปรตีนอินทรินสิค การผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือลำไส้ออก เป็นต้น
- บริโภคอาหารที่มีวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ในผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อ Pernicious Anemia ได้ เช่น โรคโครห์น โรคติดเชื้อเอชไอวี อีกทั้งยารักษาเบาหวาน และยากันชักบางชนิดอาจทำให้ร่างกายดูดซับวิตามินบี 12 ได้ยากขึ้นได้่เช่นกัน
การวินิจฉัยโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
เบื้องต้นแพทย์อาจสอบถามประวัติการรักษาของผู้ป่วยร่วมกับตรวจร่างกายทั่วไป และอาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัย เช่น
ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อวัดปริมาณ ฮีโมโกลบิน รวมทั้งยังดูขนาดและรูปร่างของเม็ดเลือดแดงว่าผิดปกติไปหรือไม่
ทดสอบการขาดวิตามินบี 12 โดยทดสอบจากตัวอย่างเลือดเพื่อวัดปริมาณของวิตามินบี 12 ในร่างกาย ซึ่งหากวิตามินชนิดดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำอาจบ่งบอกถึงภาวะขาดวิตามินบี 12 ได้
ตรวจสารภูมิต้านทานต่อโปรตีนอินทรินสิค เป็นการตรวจโดยวิเคราะห์จากเลือด เพื่อหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี้ที่ผิดปกติและอาจสร้างทำลายโปรตีนซึ่งมีหน้าที่ช่วยดูดซึมวิตามินบี 12 และเซลล์กระเพาะอาหารที่สร้างโปรตีนชนิดนี้
การรักษาโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
แพทย์อาจรักษา Pernicious Anemia ได้ด้วยการฉีดวิตามินบี 12 ให้กับผู้ป่วย และแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยจำกัดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการรักษา รวมทั้งอาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนเมนูอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อเพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินบี 12 ที่ได้รับ
โดยช่วงแรกของการรักษา ผู้ป่วยอาจต้องฉีดวิตามินบี 12 ทุกวัน แต่หลังจากปริมาณวิตามินดังกล่าวกลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว แพทย์อาจลดปริมาณการฉีดวิตามินลงเหลือเพียงเดือนละครั้ง และอาจแนะนำนให้ผู้ป่วยรับประทานวิตามินบี 12 เสริม
ภาวะแทรกซ้อนของโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
ภาวะแทรกซ้อนของ Pernicious Anemia มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวเป็นมีเวลานาน อีกทั้งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่แบบถาวรได้ โดยมีตัวอย่าง ดังนี้
- เกิดติ่งเนื้อในกระเพาะอาหารซึ่งอาจพัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในภายหลัง
- กระดูกหักได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณหลัง ต้นขา หรือต้นแขน
- เกิดปัญหาขึ้นกับระบบประสาทและสมอง อย่างมีรู้สึกชาหรือเสียวซ่าบริเวณมือหรือเท้า มีอาการสับสน หรือมีผลกระทบต่อความจำ
- อาจทำให้ผู้หญิงที่ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ได้รับผลออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริง
การป้องกันโลหิตจางเหตุขาดวิตามินบี 12
การป้องกัน Pernicious Anemia ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะดังกล่าว หากเกิดจากการขาดโปรตีนอินทรินสิค ผู้ป่วยจะไม่สามารถป้องกันภาวะดังกล่าวได้ เพราะร่างกายไม่มีโปรตีนที่คอยดูดซึมวิตามินบี 12 เข้าสู่ร่างกาย
หาก Pernicious Anemia เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ อาจป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น เนื้อสัตว์ปีก เนื้อปลา เนื้อวัว ตับ ไข่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว หรืออาหารเสริมที่มีวิตามินบี 12 เป็นต้น หากเป็นผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการรับประทานอาหารเสริม นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมวิตามินชนิดดังกล่าวให้รับประทานอาหารเสริมที่มีวิตามินบี 12 อีกด้วย