ความหมาย ใจสั่น (Palpitation)
ใจสั่น (Palpitation) เป็นอาการที่รู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เต้นไม่เป็นจังหวะ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ออกกำลังกายหนักเกินไป ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือสาเหตุรุนแรง เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
ใจสั่นเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ถึงแม้ว่าจะกำลังทำกิจกรรมทั่วไปหรือกำลังพักผ่อนอยู่ โดยอาการใจสั่นเป็นครั้งคราวอาจไม่ใช่สัญญาณของอันตราย แต่หากอาการใจสั่นเกิดขึ้นบ่อย หรือเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของอาการผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก หายใจถี่ หมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนเกิดอันตรายต่อชีวิต
สาเหตุของใจสั่น
อาการใจสั่นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
สาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจส่งผลให้เกิดอาการใจสั่นได้ เช่น
- นอนหลับไม่เพียงพอ
- ออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก
- รับประทานอาหารปริมาณมากหรือมีรสเผ็ด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชาและกาแฟ
- สูบบุหรี่
บางรายอาจมีอาการใจสั่นหลังจากรับประทานอาหารมื้อหนักที่มีไขมัน น้ำตาล หรือคาร์โบไฮเดรตอยู่มาก หรือรับประทานอาหารที่มีผงชูรส โซเดียม หรือสารไนเตรตผสมอยู่มาก และอาจเกิดอาการได้หลังจากที่รับประทานอาหารบางชนิดหรือเกิดภาวะไวต่ออาหาร
สาเหตุทางด้านจิตใจและอารมณ์
การพบเจอเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัว ความตื่นเต้น อาจทำให้เกิดอาการใจสั่นได้ รวมไปถึงการเป็นโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น โรคแพนิค ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นหรือใจเต้นเร็วได้ เมื่อเกิดอาการตื่นตระหนก (Panic Attack)
การใช้ยารักษาโรคบางชนิด
การใช้ยารักษาโรคบางชนิดอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการใจสั่นได้ เช่น
- ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) หรือยาไมนอกซิดิล (Minoxidil)
- ยาพ่นรักษาโรคหืดบางชนิดที่มีส่วนประกอบของสารกระตุ้น เช่น ซาลบูทามอล (Salbutamol)
- ยาแก้ไอหรือยาแก้หวัด ที่มีส่วนประกอบของยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)
- ยาแก้แพ้ เช่น เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine)
- ยาปฏิชีวนะ เช่น คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- ยารักษาภาวะซึมเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram)
- ยาต้านเชื้อรา เช่น ไอทราโคนาโซล (Itraconazole)
- ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิด เช่น อาหารเสริมธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แคลเซียม โพแทสเซียม
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในบางช่วง เช่น ช่วงระหว่างที่มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการใจสั่นได้
โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
อาการใจสั่นอาจเกิดจากการป่วยเป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับจังหวะการเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ เช่น
- โรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation)
- โรคหัวใจห้องบนเต้นเร็ว (Atrial Flutter)
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) อื่น ๆ เช่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) และหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia)
นอกจากอาการใจสั่นจะเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการเต้นของหัวใจผิดปกติแล้ว อาการใจสั่นยังอาจเกิดโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น
- ลิ้นหัวใจมีปัญหา เช่น ลิ้นหัวใจยาว (Mitral Valve Prolapse)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดที่มีกล้ามเนื้อหนากว่าปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy)
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)
- หัวใจวาย เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ
ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
การมีปัญหาสุขภาพร่างกายบางอย่างอาจส่งผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือเกิดอาการใจสั่นได้ เช่น
- ความผิดปกติของระดับเกลือแร่ (Electrolyte) ในร่างกาย
- ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism)
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycaemia)
- ภาวะโลหิตจาง (Anaemia)
- ภาวะร่างกายขาดน้ำ
- มีไข้สูง ตั้งแต่ 38–41 องศาเซลเซียส
อาการใจสั่น
ใจสั่นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยใจสั่นอาจทำให้รู้สึกถึงอาการต่าง ๆ บริเวณลำคอ ช่องคอ หรือบริเวณหน้าอก เช่น
- รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วหรือแรงกว่าปกติ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
- รู้สึกว่าการเต้นของหัวใจขาดหายไป
อาการใจสั่นที่ควรไปพบแพทย์
อาการใจสั่นที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือเกิดขึ้นไม่บ่อย อาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรืออาการใจสั่นเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณอันตรายต่าง ๆ เช่น
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก
- เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
- หายใจหอบเหนื่อยอย่างรุนแรง
- หน้ามืด เป็นลมหรือหมดสติ
การวินิจฉัยใจสั่น
การวินิจฉัยใจสั่น แพทย์อาจตรวจร่างกายและซักประวัติผู้ป่วย เช่น กิจวัตรประจำวัน ระดับความเครียด และยารักษาโรคที่กำลังใช้อยู่ เพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดอาการใจสั่น
หากแพทย์วินิจฉัยว่าใจสั่นเกิดจากจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจ เป็นการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจหรือภาวะทางหัวใจอื่น ๆ หรือไม่
- เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Holter Monitor) เป็นอุปกรณ์พกพาที่ใช้เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาความผิดปกติจังหวะการเต้นของหัวใจและการทำงานของหัวใจตลอดทั้งวัน
- การตรวจด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Study) เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อหาจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาได้ว่าควรใช้ยาหรือวิธีใดในการรักษา
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เป็นการตรวจดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจด้วยการใช้การสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง
นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ หากสงสัยว่าอาการใจสั่นเกิดจากสาเหตุใดเป็นพิเศษ โดยแพทย์อาจใช้วิธีการวินิจฉัยแตกต่างกันไปขึ้นกับอาการของแต่ละคน เช่น
- การตรวจเลือด เช่น ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ใจสั่น
- การเอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
- การทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Stress Test) เป็นการตรวจสอบการทำงานของหัวใจขณะที่ให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย
- การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram) เป็นวิธีที่ใช้เพื่อหาความผิดปกติหรือตรวจสอบการอุดกั้นของการไหลเวียนโลหิตของหลอดเลือดหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
การรักษาใจสั่น
การรักษาใจสั่นมักรักษาตามสาเหตุ โดยส่วนใหญ่ หากมีอาการไม่รุนแรง ใจสั่นมักจะหายไปได้เอง ซึ่งกรณีนี้อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงหรือหยุดพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันที่ทำให้ใจสั่น เช่น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน
- หยุดสูบบุหรี่
- หยุดใช้ยาที่มีสารกระตุ้นบางชนิด เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้หวัด สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
- ผ่อนคลายความเครียดหรือความวิตกกังวล ด้วยการออกกำลังกายที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น โยคะ ไทชิ หรือบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การฝึกหายใจ อะโรมาเทอราพี (Aromatherapy)
หากหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจให้ใช้ยารักษา เช่น ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ยาแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium Channel Blockers) เพื่อบรรเทาอาการใจสั่น
หากแพทย์พบว่าสาเหตุของใจสั่นมาจากภาวะทางร่างกายหรือโรคประจำตัว แพทย์อาจรักษาและแก้ไขภาวะหรือโรคนั้น ๆ เช่น หากใจสั่นเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจใช้การจี้หัวใจ (Cardiac Ablation) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยรักษาด้วยการใช้สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดผ่านไปยังหัวใจ และใช้พลังงานความร้อนหรือความเย็นจี้รักษาเนื้อเยื่อหัวใจที่เป็นเหตุให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะแทรกซ้อนของใจสั่น
ภาวะแทรกซ้อนของใจสั่นนั้นขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะแทรกซ้อนของใจสั่นที่มีสาเหตุมาจากหัวใจ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้
- หมดสติ เมื่อหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตอาจลดลง และทำให้หมดสติได้ โดยการหมดสติมักเกิดในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือลิ้นหัวใจมีปัญหา
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) สามารถเกิดได้จากอาการใจสั่นที่มีสาเหตุจากภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งอาจทำให้ลิ่มเลือดไปอุดกั้นเส้นเลือดในสมอง จนทำให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้ในที่สุด
- หัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้น้อย แต่เป็นอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้
- หัวใจวาย เป็นผลมาจากการที่หัวใจสูบฉีดอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจทำให้หัวใจวายหรือล้มเหลวได้
การป้องกันใจสั่น
การป้องกันใจสั่นอาจทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการ เช่น
- หลีกเลี่ยงความเครียดหรือความกังวล โดยอาจใช้วิธีการผ่อนคลายความเครียดต่าง ๆ เช่น บำบัดด้วยกลิ่น เล่นโยคะ ฝึกหายใจเข้า-ออกลึก ๆ หรือใช้ยารักษา
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ได้แก่ กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง บุหรี่ หรือยาแก้หวัดบางชนิด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
- ควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ
- หากใช้ยารักษาโรคแล้วทำให้ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหายาชนิดอื่นทดแทน
- หมั่นสังเกตตัวเองว่ารับประทานอาหารชนิดใดแล้วทำให้เกิดอาการ และหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้น
- งดการใช้ยาเสพติดให้โทษ เช่น โคเคนและแอมเฟตามีน (Amphetamine)
นอกจากนี้ ควรติดตามอาการใจสั่นอยู่เสมอ โดยควรบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงที่เกิดอาการใจสั่น เช่น ใจสั่นเกิดขึ้นตอนไหน มีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมหรือไม่ และควรนำข้อมูลเหล่านี้ให้กับแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้หาสาเหตุที่ทำให้ใจสั่น และรักษาอาการต้นเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันอาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นตามมา