ไกลคลาไซด์ (Gliclazide)
Gliclazide (ไกลคลาไซด์) เป็นยาที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งผู้ป่วยต้องใช้ยาควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร
เกี่ยวกับยา Gliclazide
กลุ่มยา | กลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Gliclazide หากไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ |
คำเตือนในการใช้ยา Gliclazide
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา Gliclazide หรือยาตัวอื่นในกลุ่มซัลฟา เช่น ยาไกลพิไซด์ (Glipizide) และยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine)
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่นอยู่ เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคทางอารมณ์ ยารักษาโรคหืด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาสเตียรอยด์ ยาฮอร์โมนเพศ ยารักษาเบาหวานชนิดอื่น และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort)
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาหากมีปัญหาบางอย่างทางสุขภาพ เช่น ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) ระบบไหลเวียนโลหิตมีปัญหาขั้นรุนแรง โรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis) ภาวะโคม่าจากเบาหวาน โรคไต โรคตับ ขาดสารอาหาร มีไข้ ติดเชื้อ หรือต้องเข้ารับการผ่าตัด
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้ หากตั้งครรภ์ระหว่างใช้ยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟันระหว่างใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบก่อน
- การใช้ยา Gliclazide อาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะหรือง่วงซึมได้ ดังนั้น ระหว่างใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
- ผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีห้ามใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ยา Gliclazide เนื่องจากแอลกฮอล์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น ผิวหนังแดงร้อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว
- การใช้ยา Gliclazide อาจส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสง ในระหว่างใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด สวมเสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันแสงแดด และทาครีมกันแดดทุกครั้งที่ต้องเจอแสงแดด
ปริมาณการใช้ยา Gliclazide
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยา Gliclazide จะขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์
ในการใช้ยา Gliclazide เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาชนิดออกฤทธิ์ธรรมดา หรือชนิดออกฤทธิ์นาน (Modified–Release) ที่มีการควบคุมช่วงเวลาการปลดปล่อยยา ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
ในกรณีที่แพทย์ใช้ยาชนิดออกฤทธิ์ธรรมดา แพทย์จะเริ่มต้นโดยการให้รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 40–80 มิลลิกรัม จากนั้น แพทย์จะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาจนถึง 320 มิลลิกรัมหากจำเป็น โดยหากการรับประทานยาในแต่ในละครั้งมีปริมาณเกิน 160 มิลลิกรัมแพทย์จะแบ่งปริมาณการรับประทานยาเป็น 2 ครั้งใน 1 วัน
ส่วนในกรณีที่แพทย์ใช้ยาชนิดออกฤทธิ์นาน แพทย์จะเริ่มต้นโดยให้รับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 30 มิลลิกรัม และจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาครั้งละ 30 มิลลิกรัมหากจำเป็น แต่ปริมาณยาสูงสุดต่อวันจะไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยระยะเวลาการปรับปริมาณยาในแต่ละครั้งจะต้องห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน แต่หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์อาจพิจารณาเพิ่มปริมาณยาหลังจากการปรับปริมาณยาทุก 2 สัปดาห์
การใช้ยา Gliclazide
ผู้ที่ใช้ยา Gliclazide ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากการรับประทานยานี้ให้เห็นผลต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แพทย์อาจนัดผู้ป่วยเป็นระยะเพื่อติดตามอาการและตรวจการตอบสนองต่อยาในระหว่างใช้ยานี้ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
ในการรับประทานยา ผู้ป่วยควรรับประทานยา Gliclazide พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และหากเป็นไปได้ควรรับประทานยาในมื้ออาหารเช้า โดยในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นาน ผู้ป่วยควรรับประทานยาทั้งเม็ดและไม่หักหรือเคี้ยวยา
ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์ทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ
สำหรับการเก็บรักษายา ผู้ป่วยควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความร้อนและความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็ก และที่สำคัญ ห้ามรับประทานยาหากยาหมดอายุ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Gliclazide
การใช้ยา Gliclazide อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ท้องเสีย ท้องผูก อาเจียน อาหารไม่ย่อย อ่อนเพลีย ไอ มีอาการคล้ายหวัด มีไข้ เหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็น ข้อเท้าบวม ขาบวม เท้าบวม ผื่นขึ้น คันตามร่างกาย ปวดข้อ และเจ็บหน้าอก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจพบการเกิดภาวะผิดปกติบางอย่าง อย่างภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ เซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้อาการผิดปกติทางร่างกายตามมา เช่น
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มือสั่น รู้สึกหิวผิดปกติ อ่อนเพลีย สับสน หรือพูดลำบาก เป็นต้น ซึ่งในเบื้องต้น หากผู้ป่วยพบอาการในลักษณะดังกล่าว ให้รับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเพื่อบรรเทาอาการ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม
- ภาวะเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำอาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียผิดปกติ
- ภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำอาจส่งผลให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ไอ หรือมีไข้ขึ้น
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำอาจส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หากพบว่าเลือดไหลไม่หยุด หรือเกิดรอยฟกช้ำตามร่างกายผิดปกติ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่พบอาการในลักษณะข้างต้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีความรุนแรงขึ้น แต่ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยา Gliclazide และไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการที่รุนแรงหลังการใช้ยา เช่น
- อาการที่อาจเป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น มีแผลพุพอง ผิวลอก ผิวบวมแดง หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก พูดลำบาก หรือเกิดอาการบวมบริเวณปาก ใบหน้า ลิ้น และลำคอ
- อาการที่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เช่น ผิวเหลืองหรือตาเหลือง
- เกิดผื่นร่วมกับอาการผิวลอก
- มีไข้ขึ้นร่วมกับการเกิดแผลพุพองบริเวณริมฝีปากหรือดวงตา
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- อุจจาระมีสีดำ อุจจาระปนเลือด หรืออาเจียนมีสีดำ