ความหมาย ไข้หวัดนก
ไข้หวัดนก (Bird Flu หรือ Avian Flu) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอที่เกิดขึ้นในสัตว์ปีก เชื้อไวรัสไข้หวัดนกส่วนใหญ่ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ ยกเว้นสายพันธุ์ H5N1 ที่เกิดการระบาดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2547–2549 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยไทยเพิ่มเติม และสายพันธุ์ H7N9 ที่พบการระบาดในประเทศจีน ซึ่ง 2 สายพันธุ์นี้สามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้
นอกจากนี้ ไข้หวัดนกสายพันธุ์อื่น เช่น H7N7, H9N2, H6N1, H10N8 และ H5N6 อาจระบาดสู่คนได้ แต่เกิดขึ้นได้น้อย และมักไม่ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรง ทั้งนี้ ไข้หวัดนกสามารถพบได้ในช่วงเดือนธันวาคม–มีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงอพยพหนีหนาวของสัตว์ปีกจากโลกซีกเหนือ ในปัจจุบันพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศทั่วโลก โดยมักพบในผู้ที่ต้องสัมผัสกับซากสัตว์ปีก หรือเป็นคนที่ทำงานกับสัตว์ปีก
อาการของไข้หวัดนก
ไข้หวัดนกเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มีระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อก่อนแสดงอาการอยู่ที่ประมาณ 2–5 วัน หากเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 อาจใช้เวลาฟักตัวได้ถึง 17 วัน ในขณะที่สายพันธุ์ H7N9 จะใช้เวลา 1-10 วัน แต่โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วงที่เชื้อฟักตัวจะยังไม่มีอาการใด ๆ แต่หากเข้าสู่ระยะแสดงอาการแล้ว อาการทั่วไปที่พบได้คือ
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะ
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หรือมีน้ำมูกไหล
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเริ่มแรกอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง เจ็บหน้าอก เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล หรือมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน นอกจากนี้ มีผู้ป่วยหลายรายที่ในช่วงแรกพบอาการที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจลำบาก เสียงแหบแห้ง มีเสียงครืดคราดเวลาที่หายใจ มีเสมหะ และบางรายอาจมีเลือดปนออกมาในเสมหะด้วย
สาเหตุของไข้หวัดนก
ไข้หวัดนกเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นนก ไก่ เป็ด ไก่งวง หรือห่าน ทั้งที่เป็นสัตว์ป่าและถูกเลี้ยงในโรงเรือน ซึ่งการติดเชื้อในสัตว์ปีกที่เลี้ยงในระบบปศุสัตว์อาจเกิดขึ้นในขณะการขนส่ง หรือตามสถานที่ที่มีการขายสัตว์ปีก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ติดเชื้อไข้หวัดนก ได้แก่
- การสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งสัตว์ปีกที่ติดเชื้ออาจไม่มีการแสดงอาการป่วยใด ๆ แต่สามารถแพร่เชื้อให้กับมนุษย์ได้ผ่านการสัมผัส
- การสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของสัตว์ปีกที่ติดเชื้อ และการหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
- การอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก
- การอยู่ในสถานที่ขายสัตว์ปีก ไข่ หรือซากสัตว์ปีกที่มีการรักษาอนามัยที่ไม่ดีพอ
- การรับประทานสัตว์ปีกหรือไข่ของสัตว์ปีกโดยไม่ผ่านการปรุงสุก โดยเนื้อสัตว์ปีกที่ปลอดภัยคือเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกด้วยความร้อน 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป ส่วนไข่ของสัตว์ปีก เช่น ไข่ไก่หรือไข่เป็ดควรปรุงจนกว่าไข่ขาวและไข่แดงจะสุก
โรคไข้หวัดนกสามารถเกิดกับคนได้ทุกเพศทุกวัย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะติดเชื้อจากสัตว์สู่คน มีกรณีน้อยมากที่จะติดเชื้อจากคนสู่คน เนื่องจากการติดเชื้อจากคนสู่คนจะต้องมีการสัมผัสที่ใกล้ชิดมาก ๆ จึงจะสามารถติดต่อกันได้
การวินิจฉัยโรคไข้หวัดนก
การวินิจฉัยโรคไข้หวัดนกนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เนื่องจากอาการเริ่มแรกคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ และหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก แพทย์จะทำการตรวจดูอาการภายนอก และซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และสถานที่ที่เดินทางไปครั้งล่าสุด
หากผู้ป่วยเคยมีประวัติอยู่ใกล้สัตว์ปีกหรือสัมผัสกับสัตว์ปีก แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจเลือด เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากจมูกเพื่อส่งตรวจ หรือการตรวจอื่น ๆ เช่น การเอกซเรย์ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของการป่วย ซึ่งคำถามที่แพทย์มักใช้ซักประวัติผู้ป่วยต้องสงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนกมีดังนี้
- เคยอยู่ใกล้กับซากสัตว์ปีก สัตว์ปีกที่ป่วย หรือซากสัตว์ปีกและนกในระยะ 1 เมตรหรือไม่
- ได้รับประทานสัตว์ปีกหรือไข่ที่ไม่ผ่านการปรุงจนสุกหรือไม่
- เคยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มาจากพื้นที่ที่มีการติดเชื้อไข้หวัดนก หรือผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและผู้ป่วยที่เสียชีวิตแบบไม่มีสาเหตุหรือไม่
- ทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการหรือฟาร์มสัตว์ปีกที่อาจมีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกหรือไม่
การรักษาไข้หวัดนก
ไข้หวัดนกสามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเมื่อแพทย์วินิจฉัยได้อย่างแน่ชัดแล้วว่าผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก แพทย์จะให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยแยกผู้ป่วยออกจากผู้ป่วยคนอื่น ๆ และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการของไข้หวัดนกค่อนข้างรุนแรง และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ในช่วงรักษาตัว แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อลดอาการไข้และอาการปวด ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาที่แพทย์มักใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนก คือยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) และยาเพรามิเวียร์ (Peramivir)
ยาทั้งสองชนิดนี้จะช่วยลดความรุนแรงของอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต โดยยาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงหากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากอาการเริ่มแสดง แต่ในกรณีของไข้หวัดนก ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าจะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ ดังนั้นควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด แม้จะพ้นจาก 48 ชั่วโมงแรกหลังแสดงอาการก็ตาม
ภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดนก
โรคไข้หวัดนกสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง โดยอาการแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยไข้หวัดนก ได้แก่
- หายใจถี่และสั้น
- ปวดท้อง
- ภาวะช็อก ซึ่งมักมีระดับความดันโลหิตลดต่ำลงมาก
- หมดสติ
- อาการชัก
นอกจากนี้ อาจพบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ปอดบวม (Pneumonia) ปอดแฟบ หรือมีลมรั่วออกจากปอด (Pneumothorax) ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ไตล้มเหลว ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต
ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกจะแตกต่างจากผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยกลุ่มอายุของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดอาการแทรกซ้อนและเสียชีวิตอยู่ที่วัยเด็กและผู้สูงอายุ
การป้องกันไข้หวัดนก
วิธีป้องกันไข้หวัดนกที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และรักษาสุขอนามัย ดังนี้
- หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค
- ผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ปีกควรสวมหน้ากากปิดจมูก ถุงมือ แว่นตาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสัตว์ปีกหรือเสร็จจากการทำงาน
- ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสัตว์ปีก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยและตาย และห้ามนำไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ พร้อมทั้งสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิด
- ไม่ควรรับประทานเนื้อหรือไข่ของสัตว์ปีกที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยอุณหภูมิ 74 องศาเซลเซียสขึ้นไป
หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก หายใจหอบเหนื่อยขณะหรือหลังกลับจากเดินทาง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ โดยแจ้งประวัติการเดินทางและการสัมผัสสัตว์อย่างละเอียด
ในปัจจุบัน มีการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ป้องกันโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอ H5N1 สำเร็จแล้ว แต่การศึกษาในมนุษย์ยังมีค่อนข้างจำกัด จึงยังรับรองการใช้ในคนทั่วไป และใช้เฉพาะในบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเมื่อมีการระบาดเท่านั้น
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บุคคลทั่วไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยอาจช่วยไม่ให้เกิดการผสมสายพันธุ์กันของโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ในตัวคนที่ทำให้เกิดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงได้