ความหมาย โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus Disease)
โรคติดเชื้อไวรัสซิกาหรือโรคไข้ซิกา (Zika Virus Disease) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika Virus) ที่มียุงลายบ้านเป็นพาหะ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ แต่บางรายอาจมีไข้ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ตาแดง และรู้สึกไม่สบายตัว
การติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่ไม่อันตรายในคนทั่วไป แต่อาจส่งผลร้ายแรงหากเกิดการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ โดยเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรืออาจส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีศีรษะขนาดเล็กกว่าปกติ (Microcephaly)
ไวรัสซิกาเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเฟลวิไวรัส (Flavivirus) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับเชื้อไข้เลือดออกหลายชนิดที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่น เชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ที่ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก เชื้อไวรัสไข้เหลือง (Yellow Fever Virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เหลือง เชื้อไวรัสเจอี (Japanese encephalitis virus) และเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (West nile virus) ต้นเหตุของโรคไข้สมองอักเสบ
อาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
อาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกามักมีความคล้ายคลึงกับโรคในกลุ่มที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้เหลือง โดยอาการจะคงอยู่ประมาณ 2–7 วัน และมักไม่มีอาการร้ายแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
อาการที่มักพบคือ อาการครั่นเนื้อครั่นตัวหรือมีไข้เล็กน้อย ร่วมกับอาการต่อไปนี้
- มีผื่นแดง (Maculopapular) ตามลำตัว แขน และขา
- อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- ตาแดง บริเวณดวงตามีอาการอักเสบของเยื่อบุตา
- อาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- อุจจาระร่วง
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต
สาเหตุของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
สาเหตุหลักของการติดเชื้อไวรัสซิกามักเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด โดยเฉพาะยุงลายบ้าน (Aedes Aegypti) และยุงลายสวน (Aedes Albopictus) ที่มีชุกชุมในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย และยังเป็นยุงประเภทเดียวกับพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ในหลายกรณีที่เชื้อสามารถแพร่กระจายด้วยวิธีอื่น ซึ่งยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อเนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลเพียงเล็กน้อย เช่น
การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์หรือคลอด
แม่ที่มีเชื้อไวรัสอยู่อาจส่งผ่านไวรัสไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้สมองของทารกพัฒนาอย่างผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์หรือหลังจากคลอด ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น เกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด มีพัฒนาการช้า มีปัญหาทางการได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหวร่างกาย และการรับประทานอาหาร
การแพร่เชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์
เชื้อไวรัสซิกาสามารถอยู่ในน้ำอสุจิได้นานหลายเดือนแม้ผู้ที่มีเชื้อจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ
การแพร่เชื้อผ่านการบริจาคเลือด
ผู้รับบริจาคเลือดมีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้จากการรับบริจาคเลือดจากผู้บริจาคที่มีเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังพบได้น้อย ดังนั้น ผู้บริจาคเลือดควรปฏิบัติตามคำแนะนำทั่วไปสำหรับการบริจาคเลือด
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคที่มียุงลายเป็นพาหะเหล่านี้มักมีอาการที่คล้ายคลึงกันมาก จึงยากต่อการแยกโรคในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยเป็นโรคใด แต่มีอาการบางอย่างเป็นตัวบอกความแตกต่างในแต่ละโรคได้
- โรคไข้ซิกา ยังไม่พบอาการที่ชัดเจน แต่มักมีผื่นที่ผิวหนัง บางส่วนมีเยื่อบุตาอักเสบจนทำให้ตาแดง
- โรคไข้เลือดออก มีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง และมีอาการแทรกซ้อนเมื่อไข้เริ่มลด เช่น มีเลือดออกตามผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน และเลือดกำเดาไหล
- โรคชิคุนกุนยา มีไข้สูง ปวดข้ออย่างรุนแรง ปวดตามมือ เท้า หัวเข่า และหลัง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติได้
แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ ลักษณะอาการของโรค ประวัติการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือการอาศัยอยู่ในพื้นที่มีการระบาดของโรค และมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ
โดยวิธีที่มักใช้คือ วิธี RT-PCR (Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction) ที่แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือด หรือปัสสาวะเพื่อนำส่งตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสซิกา นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการตรวจหาภูมิคุ้มกัน (IgM) ด้วยวิธีอิไลซ่า (ELISA) เพื่อหาภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสซิกา
การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาในการรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการของผู้ป่วยที่พบเป็นหลัก และแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ในกรณีที่เป็นไข้หรือมีอาการปวดให้รับประทานยาพาราเซตามอล โดยห้ามรับประทานยาแอสไพริน ยาบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพราะอาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในอวัยวะได้ง่ายขึ้น
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการฝากครรภ์และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับทารกอย่างใกล้ชิด โดยแพทย์อาจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นระยะ เพื่อดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ หรืออาจพิจารณาการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
หากเป็นแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ทารกสามารถรับนมแม่ได้ตามปกติ เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารอาหารและภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อทารก อีกทั้งยังไม่พบข้อมูลมากพอยืนยันเรื่องการแพร่เชื้อชนิดนี้ผ่านทางการให้นมแม่
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
เนื่องจากพบผู้ป่วยในโรคกลุ่มอาการกิลแลง–บาร์เร (Guillain–Barre Syndrome : GBS) มากขึ้นในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิกา จึงสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะเกิดการอักเสบของเส้นประสาทอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อบนใบหน้ามีความผิดปกติ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง มีอาการชา หากอาการรุนแรงอาจเป็นอัมพาตได้
การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเกิดจากยุงลายเป็นสาเหตุหลัก การป้องกันและควบคุมโรคทำได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัด เช่น
- ป้องกันตนเองจากการโดนยุงกัดด้วยการทายากันยุง สวมผ้าสีอ่อนหรือเนื้อหนา
- เมื่ออาศัยอยู่ในบ้าน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง ปิดประตู กางมุ้ง หรือใช้ม่านกันยุง
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณที่อยู่อาศัยและบริเวณรอบบ้าน เช่น ใช้ฝาปิดหรือครอบภาชนะ คว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใส่ทรายอะเบท (ABATE) ในภาชนะที่มีน้ำต่าง ๆ
- หากมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรค หากจำเป็นต้องเดินทางควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตน
- สตรีมีครรภ์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด