ไวรัสลงกระเพาะ

ความหมาย ไวรัสลงกระเพาะ

ไวรัสลงกระเพาะ (Viral Gastroenteritis) คือ ภาวะติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรค หรือใช้เครื่องใช้ที่มีอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายปนเปื้อนเชื้อโรคติดอยู่ รวมทั้งการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรง ผู้ป่วยมักอุจจาระเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักหายจากโรคนี้ได้เอง แต่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังไม่มีวิธีรักษาภาวะนี้โดยตรง ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาประคับประคองตามอาการจนกว่าจะหายดี ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารและน้ำดื่มที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคไวรัสลงกระเพาะ

อาการของไวรัสลงกระเพาะ

ไวรัสลงกระเพาะอาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรีย โดยมีอาการเบื้องต้น ดังนี้

  • อุจจาระเป็นน้ำ ซึ่งมักไม่มีเลือดปนแต่อาจเกิดขึ้นได้หากติดเชื้อรุนแรง
  • เป็นตะคริวบริเวณท้อง และปวดท้อง โดยไม่ได้ปวดเฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือทั้ง 2 อย่าง
  • ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ หรือข้อ
  • มีไข้ต่ำ รู้สึกหนาวสั่น
  • ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด

อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อ 12-48 ชั่วโมง และอาจมีอาการรุนแรงแตกต่างกันตามเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค ซึ่งอาการป่วยมักหายได้เองภายใน 1-3 วัน แต่อาจป่วยยาวนานได้ถึง 10 วัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการ และไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการรุนแรง ดังต่อไปนี้

ทารก

  • อาเจียนนานหลายชั่วโมง
  • ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
  • อุจจาระเป็นเลือดหรือเหลวมาก
  • กระหม่อมบุ๋ม ตาโหล
  • ปากแห้ง หรือร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา
  • นอนมาก ซึมลง หรือไม่ตอบสนอง

เด็กเล็ก

  • มีไข้สูง
  • ซึมลง หรือกระสับกระส่ายผิดปกติ
  • งอแง ไม่สบายตัว หรือปวดท้องมาก
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • เสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยควรสังเกตจากการเปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ดื่มกับการปัสสาวะว่าผิดปกติหรือไม่

ผู้ใหญ่

  • อาเจียนนานกว่า 2 วัน หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง โดยกระหายน้ำมาก ปากแห้ง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มหรือไม่ปัสสาวะ รู้สึกอ่อนเพลียมาก และวิงเวียนศีรษะ
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • มีไข้สูง

สาเหตุของไวรัสลงกระเพาะ

ไวรัสลงกระเพาะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่เยื่อเมือกของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ซึ่งติดเชื้อได้จากพฤติกรรมต่อไปนี้

  • การรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำซึ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร หรือการกลืนเชื้อไวรัสจากเครื่องใช้ที่เปื้อนอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ รวมทั้งการรับประทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนโดยไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น หอยนางรมดิบ เป็นต้น
  • การคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคนี้โดยตรงจนทำให้ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น การใช้แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อน หรือส้อมร่วมกับผู้ป่วย และการสัมผัสมือ เสื้อผ้า หรือผ้าอ้อมที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่

ผู้ที่เสี่ยงเป็นไวรัสลงกระเพาะสูง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มีหลายชนิด เช่น

  • Adenovirus เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยจะเริ่มท้องเสียและอาเจียนหลังจากได้รับเชื้อ 8-10 วัน และอาจมีอาการป่วยนาน 5-12 วัน
  • Rotavirus เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่มักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะทารกอายุ 3-15 เดือน ซึ่งชอบเอามือเข้าปากหรือหยิบสิ่งของเข้าปาก ผู้ป่วยมักมีอาการปรากฏหลังได้รับเชื้อแล้ว 1-3 วัน และอาจป่วยนาน 3-7 วัน แม้ผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่มักไม่แสดงอาการ แต่อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่เด็กเล็กได้เช่นกัน
  • Norovirus เป็นสาเหตุกว่า 18 เปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากไวรัสที่พบทั่วโลกในช่วงปี 2008-2014 มักพบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะระบาดในบ้านที่มีคนอยู่อาศัยร่วมกันหลายคน หรือในที่ชุมชน เช่น โรงเรียน หอพัก สถานเลี้ยงเด็ก และสถานดูแลคนชรา ผู้ป่วยมักมีอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้ว 1-2 วัน และป่วยนาน 1-3 วัน นอกจากนี้ เชื้อไวรัสอาจยังปนเปื้อนอยู่บนพื้นผิวทั่ว ๆ ไปได้นานหลายเดือน จึงควรหมั่นล้างมือให้สะอาดหลังใช้ห้องน้ำหรือทำกิจกรรมใด ๆ

การวินิจฉัยไวรัสลงกระเพาะ

แพทย์มักวินิจฉัยภาวะไวรัสลงกระเพาะจากอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกาย รวมถึงซักประวัติการบริโภคโดยเฉพาะการรับประทานอาหารนอกบ้าน ประวัติอาการท้องเสียของคนในบ้าน และการแพร่ระบาดของโรคนี้ในชุมชน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือแพทย์สงสัยเกี่ยวกับการติดเชื้อ อาจต้องส่งตรวจอุจจาระ ตรวจเลือด ตรวจเพาะเชื้อ และวัดระดับเกลือแร่ในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มเติม

การรักษาไวรัสลงกระเพาะ

ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะไวรัสลงกระเพาะแบบเฉพาะเจาะจง จึงทำได้เพียงประคับประคองตามอาการ และป้องกันภาวะขาดน้ำเป็นหลัก ซึ่งบางกรณี แพทย์อาจรักษาโดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ ให้ใช้ยาบางชนิด และแนะนำวิิธีดูแลอาการด้วยตนเองในระหว่างพักฟื้น

แม้ผู้ป่วยอาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะหลังจากอาเจียนหรืออุจจาระเป็นน้ำ และควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้นทั้งในระหว่างหรือหลังรับประทานอาหาร และจิบน้ำทีละน้อยหากดื่มน้ำลำบาก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ เพราะไม่สามารถทดแทนเกลือแร่ที่เสียไปได้ แต่อาจทำให้ท้องเสียมากขึ้น
  • รับประทานอาหารทีละน้อย โดยเน้นอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าว มันฝรั่ง ขนมปัง ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และกล้วย เพื่อลดการระคายเคืองและช่วยให้กระเพาะอาหารฟื้นตัว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันกับน้ำตาลสูง รวมทั้งอาหารประเภทนม คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ จนกว่าจะหายเป็นปกติ
  • เด็กควรรับประทานอาหารทันทีที่หิว และทารกควรดื่มน้ำนมหรือรับประทานอาหารตามปกติหากมีอาการป่วยไม่รุนแรง แต่หากทารกท้องเสียอย่างรุนแรง ควรให้ดื่มนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส เช่น นมถั่วเหลืองธรรมชาติ นมอัลมอนด์ และน้ำนมข้าว เป็นต้น
  • พักผ่อนมาก ๆ เพราะผู้ป่วยโรคนี้มักรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
  • ผู้ป่วยอาจรับประทานผงเกลือแร่เพื่อช่วยเพิ่มพลังงาน ชดเชยเกลือแร่และน้ำในร่างกาย ป้องกันอาการอ่อนเพลียและภาวะขาดน้ำ โดยผสมผงเกลือแร่กับน้ำตามปริมาณที่กำหนดและจิบทีละน้อย
  • ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาบรรเทาอาการใด ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นซึ่งไม่ควรใช้ยาแอสไพรินเพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อาจรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น โลเพอราไมด์ ซึ่งช่วยลดการบีบตัวและการอักเสบของลำไส้ แต่ไม่ควรรับประทานกลุ่มยาปฏิชีวนะ เพราะไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส

ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสลงกระเพาะ

ภาวะแทรกซ้อนของไวรัสลงกระเพาะที่พบบ่อย คือ ภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน ท้องเสีย และดื่มน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ร่างกายสูญเสียสมดุลเกลือแร่ ทั้งนี้ หากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงอาจทำให้อวัยวะในร่างกายเสียหาย จนผู้ป่วยอาจช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจึงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

สัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะขาดน้ำที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่

ผู้ใหญ่

  • กระหายน้ำมาก
  • ปัสสาวะน้อยและมีสีเข้ม
  • ผิวแห้ง
  • อ่อนแรง เวียนศีรษะ หรือหน้ามืด

เด็กเล็กและทารก

  • ปากและลิ้นแห้ง
  • ร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา
  • ไม่ปัสสาวะนานกว่า 3 ชั่วโมง
  • มีไข้สูง
  • เซื่องซึม หรือกระสับกระส่ายผิดปกติ
  • ตาโหล แก้มตอบ หรือกระหม่อมบุ๋ม

การป้องกันไวรัสลงกระเพาะ

การรับวัคซีน

การป้องกันไวรัสลงกระเพาะจากการติดเชื้อ Rotavirus ทำได้โดยนำเด็กแรกเกิดเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสนี้ ซึ่งมีวัคซีน 2 ชนิด ได้แก่

  • Monovalent Vaccine ทารกต้องเข้ารับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 6 สัปดาห์ และเข้ารับวัคซีนครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ แต่ต้องมีอายุไม่เกิน 24 สัปดาห์
  • Pentavalent Vaccine ทารกต้องเข้ารับวัคซีนชนิดนี้ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน

การดูแลสุขอนามัย

  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรืออาหารที่ปรุงไม่สุก และต้องล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ
  • หากต้องเดินทาง ควรเตรียมน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดไปด้วย ควรดื่มน้ำหรือแปรงฟันโดยใช้น้ำที่เตรียมไว้ และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากที่สาธารณะซึ่งอาจปนเปื้อนเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย
  • ล้างมือ เล็บ และซอกเล็บให้สะอาดเป็นประจำด้วยสบู่กับน้ำสะอาด ใช้เวลาอย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือสัมผัสอาหาร ซึ่งผู้ใหญ่ควรแนะนำวิธีล้างมือที่ถูกต้องแก่เด็กเล็ก รวมทั้งควรพกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและผ้าเช็ดมือสำหรับใช้นอกบ้านด้วย
  • หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น พื้นโต๊ะ เตียงเปลี่ยนผ้าอ้อม ก๊อกน้ำ พื้นห้องน้ำ โถสุขภัณฑ์ และด้ามจับประตูด้วยน้ำผสมสารฟอกขาว โดยผสมสารฟอกขาว 2 ถ้วยในน้ำ 1 แกลลอน
  • สำหรับสถานเลี้ยงเด็ก ต้องแยกห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมกับห้องเตรียมอาหารออกจากกัน ควรมีอ่างล้างมือที่ถูกสุขลักษณะ และมีวิธีการกำจัดผ้าอ้อมที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม