ความหมาย ไวรัสโรต้า
ไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อจากไวรัสโรต้า ไวรัสชนิดนี้มักเข้าสู่ร่างกายผ่านการนำมือ อาหาร หรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีไข้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง พบมากในทารกและเด็ก และมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ หากอาการไม่ดีขึ้น ท้องเสียอย่างรุนแรง หรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ลำตัวเย็น ปัสสาวะลดลง ตาโหล เป็นต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อาการของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อภายใน 2-3 วัน แรกเริ่มมักอาเจียน จากนั้นอาจมีไข้ ท้องเสีย และปวดท้องตามมา โดยอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 3-7 วัน
ผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสโรต้ามักมีอาการไม่รุนแรงหรืออาจไม่แสดงอาการใด ๆ ทว่าหากมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
- ท้องเสียรุนแรงต่อเนื่องนานกว่า 2-3 วัน
- มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ
- มีไข้สูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียส
- มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำอย่างมาก ปากแห้ง ปัสสาวะลดลงหรือปัสสาวะไม่ออก เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เดินเซ เป็นต้น
ส่วนผู้ป่วยวัยทารกและวัยเด็กนั้นมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่จึงควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงต่อไปนี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
- ท้องเสียรุนแรงนานกว่า 24 ชั่วโมง
- อาเจียนบ่อยครั้ง
- อุจจาระมีเลือดปน หรืออุจจาระเป็นสีดำ
- มีไข้สูงตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- เซี่องซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือปวดตามร่างกาย
- มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโบ๋ ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะลดลงหรือไม่มีปัสสาวะ ง่วงนอนผิดปกติ กระหม่อมบุ๋ม ไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เป็นต้น
สาเหตุของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
เชื้อไวรัสโรต้าแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากเชื้อชนิดนี้ทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายคนได้นาน โดยจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก นอกจากนี้ เชื้อไวรัสโรต้ายังสามารถปะปนไปกับอุจจาระของผู้ติดเชื้อตั้งแต่ในช่วงก่อนที่จะแสดงอาการป่วย และสามารถอาศัยอยู่ในร่างกายต่อไปได้นานถึง 10 วันหลังหายดีแล้ว บุคคลเหล่านี้จึงกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว
โรคติดเชื้อไวรัสโรต้าเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป
- ทารกที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยเฉพาะทารกที่อยู่ในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก
- ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก เช่น พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
การวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโรต้านั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย หากมีอาการบ่งชี้ที่คาดว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ แพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระและนำไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยให้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียแต่ไม่พบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจไม่จำเป็นต้องตรวจอุจจาระ เพราะแพทย์มักแนะนำให้รักษาตามอาการที่พบ
การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติได้เอง ในระหว่างนี้ผู้ป่วยควรประคับประคองอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ดื่มน้ำและผงเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายท้องหรืออาเจียน ทั้งนี้ ทารกและเด็กเล็กควรใช้ผงเกลือแร่ตามช่วงวัยโดยเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการ กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงหรือไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตัวเอง แพทย์จะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือด
- รับประทานอาหารที่มีรสอ่อน เช่น แกงจืด ซุป ข้าวต้ม เป็นต้น และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด รวมถึงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง เพื่อป้องกันกระเพาะอาหารระคายเคืองและป้องกันอาการท้องเสียรุนแรงมากขึ้น
- รับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอลเมื่อมีไข้หรือรู้สึกปวด
- รับประทานยาแก้ท้องเสีย โดยผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ท้องเสียภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสียควบคู่ไปกับการดื่มน้ำและผงเกลือแร่ซึ่งเป็นการรักษาหลัก อย่างยา Diosmectite ที่มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่มีอาการไม่รุนแรงมาก มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระลดลงหลังจากใช้ยา Diosmectite ซึ่งยาชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยดูดซับสารพิษในระบบทางเดินอาหารและอาจช่วยยับยั้งเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้ ทั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสารอื่น ๆ
- แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กรับประทาน Probiotics ซึ่งเป็นเชื้อจุลินทรีย์และยีสต์ที่ช่วยฟื้นฟูระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติ
- ผู้ป่วยเด็กไม่จำเป็นต้องงดนมหรืองดอาหาร แต่ควรให้เด็กดื่มนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโทสแทน
- ไม่ควรรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะยาชนิดนี้ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสได้
- ไม่ควรซื้อยาแก้ท้องเสียหรือยาแก้คลื่นไส้และอาเจียนมารับประทานด้วยตัวเอง ยกเว้นเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
โดยปกติ ผู้ติดเชื้อไวรัสโรต้ามักไม่มีอาการแทรกซ้อน ทว่าผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและไม่ได้ดื่มน้ำหรือผงเกลือแร่เพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายเสียไปอย่างเพียงพออาจเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ได้ โดยทารกและเด็กจะเสี่ยงเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้ป่วยวัยอื่น ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
นอกจากนั้น การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจส่งผลให้ลำไส้เกิดความเสียหายและผลิตเอนไซม์แลคเทสที่ร่างกายต้องนำไปใช้ย่อยน้ำตาลแลคโทสได้ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแพ้น้ำตาลแลคโทส ซึ่งทำให้มีอาการท้องอืด จุกเสียดท้อง และถ่ายเหลวหลังจากดื่มนม แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อหายจากการติดเชื้อและลำไส้กลับไปทำงานได้เป็นปกติแล้ว โดยในระหว่างที่มีภาวะดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้ดื่มนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโทสไปก่อน
การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า
โรคติดเชื้อไวรัสโรต้ามีแนวทางการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ ดังนี้
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าให้สะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากใช้ห้องน้ำหรือพาผู้ติดเชื้อไปเข้าห้องน้ำ หลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ทารก ก่อนรับประทานอาหาร ก่อนทำอาหาร และก่อนสูบบุหรี่
- สอนให้เด็กรู้จักรักษาสุขอนามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดจนเป็นนิสัย
- ทำความสะอาดเครื่องใช้ต่าง ๆ ของเด็กให้สะอาดปลอดภัยอยู่เสมอ
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และดื่มน้ำที่ไม่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน
- เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า โดยเฉพาะทารกและเด็กที่มีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ทารกที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคลำไส้กลืนกัน หรือมีอาการติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้ว ไม่ควรรับวัคซีนชนิดนี้
สนับสนุนโดย: