ไส้เลื่อนกระบังลม

ความหมาย ไส้เลื่อนกระบังลม

ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia หรือ Hiatus Hernia) เป็นภาวะที่อวัยวะในช่องท้องอย่างกระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมขึ้นไปยังช่องอกผ่านช่องเปิดของกระบังลม ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใด ๆ แต่หากเป็นรุนแรงขึ้นอาจมีอาการของกรดไหลย้อนหรืออาการอื่น ๆ เช่น แสบร้อนกลางอก มีอาการเรอเปรี้ยวในปากหรือลำคอ รู้สึกแน่นท้องหรือหน้าอก เป็นต้น

ไส้เลื่อนกระบังลมมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือเป็นโรคอ้วน โดยมากมักจะตรวจพบเมื่อไปตรวจสุขภาพหรือไปพบแพทย์ด้วยอาการของโรคอื่น หากเป็นเพียงเล็กน้อย และไม่มีอาการใด ๆ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากเป็นรุนแรง ในขั้นต้นอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่กรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้นก็อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

hiatal hernia

โรคไส้เลื่อนกระบังลมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. Sliding Hiatal Hernia เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด ไส้เลื่อนกระบังลมประเภทนี้เกิดจากอวัยวะบางส่วนของช่องท้องเคลื่อนที่ในลักษณะขึ้น ๆ ลง ๆ จากตำแหน่งปกติขึ้นไปยังช่องอกผ่านช่องบริเวณกระบังลม ซึ่งเป็นช่องที่หลอดอาหารเชื่อมกับกระเพาะอาหารในช่องท้อง
  2. Paraesophageal Hiatal Hernia มีลักษณะคล้ายกับประเภทแรก แต่ในกรณีนี้เกิดจากอวัยวะบางส่วนของช่องท้องจะเคลื่อนผ่านช่องเปิดของกระบังลมมาอยู่ข้าง ๆ หลอดอาหารและค้างอยู่บริเวณนั้น 

อาการของโรคไส้เลื่อนกระบังลม

ผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลมอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หากมีขนาดเล็ก แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายกรดไหลย้อนหรืออาการอื่น เช่น แสบร้อนกลางอก มีอาการเรอเปรี้ยวในปากหรือลำคอ รู้สึกเจ็บผิดปกติบริเวณทรวงอก กลืนลำบาก หายใจถี่ ท้องอืด เจ็บหน้าอก อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำที่เป็นสัญญาณว่าอาจเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวและสงสัยว่าตนเองอาจเป็นไส้เลื่อนกระบังลม ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้เป็นอาการทั่วไป ไม่สามารถระบุว่าเป็นโรคไส้เลื่อนกระบังลมได้แน่ชัด แต่บางครั้งก็อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น ความผิดปกติของหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว แผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโรคไส้เลื่อนกระบังลมมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด เจ็บหรือแน่นหน้าอกมากกว่าปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของภาวะทางเดินอาหารอุดตันหรือบิดตัวที่อาจส่งผลให้เลือดบริเวณช่องท้องไม่ไหลเวียน

สาเหตุของโรคไส้เลื่อนกระบังลม

กระบังลมเป็นอวัยวะที่กั้นระหว่างช่องอกและท้อง ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ โดยมีช่องเล็ก ๆ เปิดอยู่เพื่อเป็นทางให้หลอดอาหารผ่านเชื่อมไปยังกระเพาะอาหารในช่องท้อง ซึ่งไส้เลื่อนกระบังลมจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแอ ทำให้อวัยวะในช่องท้องบางส่วนสามารถเคลื่อนขึ้นไปยังช่องอกผ่านช่องที่เปิดอยู่นี้ได้

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของไส้เลื่อนกระบังลมนั้นยังไม่ทราบชัดเจนนัก แต่คาดว่าเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มักเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ได้มาก เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบังลมตามวัย
  • การบาดเจ็บที่เกิดบริเวณช่องท้อง เช่น หลังจากได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงหรือเป็นผลหลังการผ่าตัดบางประเภท
  • ความผิดปกติของกระบังลมแต่กำเนิดที่มีช่องว่างขนาดใหญ่ผิดปกติ
  • โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน 
  • การตั้งครรภ์
  • สูบบุหรี่ 

นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคนอาจส่งผลให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไส้เลื่อนกระบังลมให้มากขึ้นตามไปด้วย เช่น ไอเรื้อรัง อาเจียน เบ่งขณะขับถ่ายเป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างหนักหรือยกของหนัก เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนกระบังลม

แพทย์จะซักถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนกลางอก เจ็บหน้าอก หรืออาการผิดปกติอื่น แพทย์อาจจะทำการทดสอบโดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์ช่องท้องส่วนบนร่วมกับการกลืนแป้ง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มสารละลายแบเรียม (Barium) และทำการเอกซเรย์เพื่อดูการทำงานของระบบย่อยอาหารส่วนบนของผู้ป่วย โดยภาพจากการเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์มองเห็นตำแหน่งของกระเพาะอาหาร หากกระเพาะอาหารมีส่วนที่นูนหรือยื่นอยู่เหนือกระบังลมจะถือว่ามีอาการของไส้เลื่อนกะบังลม  
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Upper Endoscopy) แพทย์จะสอดท่อที่โค้งงอได้พร้อมกับกล้องขนาดเล็กที่ติดหลอดไฟ (Endoscope) ลงไปในลำคอของผู้ป่วยผ่านหลอดอาหารไปยังช่องท้อง เพื่อตรวจดูลักษณะภายในหลอดอาหารและช่องท้องส่วนบน
  • การตรวจวัดการเคลื่อนไหวของหลอดอาหาร (Esophageal Manometry) เป็นการวัดการบีบตัวของกล้ามเนื้อหลอดอาหารเมื่อกลืนอาหาร เพื่อประเมินความแข็งแรงและการประสานงานของกล้ามเนื้่อของหลอดอาหาร

การรักษาโรคไส้เลื่อนกระบังลม

โดยส่วนมาก ผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลมที่ไม่มีอาการของโรคอาจไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จะให้การรักษาโดยประเมินจากอาการโดยทั่วไป ความรุนแรงของโรค แล้วจึงทำการรักษาตามอาการที่พบ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี ได้แก่

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วย

แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยอาจลองลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลงแต่แบ่งกินหลายมื้อมากขึ้น หากสูบบุหรี่ก็ควรหยุดสูบ หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจกระตุ้นอาการของโรค อย่างเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและอาหารที่มีปริมาณไขมันสูงหรือมีกรดสูง หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังมื้ออาหาร ปรับระดับของหัวเตียงให้สูงขึ้น 6 นิ้วหรือประมาณ 15 เซนติเมตร และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 

การใช้ยา 

ใช้ในการบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกและกรดไหลย้อน ได้แก่ กลุ่มยาลดกรดที่ช่วยปรับสมดุลกรดในกระเพาะอาหาร กลุ่มยาที่ช่วยลดปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร (H2-Receptor Blockers) และกลุ่มยา Proton Pump Inhibitors จะช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในทางเดินอาหาร

การผ่าตัด 

ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยยาหรือมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หลอดอาหารเกิดการอักเสบหรือตีบแคบลง ผู้ป่วยอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์อาจผ่าตัดให้อวัยวะส่วนที่เลื่อนขึ้นไปกลับมายังตำแหน่งปกติและเย็บปิดช่องบริเวณกระบังลมให้เล็กลง หรืออาจผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) ซึ่งวิธีนี้จะทำให้แผลหลังการผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่า

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไส้เลื่อนกระบังลม

การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้พบได้ยาก แต่อาจเกิดแผลในหลอดอาหาร เลือดออกในหลอดอาหาร ภาวะหลอดอาหารตีบเนื่องจากไส้เลื่อนกระบังลมอาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด ซึ่งเกิดจากการไหลเวียนเลือดของลำไส้ลดลงหรือหรือไม่ไหลเวียน จัดว่าอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดฉุกเฉิน

การป้องกันโรคไส้เลื่อนกระบังลม

แม้จะยังไม่มีวิธีป้องกันโรคได้อย่างสิ้นเชิง แต่การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรคแย่ลง ซึ่งสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้ความดันภายในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น เช่น สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง หลีกเลี่ยงการก้มตัวหรือนอนราบหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ หรือภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังรับประทานเสร็จ ไม่ยกของหนัก ไม่ควรออกแรงเบ่งขณะขับถ่าย และควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อลดความเสี่ยงของโรคท้องผูก หากมีอาการไอควรไปพบแพทย์ เพราะอาการเบ่งถ่ายหรือไอเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงให้อาการไส้เลื่อนกะบังลมแย่ลง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ไม่สูบบุหรี่