ความหมาย ไหล่หลุด (Shoulder Dislocation)
ไหล่หลุด (Shoulder Dislocation) เป็นอาการที่ข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า ผู้ที่มีภาวะนี้สามารถสังเกตเห็นอาการได้ชัดจากลักษณะของไหล่ที่ผิดปกติไปจากเดิม รวมถึงอาจมีอาการปวดที่หัวไหล่หรือบริเวณรอบข้างอย่างรุนแรงร่วมด้วย
ไหล่หลุดเป็นภาวะที่กระดูกข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า ซึ่งอาจหลุดทั้งข้อไหล่หรือหลุดเพียงบางส่วน โดยอาการนี้สามารถหลุดได้หลายรูปแบบ เช่น หลุดไปด้านหน้า หลุดไปด้านหลัง หรือหลุดลงมาด้านล่าง แต่ที่พบได้มากมักหลุดไปทางด้านหน้า เนื่องจากข้อไหล่เป็นส่วนที่เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง
สาเหตุของอาการไหล่หลุด
เนื่องจากข้อไหล่เป็นส่วนที่สามารถขยับได้หลายทิศทาง หัวไหล่จึงเป็นส่วนที่มีโอกาสหลุดได้บ่อยที่สุดในร่างกาย โดยสาเหตุของอาการไหล่หลุดที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น
- การหมุนไหล่ที่รุนแรงเกินไป
- การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล รักบี้ ปีนเขา
- การบาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
- การบาดเจ็บจากการหกล้ม โดยแขนกระแทกลงพื้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้บางคนมีโอกาสเกิดอาการไหล่หลุดได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น
- อายุ อายุเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไหล่หลุด โดยพบว่าเด็ก วัยรุ่น หรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงของการเกิดอาการไหล่หลุดได้มากที่สุด
- พันธุกรรม
- มีประวัติการเกิดไหล่หลุดมาก่อน
- ผู้ที่ร่างกายมีความยืนหยุ่นสูงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการไหล่หลุดได้มากกว่า
อาการไหล่หลุด
อาการทั่วไปของผู้ที่มีไหล่หลุดที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด คือ รูปร่างของไหล่ที่ผิดแปลกไป มีลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ และอาจมีลักษณะเป็นก้อนนูนใต้ผิวหนังได้
นอกจากนี้อาจมีอาการปวดรุนแรง บวม ฟกช้ำ ไม่สามารถขยับหรือยกแขนได้ตามปกติ หรือมีอาการชา รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มแทงในบริเวณรอบข้าง เช่น คอหรือแขน และอาจมีความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้นจากอาการกล้ามเนื้อกระตุกที่บริเวณรอบหัวไหล่
สัญญาณสำคัญของอาการไหล่หลุดที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ที่มีอาการไหล่หลุดไม่ควรพยายามเคลื่อนหัวไหล่กลับด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายหรืออาการมีความรุนแรงขึ้น โดยควรรีบไปพบแพทย์ทันที และในระหว่างที่ไปพบแพทย์สามารถปฏิบัติตัวเบื้องต้นตามแนวทางได้ดังต่อไปนี้
- ลดการขยับแขน เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ เอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด หรือกล้ามเนื้อในบริเวณรอบข้อไหล่ได้
- ใช้หมอนหรือม้วนผ้าสอดไว้ระหว่างแขนและลำตัว
- ประคองแขนโดยใช้ที่คล้องแขน โดยงอแขนช่วงล่างขึ้นให้อยู่ในมุมฉากหรืออยู่ที่บริเวณหน้าอก
- ประคบเย็นด้วยน้ำแข็งจะสามารถช่วยลดอาการปวดและบวมที่บริเวณรอบข้อไหล่ได้
การวินิจฉัยอาการไหล่หลุด
ในการวินิจฉัยอาการไหล่หลุด แพทย์จะตรวจร่างกายผู้ป่วยเบื้องต้น ตรวจอาการบวม การไหลเวียนของเลือด และความผิดปกติในบริเวณรอบ ๆ
หากพบว่าอาจมีความเสียหายเกิดขึ้นที่กระดูก แพทย์จะทำการเอกซเรย์เพื่อตรวจสภาพของกระดูกหรือข้อต่อที่บริเวณไหล่ว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อตรวจหาความเสียหายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณนั้นต่อไป
การรักษาไหล่หลุด
การรักษาอาการไหล่หลุดสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิธีการรักษาที่แพทย์อาจใช้ก็เช่น
การจัดกระดูกให้เข้าที่ (Manipulation)
แพทย์จะทำการจัดให้กระดูกกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาระงับประสาท หรือยาชาร่วมด้วยก่อนการรักษา โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยนั่งบนเตียง จากนั้นจะทำการหมุนแขนจนกว่าข้อไหล่จะกลับเข้าที่ ทั้งนี้ แพทย์อาจต้องทำการเอกซเรย์เพิ่มเติมเพื่อตรวจว่ากระดูกกลับเข้าไปที่เบ้าเรียบร้อยแล้ว
การตรึงอวัยวะ (Immobilization)
แพทย์จะใส่ที่คล้องแขนให้กับผู้ป่วยหลังเข้ารับการรักษาด้วยการจัดกระดูกให้เข้าที่เพื่อลดการเคลื่อนไหวของแขนและข้อไหล่เป็นเวลาประมาณ 2–3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการใส่ที่คล้องแขนอาจมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย
การใช้ยา
ปกติผู้ป่วยมักอาการดีขึ้นได้หลังแพทย์ทำการรักษาให้ข้อต่อกลับเข้าที่ แต่บางคนอาจจำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการปวด
การฟื้นฟูสมรรถภาพ
เป็นขั้นตอนเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาความแข็งแรงและการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ให้กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งต้องอาศัยเวลา ไม่ควรรีบทำการฟื้นฟูสมรรถภาพเพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขึ้นได้
การผ่าตัด
แพทย์อาจเลือกทำการผ่าตัดแบบเปิดหรือผ่าตัดแบบส่องกล้อง ขึ้นอยู่กับสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อรักษาอาการข้อต่อ เอ็น เส้นประสาท หรือหลอดเลือดที่ได้รับความเสีย รวมถึงอาจทำในผู้ที่มีอาการไหล่หลุดบ่อยครั้ง ผู้ที่พบว่ามีกระดูกหักร่วมด้วย หรือผู้ที่มีความยืดหยุ่นของข้อต่อที่มากกว่าปกติ (Hyperlaxity) ซึ่งผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีจะมีอัตราการเกิดซ้ำของอาการไหล่หลุดได้มากกว่า
หลังจากทำการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว ผู้ที่มีอาการไหล่หลุดสามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติมที่บ้านได้ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- ลดการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวดที่บริเวณไหล่ และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- ประคบเย็นครั้งละประมาณ 15–20 นาที ในช่วง 1–2 วันแรก เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม เมื่อพบว่ามีอาการที่ดีขึ้นแล้วอาจประคบร้อนเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อครั้งละไม่เกิน 20 นาที
- รับประทานยาบรรเทาอาการปวด เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรืออะเซตามิโนเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ออกกำลังกายภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อไหล่ติด
ภาวะแทรกซ้อนของอาการไหล่หลุด
ผู้ที่มีประวัติอาการไหล่หลุดเกิดขึ้นหลายครั้ง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- กล้ามเนื้อหรือเอ็นฉีกขาด
- เส้นประสาทหรือหลอดเลือดได้รับความเสียหาย
- อาการไหล่คลอน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการไหล่หลุดรุนแรงหรือผู้ที่มีประวัติอาการไหล่หลุดเกิดขึ้นหลายครั้ง
นอกจากนี้ อาการไหล่หลุดเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ ขึ้นอยู่กับการสมานแผลของเนื้อเยื่อหลังเข้ารับการผ่าตัดที่บริเวณข้อไหล่ในการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในครั้งแรก รวมถึงอายุของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีและในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสการเกิดซ้ำของอาการไหล่หลุดได้มากกว่า
การป้องกันอาการไหล่หลุด
ไหล่หลุดมักมีสาเหตุมาจากการกระแทกจากอุบัติเหตุต่าง ๆ รวมถึงการล้มในผู้สูงอายุ การป้องกันหรือลดความเสี่ยงจึงสามารถทำได้ด้วยการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวัน และปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้ราวจับในขณะขึ้นและลงบันได
- ควรมีชุดปฐมพยาบาลไว้ใกล้ตัวในกรณีฉุกเฉิน
- ใช้แผ่นกันลื่นในบริเวณที่เปียก เช่น ห้องน้ำ
- เก็บกวาดบ้านให้โล่ง หรือจัดของให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม
- ปลูกฝังพฤติกรรมให้เด็กมีความระมัดระวังมากขึ้น
- คอยสอดส่องดูแลเด็ก ๆ ในขณะเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
- สวมอุปกรณ์ป้องกันในขณะเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
- หลีกเลี่ยงการเหยียบหรือยืนในบริเวณที่อาจทำให้ล้มง่าย
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อและข้อต่อ