ไอเป็นเลือด

ความหมาย ไอเป็นเลือด

ไอเป็นเลือด (Haemoptysis) คืออาการที่เกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจหรือปอดผิดปกติ  ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน ทำให้เลือดอาจออกมาจากช่องคอ ช่องท้อง หรือปอด ลักษณะและปริมาณของเลือดที่ออกมานั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยอาจมีสีแดงสด ชมพู หรือมีลักษณะเป็นฟองและมีเสมหะผสม หลายคนตกใจเมื่อไอเป็นเลือด อาการนี้เกิดขึ้นได้แม้จะมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงเสมอไปหากมีเลือดเล็กน้อย แต่ถ้าเลือดออกมากควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงได้

ไอเป็นเลือด

อาการไอเป็นเลือด

ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง หรือมีภาวะปอดติดเชื้อ จะมีเลือดออกในปอดทำให้เวลาไอมีเลือดปนออกมากับน้ำลาย มักมีสีแดงสดปริมาณเล็กน้อย บางครั้งอาจไอออกมาเป็นฟอง มีเลือดเป็นลิ่ม ๆ และมีเสมหะผสม แต่หากเลือดออกมามีสีคล้ำและมีเศษอาหารผสม คล้ายกากกาแฟ อาจเป็นเลือดที่มาจากทางเดินอาหารที่กำลังมีปัญหา  ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที หรือหากมีอาการไอเป็นเลือดปริมาณมากและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะร้ายแรง ควรโทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินนำตัวส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อดำเนินการรักษาต่อไป  อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก

สาเหตุของการไอเป็นเลือด

อาการไอเป็นเลือดส่วนใหญ่มีสาเหตุจากโรคหลอดลมพองและโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการไอเป็นเลือดได้ ดังนี้

  • อาการระคายเคืองจากการไอที่มากเกิน การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ เกิดอาการระคายเคืองและไอเป็นเลือดได้
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สาเหตุของไอเป็นเลือดที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (Acute Bronchitis) และการติดเชื้อในปอด หรือปอดบวม (Pneumonia) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงร่วมด้วย อาการไอเป็นเลือดจะดีขึ้นและหายเป็นปกติเมื่อการติดเชื้อได้รับการรักษา
  • หลอดลมพอง คือ ภาวะที่หลอดลมขยายตัวอย่างผิดปกติ และมีการผลิตเมือกมากในทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะไอเป็นเสมหะค่อนข้างมาก หากทางเดินหายใจอักเสบจะไอเป็นเลือดร่วมด้วย
  • วัณโรค เป็นสาเหตุที่พบได้ในไทย ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรังนานมากกว่า 3 สัปดาห์ มีเสมหะเป็นเลือด ไข้สูง นอกจากนี้ ยังมีอาการเหนื่อยง่าย น้ำหนักลด และมีภาวะเบื่ออาหารร่วมด้วย
  • โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นของหลอดเลือดแดงในปอด ผู้ป่วยมักหายใจลำบากอย่างกะทันหัน เจ็บหน้าอก และในบางรายอาจไอเป็นเลือดร่วมด้วย
  • ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุทำให้มีน้ำในช่องปอด ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจลำบาก อาจมีเสมหะเป็นฟองปนเลือด นอกจากนี้ ปัญหาหลอดเลือดต่าง ๆ อาจทำให้เลือดออกในทางเดินหายใจและปอดได้เช่นกัน แต่ภาวะนี้พบได้น้อยมาก
  • มะเร็งปอด อาการไอเป็นเลือดหรือเสมหะเป็นเลือด เป็นอาการหนึ่งของมะเร็งปอด ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่
  • การรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin Dabitagran และ Rivaroxaban ทำให้เกิดภาวะเลือดออก และไอเป็นเลือดได้
  • การอักเสบและความผิดปกติของเนื้อเยื่อ เป็นภาวะที่เกิดกับทางเดินหายใจหรือปอด ทำให้เลือดออกและเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยไอเป็นเลือด สาเหตุของภาวะนี้ เช่น  โรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะเลือดออกในถุงลมและหลอดเลือดฝอยในปอด  (Pulmonary Haemosiderosis)  และอาการไอเป็นเลือดช่วงมีประจำเดือนเนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในปอด (Pulmonary Endometriosis) อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อย
  • การสูดสิ่งแปลกปลอมเข้าจมูกและการบาดเจ็บของปอด การสูดสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่น ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ หรือถั่วลิสงในเด็กเล็ก สามารถทำให้ทางเดินหายใจและปอดเสียหายได้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไอเป็นเลือด
  • ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ บางครั้งแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของอาการไอเป็นเลือดได้ (Idiopathic Haemoptysis) ซึ่งอาจเกิดจากหลอดเลือดเล็ก ๆ ในทางเดินหายใจแตกและทำให้เลือดออก โดยแพทย์จะวินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อตรวจไม่พบสาเหตุอื่น ๆ บางครั้งอาการไอเป็นเลือดเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสาเหตุ และจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก  

การวินิจฉัยอาการไอเป็นเลือด

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักถามประวัติ สีและลักษณะของเลือด รวมถึงอาการอื่น ๆ เพื่อหาว่าเลือดออกมาทางใด ปกติเลือดจะออกจากทางเดินหายใจหรือปอด แต่บางกรณีก็ยากที่จะวินิจฉัยโดยเฉพาะในภาวะต่อไปนี้

  • ภาวะที่มีเลือดออกจากทางปากหรือจมูก และไหลกลับเข้าไปในช่องคอ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอ
  • ภาวะที่ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งอาจมีอาการไอร่วมด้วย

นอกจากการวินิจฉัยข้างต้นแล้ว แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการไอเป็นเลือด ดังนี้

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เพื่อหาความผิดปกติของเลือด และเกร็ดเลือด
  • เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูหลอดเลือดแดง หัวใจ ปอดและกะบังลม
  • เก็บเสมหะส่งเพาะเชื้อ เพื่อหาแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อ
  • วินิจฉัยหลอดเลือดทางรังสีวิทยา เพื่อประเมินการกระจายของหลอดเลือดในปอด
  • ส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) เพื่อหาช่องทางที่เลือดออกมา
  • ตัดชิ้นเนื้อปอดส่งตรวจ เพื่อตรวจดูเนื้อเยื่อ
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูภาพตัดของทรวงอก

วิธีรักษาอาการไอเป็นเลือด

วิธีรักษาอาการไอเป็นเลือดนั้นแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุที่เกิด หากอาการไม่รุนแรงมากแพทย์จะจ่ายยาแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการในเบื้องต้น แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับอาการรายบุคคล ดังนี้

ผู้ป่วยที่มีอาการไอเป็นเลือดไม่รุนแรงมาก

แพทย์จะตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอเป็นเลือด กรณีที่ปอดไม่มีความผิดปกติ แพทย์จะรักษาด้วยยาเฉพาะที่ซึ่งตอบสนองต่อสาเหตุอย่างเหมาะสม

ผู้ป่วยที่มีอาการไอเป็นเลือดปานกลาง

หากผู้ป่วยมีอาการไอเป็นเลือด และมีเลือดออกปริมาณ 30-50 มิลลิลิตร ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์และรับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้

อาการไอเป็นเลือดรุนแรง

อาการไอเป็นเลือดขั้นรุนแรงเป็นภาวะฉุกเฉิน และผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต แพทย์จะรักษาและควบคุมอาการด้วยเทคนิคทางการแพทย์ และการผ่าตัดดังนี้  

  • การช่วยให้ฟื้นคืนสติ กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน แพทย์จะช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นคืนสติด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจเข้าทางด้านซ้ายหรือขวาของหลอดลมใหญ่ เพื่อรักษาค่าออกซิเจนในเลือดให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้เลือดทางหลอดเลือดดำ และสังเกตการแข็งตัวของเลือดร่วมด้วย
  • การรักษาจำเพาะเพื่อควบคุมการไหลของเลือด
    • ตรวจเอกซเรย์หลอดเลือดและสอดสายสวน เพื่ออุดหลอดเลือดไม่ให้เลือดออก ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการไอเป็นเลือดกำเริบขั้นรุนแรง
    • ส่องกล้องตรวจหลอดลม แพทย์จะส่องกล้องดูความผิดปกติของหลอดลม เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษา ดังนี้
      • ใช้น้ำเกลือเย็นจัดในหลอดลมเพื่อชะลอการไหลของเลือด
      • การใช้สารรักษาเฉพาะที่ เช่น ให้สารทรอมบิน (Thrombin) หรือ กาวไฟบรินหยุดเลือดเพื่อทำให้เลือดแข็งตัว
      • การทำบอลลูนเพื่อให้เลือดหยุด
      • การรักษาให้เลือดหยุดด้วยเลเซอร์ (Laser Photocoagulation)
  • การผ่าตัดปอด แพทย์จะพิจารณาวิธีผ่าตัดบริเวณปอดที่มีเลือดออก ให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้
    • ผ่าตัดด้วยการตัดบางส่วนของเนื้อปอดออก (Segmentectomy)
    • ผ่าตัดด้วยการเอาปอดออกทั้งกลีบ (Lobectomy)
    • ผ่าตัดด้วยการตัดปอดออกทั้งข้าง (Pneumonectomy)

การรักษาผู้ป่วยด้วยการผ่าตัดนั้น มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตสูง แพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของทรวงอก และหลอดเลือดในปอดฉีกขาด

  • การทำรังสีบำบัด เพื่อรักษาเนื้องอกของหลอดเลือด และปอดที่ติดเชื้อราแอสเพอร์จิลลัส
  • การใช้ยายับยั้งการสลายลิ่มเลือด ถึงแม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าการใช้ยายับยั้งการสลายลิ่มเลือดช่วยรักษาอาการไอเป็นเลือดได้น้อยมาก แต่การใช้ยาสลายลิ่มเลือดอาจช่วยลดระยะเวลาที่เลือดออกได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการไอเป็นเลือด

อาการไอเป็นเลือดส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ภาวะที่รุนแรง โดยจะมีอาการดีขึ้นและหายได้เอง อย่างไรก็ตาม อาการไอเป็นเลือดอาจมีสาเหตุจากภาวะความผิดปกติอื่น ๆ หรือโรคประจำตัวที่ร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการแย่ลง และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการไอเป็นเลือดรุนแรง นอกจากนี้ อาจเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้

การป้องกันอาการไอเป็นเลือด

ไอเป็นเลือดส่วนใหญ่ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่ควรป้องกันตัวเองด้วยการดูสุขภาพร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ซึ่งทำลายสุขภาพปอดและทางเดินหายใจ ระวังการสูดเอาสิ่งแปลกปลอมเข้าปากหรือจมูกในเด็กเล็ก ซึ่งจะส่งผลให้ทางเดินหายใจและปอดเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม บางปัจจัยที่เป็นสาเหตุของอาการไอเป็นเลือดสามารถป้องกันได้ยาก เช่น โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เป็นต้น