ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine)

ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine)

Hydroxychloroquine (ไฮดรอกซีคลอโรควิน) เป็นยาที่แพทย์ใช้สำหรับรักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย (Malaria) โดยยาจะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อมาลาเรียบางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ที่เชื้อดื้อยาคลอโรควิน (Chloroquine) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเดียวกัน 

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้ยา Hydroxychloroquine เพื่อรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

ไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine)

เกี่ยวกับยา Hydroxychloroquine

กลุ่มยา ยาต้านมาลาเรีย
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาและป้องกันโรคมาลาเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่ ในกรณีที่ใช้รักษาโรคแพ้ภูมิตัวเองและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้เฉพาะในผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Hydroxychloroquine หากไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์

คำเตือนในการใช้ยา Hydroxychloroquine

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา Hydroxychloroquine และยาในกลุ่มนี้ เช่น ยาคลอโรควิน หรือยาไพรมาควิน (Primaquine) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ก่อนใช้ยา Hydroxychloroquine ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาต่าง ๆ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาแผลกระเพาะอาหาร ยารักษาภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ยารักษาเบาหวาน 
  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนใช้ยา Hydroxychloroquine เกี่ยวกับโรคประจำตัวต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเลือด เบาหวาน โรคทางกระเพาะอาหาร โรคสะเก็ดเงิน โรคพอร์ไฟเรีย ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency) หรือมีประวัติเกิดผลข้างเคียงที่เกี่ยวกับการมองเห็นจากการใช้ยาในกลุ่มต้านมาลาเรีย
  • การใช้ยา Hydroxychloroquine อาจส่งผลกระทบอันตรายต่อหัวใจ โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกับยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติอย่างหัวใจเต้นเร็วหรือหน้ามืด ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • การใช้ยา Hydroxychloroquine ในปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตา โรคไต และกำลังใช้ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติทางดวงตาระหว่างใช้ยานี้ ให้รีบไปพบแพทย์
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Hydroxychloroquine เนื่องจากยังไม่ทราบว่าตัวยาจะส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์หรือไม่ และตัวยาสามารถปนไปกับน้ำนมได้
  • การใช้ยา Hydroxychloroquine ในเด็ก ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์มักไม่ใช้ยานี้ในเด็กติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้สูงอายุที่ใช้ยา Hydroxychloroquine ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่าย
  • ผู้ที่ใช้ยา Hydroxychloroquine ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์และทันตแพทย์ทราบก่อน
  • การใช้ยา Hydroxychloroquine อาจส่งผลให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกแดดระหว่างใช้ยานี้ หากเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยป้องกันแสงแดดและทาครีมกันแดดทุกครั้ง และควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบเมื่อพบอาการผิดปกติทางผิวหนัง
  • การใช้ยา Hydroxychloroquine อาจส่งผลให้เกิดอาการเวียนศีรษะ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาระหว่างใช้ยานี้ 

ปริมาณการใช้ยา Hydroxychloroquine

ปริมาณการรับประทานยา Hydroxychloroquine จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้ อายุของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

โรคมาลาเรีย

ตัวอย่างการใช้ยา Hydroxychloroquine เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียอย่างฉับพลัน

ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกให้รับประทานยาในปริมาณ 800 มิลลิกรัม จากนั้นปรับปริมาณยาเหลือ 400 มิลลิกรัม เมื่อผ่านไป 6–8 ชั่วโมง และให้รับประทานยาต่อไปอีก 2 วัน ในปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือให้รับประทานยาในปริมาณ 800 มิลลิกรัมเพียงครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

เด็ก ในช่วงแรกให้รับประทานยาในปริมาณ 13 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงครั้งเดียว และปรับปริมาณยาเป็น 6.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เมื่อผ่านไป 6 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง

ตัวอย่างการใช้ยา Hydroxychloroquine เพื่อป้องกันโรคมาลาเรีย

ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 400 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเริ่มต้นรับประทานยาก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง 2 สัปดาห์ จากนั้นรับประทานยาต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้รับประทานยาติดต่อกันอีกเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

หรือให้รับประทานยาในปริมาณ 800 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ห่างกัน 6 ชั่วโมง จากนั้นปรับปริมาณยาเป็น 400 มิลลิกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้รับประทานยาติดต่อกันอีกเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

เด็ก รับประทานยาในปริมาณ 6.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเริ่มต้นรับประทานยาก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง 2 สัปดาห์ จากนั้นรับประทานยาต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ละหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้รับประทานยาติดต่อกันอีกเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

หรือให้รับประทานยาในปริมาณ 13 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 6 ชั่วโมง จากนั้นปรับการรับประทานยาเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้รับประทานยาติดต่อกันอีกเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์

ทั้งนี้ การรับประทานยาในแต่ละสัปดาห์ ควรรับประทานยาในวันเดียวกันของสัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อประสิทธิภาพของยาและความปลอดภัยต่อร่างกาย

โรคแพ้ภูมิตัวเอง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ตัวอย่างการใช้ยา Hydroxychloroquine เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ผู้ใหญ่ ในช่วงแรกให้รับประทานยาในปริมาณ 400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยอาจรับประทานยาในครั้งเดียวหรือแบ่งเป็น 2 ครั้ง จากนั้นให้รับประทานยาต่อเนื่องในปริมาณ 200–400 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย แต่แพทย์จะจำกัดปริมาณยาให้ไม่เกิน 6.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน

เด็ก แพทย์จะพิจารณาปริมาณการรับประทานยาของผู้ป่วยแต่ละคนตามความเหมาะสม แต่ปริมาณยาสูงสุดจะไม่เกิน 6.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Hydroxychloroquine

ในการใช้ยา Hydroxychloroquine ผู้ป่วยควรปฏิตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น เนื่องจากการใช้ยาให้เห็นผลควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง

ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารก่อนรับประทานยา Hydroxychloroquine หรืออาจจะรับประทานร่วมกับนม เพื่อป้องกันการเกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยให้รับประทานยาทั้งเม็ด ไม่แบ่ง หัก หรือเคี้ยวยา

หากผู้ป่วยต้องใช้ยาลดกรดร่วมด้วย ควรรับประทานยาลดกรดก่อนหรือหลังการรับประทานยา Hydroxychloroquine อย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพการทำงานของยาที่ดี

เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา ผู้ป่วยอาจเลือกรับประทานยา Hydroxychloroquine ในเวลาเดิมของทุกวัน ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานยาทันทีที่นึกได้ แต่หากใกล้ถึงเวลาในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากลืมรับประทานยาบ่อย ๆ

ในระหว่างที่ใช้ยา Hydroxychloroquine แพทย์อาจนัดผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับ และตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อดูการตอบสนองของยา ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ รวมถึงควรดูแลตัวเองร่วมด้วย หมั่นสังเกตอาการซึ่งอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา

เก็บรักษายา Hydroxychloroquine ไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยเก็บในที่แห้ง หลีกเลี่ยงความชื้น เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรใช้ยา Hydroxychloroquine หากยาหมดอายุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Hydroxychloroquine

การใช้ยา Hydroxychloroquine อาจส่งผลให้ผู้ป่วยพบผลข้างเคียงบางอย่าง โดยอาการที่พบได้บ่อย เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หูอื้อหรือมีเสียงในหู คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล คันผิวหนัง ผื่นขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือผมร่วง ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากพบอาการข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์ทันที หากพบอาการผิดปกติดังต่อไปนี้

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก เกิดอาการบวมบริเวณใบหน้าและลำคอ 
  • สัญญาณของภาวะหัวใจวาย (Heart Failure) เช่น หายใจไม่อิ่ม เท้าหรือข้อเท้าบวม อ่อนเพลียผิดปกติ น้ำหนักขึ้นผิดปกติ 
  • สัญญาณผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นเร็วหรือแรงผิดปกติ หน้ามืด 
  • อาการผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยิน เช่น สูญเสียการได้ยิน 
  • อาการผิดปกติทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น เจ็บผิวหนัง เกิดผื่นสีแดงหรือม่วงร่วมกับแผลพุพอง ผิวลอก 
  • สัญญาณของโรคตับ เช่น ปวดท้องรุนแรง ผิวหนังหรือดวงตาเป็นสีเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม 
  • สัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ ตัวสั่น อยากอาหารมากผิดปกติ มองเห็นไม่ชัด เวียนศีรษะ เกิดอาการสั่นบริเวณมือและเท้า 
  • อาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า หลอน มีความคิดฆ่าตัวตาย 
  • สัญญาณของภาวะเซลล์เม็ดเลือดต่ำ เช่น มีไข้ขึ้น อ่อนเพลีย หนาวสั่น เกิดแผลในปาก เจ็บคอ เกิดรอยช้ำง่าย ผิวซีด มีเลือดออกโดยหาสาเหตุไม่ได้ มือเย็น เท้าเย็น หายใจไม่อิ่ม เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม 
  • อาการผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด อ่านหนังสือลำบาก เห็นภาพบิดเบี้ยว เกิดจุดดำ มองเห็นสีเปลี่ยนไป มองเห็นคล้ายมีหมอกปกคลุม มองเห็นแสงกระพริบ มองเห็นแสงวงกลมรอบดวงไฟ ดวงตาไม่สู้แสง 
  • อาการอื่น ๆ เช่น ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรงขั้นรุนแรง กล้ามเนื้อไม่ตอบสนอง ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ ผมร่วง เส้นผมหรือผิวหนังมีสีเปลี่ยนไป