ความหมาย อะโครเมกาลี (Acromegaly)
Acromegaly หรืออะโครเมกาลี เป็นภาวะที่ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ออกมามากผิดปกติ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่สมส่วน เช่น กระดูกมีขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อเจริญเติบโตเกินกว่าปกติ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปรากฏชัดที่แขน ขา และใบหน้า โดยภาวะนี้มักเกิดในผู้ใหญ่วัยกลางคน แต่หากเกิดขึ้นในเด็ก อาจทำให้เกิดภาวะไจแกนติซึม (Gigantism) หรือเด็กร่างยักษ์ แต่ก็พบได้น้อยมาก
Acromegaly เป็นโรคที่พบไม่บ่อยและมักเกิดอาการขึ้นอย่างช้า ๆ จึงไม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้ในทันที บางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าอาการจะปรากฏชัดเจน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อาการของอะโครเมกาลี
อาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะ Acromegaly ได้แก่
- กระดูกขยายใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะที่ใบหน้า มือ และเท้า
- ขากรรไกรและลิ้นมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ร่างกายเจริญเติบโตเร็วผิดปกติ
- มีขนขึ้นเยอะกว่าปกติ โดยเห็นได้ชัดในเพศหญิง
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ผิวมัน ผิวหยาบกร้านและหนาขึ้น หรือมีติ่งเนื้อ
- มีเหงื่อออกมาก และมีกลิ่นตัวแรง
- ปวดศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนแปลงไป เพราะเส้นเสียงและโพรงอากาศข้างจมูกขยายใหญ่ขึ้น
- กรนอย่างรุนแรง เพราะทางเดินหายใจส่วนบนถูกปิดกั้น
- มีความบกพร่องในการมองเห็น
- มีอาการเจ็บและบวมตามข้อต่อ เคลื่อนไหวข้อต่อลำบาก
- นิ้วมือและนิ้วเท้ามีขนาดใหญ่ และนิ้วห่างกันมาก
- ประจำเดือนมาผิดปกติในผู้หญิง และเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
- ตับ ไต หัวใจ ม้าม และอวัยวะอื่น ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น
- หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น
เนื่องจาก Acromegaly จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สังเกตอาการได้ยากในเบื้องต้น แต่หากพบอาการดังข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของอะโครเมกาลี
Acromegaly เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก โดยมีสาเหตุจากต่อมใต้สมองผลิตโกรทฮอร์โมนออกมามากเกินไป เมื่อโกรทฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือดจึงไปกระตุ้นให้ตับผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้มีการเจริญเติบโตของกระดูกและเนื้อเยื่อมากผิดปกติ
โดยสาเหตุที่อาจทำให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมามากผิดปกติ มีดังนี้
- เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกมีส่วนทำให้โกรทฮอร์โมนถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ หากเกิดจากสาเหตุนี้อาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น ปวดศีรษะ การมองเห็นบกพร่อง เป็นต้น
- เนื้องอกที่ไม่ได้เกิดที่ต่อมใต้สมอง เช่น เนื้องอกที่ปอด เนื้องอกตับอ่อน และเนื้องอกต่อมหมวกไต เป็นต้น ซึ่งเนื้องอกดังกล่าวอาจหลั่งโกรทฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่กระตุ้นให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ออกมามาก
การวินิจฉัยอะโครเมกาลี
ในการวินิจฉัย Acromegaly แพทย์จะตรวจร่างกายและสอบถามอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงอาจทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การตรวจเลือด ซึ่งเป็นการตรวจระดับสารบางอย่างในเลือด เช่น โกรทฮอร์โมน สารคล้ายอินซูลิน (Insulin-Like Growth Factor-1: IGF-1) ระดับน้ำตาล หรือฮอร์โมนอื่น ๆ อย่างฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin) เป็นต้น
- การทดสอบโกรทฮอร์โมนและการหยุดยั้งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone Suppression Test)
- การตรวจจากภาพถ่าย เพื่อหาตำแหน่งของก้อนเนื้องอกที่อาจเป็นสาเหตุ หาความผิดปกติของต่อมใต้สมอง หรือดูผลกระทบและความผิดปกติของตำแหน่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การเอกซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เป็นต้น
นอกจากนั้น แพทย์อาจทดสอบด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบว่าต่อมใต้สมองทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ และอาจตรวจความผิดปกติร่วมอื่น ๆ ในกรณีที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจการทำงานของหัวใจ การประเมินสายตาและการมองเห็น เป็นต้น
การรักษาอะโครเมกาลี
การรักษา Acromegaly ขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย โดยมีเป้าหมายในการรักษา คือ ปรับระดับโกรทฮอร์โมนให้เป็นปกติ ลดแรงกดบริเวณรอบ ๆ เนื้องอกต่อมใต้สมอง ช่วยให้ต่อมใต้สมองทำงานเป็นปกติ รักษาการขาดฮอร์โมนและบรรเทาอาการของโรค
โดยวิธีการรักษา Acromegaly ได้แก่
-
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นทางเลือกแรก ๆ ในการรักษาผู้ป่วย Acromegaly ที่มีสาเหตุมาจากเนื้องอก ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และสุขภาพของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับการผ่าตัดได้ โดยเป็นการผ่าตัดนำเนื้องอกที่เป็นเหตุให้โกรทฮอร์โมนถูกผลิตออกมามากกว่าปกติออกไป โดยทั่วไปวิธีนี้จะช่วยให้ระดับโกรทฮอร์โมนกลับสู่ภาวะปกติ และทำให้อาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ เนื้องอกได้ และอาจต้องรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน รวมทั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่ก็พบได้น้อยมาก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ของเหลวในไขสันหลังรั่วไหล เป็นต้น -
การใช้ยา
การใช้ยาแพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาในกรณีที่การผ่าตัดไม่สามารถรักษาภาวะนี้ได้อย่างสมบูรณ์ หรือไม่สามารถลดระดับโกรทฮอร์โมนลงได้ และในบางครั้งอาจใช้ยาเพื่อลดขนาดของเนื้องอกก่อนทำการผ่าตัดด้วยโดยยารักษาหลัก มี 3 ประเภท คือ ยาลดขนาดก้อนเนื้องอก อาจใช้ก่อนเข้ารับการผ่าตัดสักระยะหนึ่ง หรือใช้ในกรณีอื่น ๆ ตามที่แพทย์เห็นสมควร ยาขัดขวางกระบวนการหลั่งฮอร์โมน เพื่อทำให้โกรทฮอร์โมนถูกผลิตออกมาน้อยลง และยาขัดขวางการทำงานของโกรทฮอร์โมน เพื่อช่วยลดอาการหรือความผิดปกติที่เกิดจากการหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมามากเกินไป
-
การฉายรังสี
การฉายรังสีเพื่อทำลายเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ เนื้องอกส่วนที่เหลือจากการผ่าตัด หรือใช้ในกรณีที่การใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผล โดยสามารถใช้รักษาร่วมกับการใช้ยาเพื่อช่วยลดระดับโกรทฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก สูญเสียการมองเห็น สมองได้รับบาดเจ็บ และเกิดเนื้องอก แต่ก็พบผลข้างเคียงดังกล่าวได้น้อยมาก
ภาวะแทรกซ้อนของอะโครเมกาลี
Acromegaly อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคคอพอก โรคติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โรคหยุดหายใจขณะหลับ สูญเสียการมองเห็น โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ ต่อมใต้สมองทำงานลดลง (Hypopituitarism) เนื้องอกมดลูก และไขสันหลังถูกกดทับ เป็นต้น
การป้องกันอะโครเมกาลี
ภาวะ Acromegaly ไม่สามารถป้องกันได้ แต่หากตรวจพบโรคได้เร็วและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้อาการแย่ลง และช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เพื่อไปพบแพทย์และรับการตรวจรักษาอย่างทันการณ์