ความหมาย ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder)
Borderline Personality Disorder หรือภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง เป็นความผิดปกติทางจิตที่ส่งผลต่อความคิดและความรู้สึกที่ผู้ป่วยมีต่อตนเองและผู้อื่น ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อารมณ์รุนแรง หุนหันพลันแล่น มีความคิดและนิสัยไม่คงที่ ซึ่งส่งผลให้มีปัญหาในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมักพบได้ในวัยผู้ใหญ่และอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น
อาการของภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง
ผู้ป่วยภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่งจะมีความรู้สึกต่อตนเองและผู้อื่นในลักษณะที่ผิดปกติ จึงอาจส่งผลให้แสดงพฤติกรรมและปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นในลักษณะที่สังเกตได้ดังต่อไปนี้
- กลัวการถูกทอดทิ้งอย่างมาก ซึ่งบางครั้งก็อาจจินตนาการไปเองว่าคนรักหรือคนใกล้ชิดมีท่าทีเปลี่ยนไป และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตนเองถูกทอดทิ้งหรือถูกปฏิเสธ หรือเป็นฝ่ายตัดความสัมพันธ์ก่อนเพราะคิดไปว่าตนกำลังจะถูกทอดทิ้ง
- มักมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง มีความรู้สึกแรงกล้า แต่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ให้มั่นคงได้ เช่น จากที่คิดว่าคนรักเป็นคนที่ดีพร้อม ในเวลาต่อมาอาจเชื่อว่าคนรักกลับไม่ใส่ใจตนเท่าที่ควรหรือไม่ดีพอ จากที่รักมากอาจกลายเป็นไม่ชอบหรือโกรธเคือง เป็นต้น
- เปลี่ยนแปลงตัวตนและนิสัย เปลี่ยนเป้าหมายชีวิตหรือสิ่งที่ตนให้คุณค่าอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจคิดว่าตนเป็นคนที่แย่มาก รู้สึกเหมือนว่าไม่เคยมีตัวตนอยู่ เป็นคนนอก หรือรู้สึกว่างเปล่า
- แสดงนิสัยและปฏิบัติตัวกับผู้คนรอบข้างแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าตนมีความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ต่อบุคคลนั้นอย่างไร
- เกิดความเครียด วิตกกังวล หรือหวาดระแวงเป็นบางช่วง โดยไม่สนใจความเป็นจริง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีไปจน 2-3 ชั่วโมง
- หุนหันพลันแล่นหรือมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถประมาท เล่นการพนัน มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย ใช้สารเสพติด มีพฤติกรรมการกินมากผิดปกติ หรืออาจตัดสินใจผิดพลาดโดยไม่ทันคิดให้รอบคอบ เป็นต้น
- อารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหรือ 2-3 วัน โดยอาจเปลี่ยนจากที่มีความสุขมากเป็นหงุดหงิด วิตกกังวล หวาดระแวง หรือละอายใจ
- มีอารมณ์โกรธอย่างรุนแรงจนแสดงพฤติกรรมหรือรับมือความโกรธได้อย่างไม่เหมาะสม เช่น มักควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พูดจาถากถาง ประชดประชัน หยาบคาย หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือ เป็นต้น
- ขู่ฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายร่างกายตนเอง โดยมักเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่าตนกำลังถูกทอดทิ้งหรือถูกปฏิเสธ
สาเหตุของภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง
ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
- พันธุกรรม มีงานวิจัยระบุว่าภาวะบุคลิกภาพผิดปกติอาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยภาวะนี้หรือมีความผิดปกติทางจิตชนิดอื่นที่คล้ายคลึงกันจึงมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
- ความผิดปกติของสมอง นักวิจัยพบว่าผู้ป่วยบุคลิกภาพผิดปกตินั้นมีสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความวู่วาม และการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ อีกทั้งคาดว่าอาจเกิดจากสารเคมีในสมองที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์อย่างเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินทำงานผิดปกติด้วย
- สภาพแวดล้อมและความเครียดในวัยเด็ก อดีตที่เจ็บปวดในวัยเด็กอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทอดทิ้งละเลยในวัยเด็ก พ่อแม่หย่าร้าง พ่อแม่ติดเหล้าหรือสารเสพติด มีปัญหาครอบครัว สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง
ผู้ป่วยภาวะนี้มักมาพบแพทย์เมื่ออาการผิดปกติรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเมื่อรู้สึกว่าตนไม่สามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในเบื้องต้นจิตแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกาย จากนั้นจึงประเมินสุขภาพจิตด้วยการพูดคุย ตอบแบบสอบถาม หรือทำแบบประเมิน โดยมักใช้คู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า DSM-5 ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติหรือมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ อย่างโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลหรือไม่
การรักษาภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง
หลังจากยืนยันผลการวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยมีภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยบอกคนใกล้ชิดอย่างครอบครัวและเพื่อน ๆ ด้วย เพื่อให้คนรอบข้างตระหนักและเข้าใจถึงอาการป่วย ช่วยให้ปรับความเข้าใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในที่สุด ซึ่งอาจทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ส่วนการรักษาในระยะยาวนั้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดทางจิตด้วยการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์และความหุนหันพลันแล่นโดยพยายามสำรวจตัวเองแทนที่จะโต้ตอบออกไปทันที ให้พยายามคงสัมพันธภาพกับผู้อื่นด้วยการสังเกตความรู้สึกของตนเองและผู้อื่นมากขึ้น รับมือกับความคิดต่าง ๆ ด้วยการจดจ่อในสิ่งที่กำลังทำอยู่เท่านั้น รวมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่งให้ตระหนักเข้าใจด้วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องรับประทานยาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ยารักษาภาวะซึมเศร้ายาปรับอารมณ์ให้คงที่ หรือยารักษาโรคจิตเวช เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์ ทั้งนี้ ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ ผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการใช้ยาให้ละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ที่มีแนวโน้มจะทำร้ายร่างกายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย อาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อความปลอดภัย
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง
ภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้างได้ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอารมณ์และพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่น อารมณ์แปรปรวน และควบคุมจัดการกับอารมณ์ของตนเองไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ต้องเปลี่ยนงานหรือออกจากงานบ่อยครั้ง เรียนไม่จบ มีปัญหาชีวิตคู่ หย่าร้าง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการทำผิดกฎหมาย ใช้ความรุนแรง ทำร้ายตนเอง พยายามฆ่าตัวตาย ใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ ทำร้ายร่างกายคนอื่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันจนท้องไม่พร้อมหรือติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือเสี่ยงถูกทำร้ายร่างกายเนื่องจากทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ โรคสมาธิสั้น โรคความผิดปกติทางการกิน ภาวะป่วยทางจิตจากการเผชิญเหตุการณ์รุนแรง และโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
การป้องกันภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง
Borderline Personality Disorder เป็นภาวะที่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างแน่ชัด แต่อาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยทางสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ เช่น ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีสุขภาพจิตที่ดี หรือเลี้ยงดูให้ลูกเป็นคนใจเย็น ไม่วู่วาม และไม่ใช้อารมณ์ เป็นต้น