ความหมาย Pericardial Effusion
Pericardial Effusion คือภาวะที่มีของเหลวสะสมอยู่ภายในถุงเยื่อหุ้มรอบหัวใจมากผิดปกติ โดยเป็นผลมาจากเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ ทำให้เกิดการสร้างของเหลวขึ้นมาสะสมในชั้นระหว่างเยื่อหุ้มหัวใจเป็นปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งอาจไปกดเบียดและรบกวนการทำงานของหัวใจ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือเสียชีวิตได้
โดยปกติเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) จะมีลักษณะเป็นถุงที่มีความแข็งแรง เหนียวและยืดหยุ่นได้ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ระหว่างชั้นจะมีของเหลวสีเหลืองใสปริมาณประมาณ 15-30 มิลลิลิตร โดยจะช่วยห่อหุ้มหัวใจเอาไว้ เพื่อช่วยป้องกันการได้รับบาดเจ็บหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างเยื่อหุ้มหัวใจในขณะที่หัวใจทำงาน
อาการของ Pericardial Effusion
ผู้ป่วยมักจะยังไม่มีอาการแสดงออกมาหากปริมาณน้ำที่สะสมในเยื่อหุ้มหัวใจยังไม่มากนักหรือไม่มีการอักเสบเกิดขึ้น แต่อาการอาจเกิดขึ้นเมื่อเยื่อหุ้มหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้นและน้ำสะสมเป็นเวลานาน ส่งผลให้ถุงเยื่อหุ้มหัวใจไปกดทับบริเวณใกล้เคียง เช่น ปอด ท้อง เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกระบังลม (Phrenic Nerve) หรืออาจเกิดจากภาวะหัวใจวายชนิดคลายตัวผิดปกติ (Diastolic Heart Failure) จากการถูกกดทับจากเยื่อหุ้มหัวใจ โดยอาการที่ผู้ป่วยอาจพบได้ เช่น
- เจ็บหรือแน่นหน้าอกเป็นอาการหลักที่พบได้ มักเกิดขึ้นบริเวณหลังกระดูกหน้าอกหรืออกด้านซ้าย
- หายใจได้สั้นลง หายใจลำบาก รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อหายใจขณะเอนนอน
- อ่อนเพลีย หน้ามืด มือเท้าเย็นและมีเหงื่อออก
- ปวดกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจท้องเสียในกรณีที่ติดเชื้อไวรัส
- รู้สึกแน่นท้อง
- กลืนลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว
ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์หากมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นเวลานานหลายนาที หายใจลำบาก รู้สึกเจ็บขณะหายใจ หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่าสีผิวหรือริมฝีปากมีสีเขียวคล้ำ มีภาวะช็อกหรือความรู้สึกตัวลดลง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Temponade) ที่เป็นภาวะฉุกเฉินและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สาเหตุของ Pericardial Effusion
โดยส่วนมาก Pericardial Effusion มักเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจที่เกิดจากโรคอื่น ๆ การได้รับบาดเจ็บ การระบายของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ เกิดการอุดตันหรือมีเลือดคั่งอยู่ภายในเยื่อหุ้มหัวใจหลังจากการประสบอุบัติเหตุ โดยสาเหตุที่อาจนำไปสู่ Pericardial Effusion เช่น
- เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการผ่าตัดหัวใจหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งหัวใจ มะเร็งในเยื่อหุ้มหัวใจ รวมทั้งการแพร่กระจายของมะเร็ง โดยเฉพาะจากมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma)
- ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)
- ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)
- ภาวะเลือดเป็นพิษจากไตวาย (Uremia)
- การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปรสิต
- การได้รับบาดเจ็บหรือมีแผลถูกแทงใกล้หัวใจ
- การได้รับการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสงครอบคลุมไปถึงบริเวณหัวใจ หรือการรักษาด้วยด้วยเคมีบำบัด เช่น ยาด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) และยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)
- การได้รับยาบางชนิด ได้แก่ ยาไฮดราลาซีน (Hydralazine) ที่ช่วยลดความดันโลหิต ยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ซึ่งเป็นยารักษาวัณโรค และยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) ซึ่งเป็นยารักษาโรคลมชัก
ทั้งนี้ ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Pericardial Effusions) ได้เช่นกัน หากสงสัยว่ามีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่เป็นไปได้
การวินิจฉัย Pericardial Effusion
เนื่องจาก Pericardial Effusion ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ การตรวจวินิจฉัยจึงมักพบอาการผิดปกติจากการตรวจร่างกายส่วนอื่น ๆ โดยทั่วไปแพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram : ECG/EKG) เป็นการบันทึกการทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจผ่านการติดตัวรับกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง เพื่อตรวจภาวะ Pericardial Effusion ภาวะบีบรัดหัวใจ หรือการอักเสบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) ด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย Pericardial Effusion ได้จากช่องว่างระหว่างชั้นของเยื่อหุ้มหัวใจ และแสดงผลการทำงานของหัวใจที่อาจแย่ลง เช่น ความเสียหายบริเวณห้องหัวใจ หรือความสามารถในการสูบฉีดเลือดของหัวใจที่ลดลงเนื่องจากภาวะบีบรัดหัวใจด้วย
- การเอกซเรย์ทรวงอก จะช่วยให้แพทย์ตรวจของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจผ่านภาพฟิล์มเอกซเรย์ที่ชัดเจนมากขึ้น
- การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) แม้จะไม่ถูกนำมาใช้วินิจฉัย Pericardial Effusion มากนัก แต่บางกรณีอาจนำมาใช้ร่วมด้วย
- การตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น อย่างการตรวจเลือดหรือการเก็บตัวอย่างน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจไปวินิจฉัย
การรักษา Pericardial Effusion
การรักษา Pericardial Effusion จะแตกต่างกันตามความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะพิจารณาจากปริมาณน้ำที่สะสมในเยื่อหุ้มหัวใจหรือความเสี่ยงของในการเกิดภาวะบีบรัดหัวใจร่วมด้วย
การรักษาโดยการใช้ยา
หากผู้ป่วยไม่มีอาการของภาวะบีบรัดหัวใจ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาอาการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจที่อาจทำให้เกิด Pericardial Effusion ในภายหลัง เช่น
- ยาแอสไพริน
- ยากลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxane) และยาอินโดเมทาซิน (Indomethacin)
- ยาโคลชิซิน (Colchicine)
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) และยาเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)
- ยาปฏิชีวนะ จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อ
- ยาขับปัสสาวะและยารักษาโรคหัวใจล้มเหลวอื่น ๆ อาจนำมาใช้รักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคหัวใจล้มเหลว
ทั้งนี้ หากภาวะ Pericardial Effusion ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยมีอาการอยู่ก่อน การรักษาจะใช้เคมีบำบัด การฉายแสง และการใช้ยารักษามะเร็งบริเวณทรวงอกร่วมด้วย
การรักษาโดยแพทย์
หากใช้ยาในการรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีน้ำสะสมอยู่ในเยื่อหุ้มหัวใจปริมาณมากจนอาจเสี่ยงต่อภาวะบีบรัดหัวใจ หรือมีอาการของภาวะบีบรัดหัวใจอยู่ก่อนแล้ว แพทย์จะระบายของเหลวที่ค้างอยู่ภายในออก และป้องกันการสะสมของน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจซ้ำอีกในภายหลังด้วยวิธีต่อไปนี้
- การเจาะเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardiocentesis)
แพทย์จะใช้เข็มเจาะและใส่สายสวนดูดระบายของเหลวภายในเยื่อหุ้มหัวใจออก โดยส่วนมากมักใส่สายสวนไว้เป็นเวลา 2-3 วัน ในตำแหน่งที่ดูดระบายของเหลวออก เพื่อป้องกันการกลับมาสะสมของน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจได้อีก
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เครื่องมือช่วยเข้ามาช่วย เช่น เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) การเอกซเรย์ที่เรียกว่าฟลูโอโรสโคปี (Fluoroscopy) เพื่อให้ได้ภาพของอวัยวะภายในร่างกายในขณะนั้น หรืออาจใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้า (EKG/ECG) ที่จะช่วยให้เห็นภาพหัวใจระหว่างการผ่าตัดได้
- การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด
หากผู้ป่วยมีเลือดออกในเยื่อหุ้มหัวใจ โดยเฉพาะหลังการเข้ารับการผ่าตัดหัวใจหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อระบายเลือดออกจากเยื่อหุ้มหัวใจและซ่อมแซมส่วนที่ได้รับความเสียหาย ในบางกรณีอาจใช้วิธีผ่าตัดทำทางเบี่ยงให้ของเหลวถูกระบายออกไปยังช่องท้อง ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถดูดซึมของเหลวได้
- การทำบอลลูนเพื่อระบายของเหลวในเยื่อหุ้มหัวใจ (Balloon Pericardiotomy)
แพทย์จะสอดท่อที่ติดบอลลูนตรงส่วนปลายที่จะช่วยขยายเปิดช่องให้สามารถระบายของเหลวระหว่างชั้นของเยื่อหุ้มหัวใจออกมาได้ แต่อาจไม่นิยมนำวิธีนี้มาใช้ในการรักษามากนัก
- การผ่าตัดเอาเยื่อหุ้มหัวใจบางส่วนหรือทั้งหมดออก
วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยกลับมามีอาการอีกครั้งแม้จะรักษาด้วยการใส่สายสวนระบายของเหลวออกแล้ว
ภาวะแทรกซ้อนของ Pericardial Effusion
ภาวะแทรกซ้อนของ Pericardial Effusion จะแตกต่างกันไปตามความเร็วในการเกิดอาการ แม้ว่าเยื่อหุ้มหัวใจจะสามารถขยายตัวเพื่อรองรับของเหลวส่วนเกินได้ แต่หากมีปริมาณของเหลวสะสมมากเกินไปอาจทำให้เกิดแรงกดทับที่หัวใจ ซึ่งอาจทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจลดลง ร่วมกับมีปริมาณออกซิเจนไม่เพียงพอในร่างกาย โดยภาวะบีบรัดหัวใจอาจทำให้ผู้ป่วยมีความดันเลือดลดลงและอาจเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
การป้องกัน Pericardial Effusion
การดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Pericardial Effusion เช่น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์