Riluzole (ริลูโซล)

Riluzole (ริลูโซล)

Riluzole (ริลูโซล) เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis: ALS) ออกฤทธิ์ช่วยลดระดับสารกลูตาเมตในร่างกายและลดกรดอะมิโนที่ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทที่ส่งข้อมูลจากสมองไปสู่กล้ามเนื้อ อาจช่วยชะลอการดำเนินโรคและยืดอายุขัยของผู้ป่วย แต่ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ นอกจากนี้ อาจนำมาใช้บรรเทาอาการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

เกี่ยวกับยา Riluzole

กลุ่มยา ยาบรรเทาอาการของโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ ช่วยชะลออาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส และลดระดับสารกลูตาเมตในร่างกาย
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า
ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์
แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลอง
ในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า
มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์

1958 Riluzole rs

คำเตือนในการใช้ยา Riluzole

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากกำลังป่วยหรือมีประวัติเป็นโรคไตหรือโรคตับ โดยเฉพาะสตรีและผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่ใช้ยาที่เป็นอันตรายต่อตับ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส รวมถึงยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาคุมกำเนิด ฮอร์โมนทดแทน ยารักษาโรคข้ออักเสบ ยากันชักอย่างยาคาร์บามาซีปีนและยาเฟไนโทอิน และยาลดคอเลสเตอรอลในกลุ่มสแตติน เป็นต้น  
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยใช้ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ได้ อย่างยาอัลโลพูรินอล ยาเมทิลโดปา และยาซัลฟาซาลาซิน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับตับ รวมถึงยาที่ส่งผลต่อเอนไซม์ตับ ซึ่งอาจจะเร่งการขับยา Riluzole ออกจากร่างกาย เช่น ยาอะมิทริปไทลีน ยาโอเมพราโซล ยาไรแฟมปิน และยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลนอย่างยาไซโปรฟลอกซาซิน เป็นต้น
  • ห้ามเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนแปลงปริมาณยาด้วยตนเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ควรระมัดระวังขณะขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะยานี้อาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะหรือง่วงนอนได้
  • ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดบ่อยครั้งในระหว่างที่ใช้ยา เพื่อตรวจดูการทำงานของตับ
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเสี่ยงทำให้ตับถูกทำลายเพิ่มขึ้นขณะใช้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชา น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะอาจทำให้ยาสะสมอยู่ในร่างกายมากจนเกินไป
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีผลเสียและความเสี่ยงต่อทารกก่อนใช้ยานี้  
  • ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Riluzole

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งโดยทั่วไปการใช้ยาในผู้ใหญ่เพื่อช่วยชะลออาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอสจะเป็นการรับประทานยาในปริมาณ 50 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน

การใช้ยา Riluzole

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
  • รับประทานยาทุก ๆ 12 ชั่วโมง ในเวลาเดิมของแต่ละวัน
  • รับประทานยาก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือรับประทานยาหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
  • ห้ามให้ผู้อื่นใช้ยานี้ และห้ามใช้ยาของผู้อื่น
  • หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทน
  • หากรับประทานยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนดและมีอาการหมดสติหรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง รวมถึงปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากแพทย์และเภสัชกร

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Riluzole

โดยปกติ ยา Riluzole อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน อ่อนเพลีย ง่วงซึม ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย รู้สึกชาบริเวณปาก เป็นต้น

ส่วนผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา ผู้ป่วยควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก และมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอ เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ซึ่งอาจเกิดอาการ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน คัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด มีภาวะดีซ่าน เป็นต้น
  • มีอาการของภาวะเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ เช่น มีไข้ เจ็บคอ เหงือกบวม รู้สึกเจ็บเวลากลืน และมีอาการไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
  • ไอแบบมีเสมหะ รู้สึกเจ็บเหมือนถูกแทงที่หน้าอก
  • เจ็บหน้าอกฉับพลันหรือรู้สึกอึดอัด มีเสียงหวีดขณะหายใจ ไอแห้ง หรือรู้สึกหายใจไม่อิ่ม

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้น แต่หากผู้ป่วยรายใดพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วยเช่นกัน