Ritonavir (ริโทนาเวียร์)
Ritonavir (ริโทนาเวียร์) เป็นยาต้านไวรัสที่มักใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อรักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ลดปริมาณเชื้อเอชไอวี ส่งผลให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันดีขึ้น ช่วยลดโอกาสของการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อเอชไอวีอย่างการติดเชื้อต่าง ๆ และโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ยา Ritonavir ไม่ใช่ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะ จึงนำมาใช้ควบคู่กับยาต้านไวรัสชนิดอื่น ๆ และอาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Ritonavir
กลุ่มยา | ยาต้านไวรัสกลุ่มยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease Inhibitors) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาการติดเชื้อไวรัส |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ทั้งนี้ คุณแม่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรให้นมบุตรขณะใช้ยาริโทนาเวียร์ เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและส่งผลกระทบต่อทารก |
คำเตือนในการใช้ยา Ritonavir
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Ritonavir รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากมีประวัติทางสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคฮีโมฟีเลียหรือโรคเลือดหยุดยาก ระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์สูง โรคตับ และตับอ่อนอักเสบ
- ผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียบางรายอาจมีเลือดออกเพิ่มขึ้นในระหว่างการใช้ยา
- ยานี้อาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลหรือไตรกลีเซอไรด์เพิ่มสูงขึ้น
- ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดบ่อยครั้งตามคำสั่งของแพทย์
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานอาจต้องเข้ารับการตรวจระดับน้ำตลาดในเลือดบ่อยครั้งตามคำสั่งของแพทย์ เพราะยา Ritonavir อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ป่วยพบสัญญาณอาการของน้ำตาลในเลือดสูง อย่างปัสสาวะบ่อยหรือกระหายน้ำมาก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรับปริมาณการใช้ยารักษาโรคเบาหวาน การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายให้เหมาะสม
- แจ้งให้แพทย์ทราบขณะใช้ยาหากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทันตกรรมใด ๆ
- ยานี้ไม่อาจรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดหรือยับยั้งการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นจากทางเลือดหรือการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงระมัดระวังในการใช้ชีวิตและมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
- ยานี้อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากพบสัญญาณของการติดเชื้อขณะใช้ยาแม้จะผ่านไปแล้วหลายเดือน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เช่น มีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ไอ และหายใจไม่อิ่ม เป็นต้น
- ยา Ritonavir อาจส่งผลให้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดหรือชนิดอื่นใช้ไม่ได้ผล ผู้ป่วยจึงควรคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นอย่างการสวมถุงยางอนามัย ขณะใช้ยานี้
- ยาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะ จึงหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้ความตื่นตัวอยู่เสมอ รวมทั้งควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยานี้ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะมากขึ้น
- ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียก่อนการใช้ยา เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
- ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรให้นมบุตรขณะใช้ยา Ritonavir เพราะทารกอาจได้รับเชื้อเอชไอวีจากการรับประทานนมแม่ อีกทั้งยาอาจซึมผ่านน้ำนมแม่และเป็นอันตรายต่อทารก
ปริมาณการใช้ยา Ritonavir
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
รักษาการติดเชื้อเอชไอวี
ตัวอย่างการใช้ยา Ritonavir เพื่อรักษาการติดเชื้อเอชไอวี
เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เริ่มรับประทานยา Ritonavir ปริมาณ 250 มิลลิกรัม/ พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง ควบคู่กับการรับประทานยาต้านไวรัสชนิดอื่น จากนั้นเพิ่มปริมาณยา 50 มิลลิกรัม/ พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง ทุก 2–3 วัน จนถึงปริมาณ 350–400 มิลลิกรัม/ พื้นที่ผิว 1 ตารางเมตร วันละ 2 ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยา Ritonavir ปริมาณ 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 วัน ควบคู่กับการรับประทานยาต้านไวรัสชนิดอื่น จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 14 วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
เพิ่มประสิทธิภาพตัวยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอสอื่น ๆ
ตัวอย่างการใช้ยา Ritonavir เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตัวยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอสอื่น ๆ
ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 100–200 มิลลิกรัม วันละ 1 หรือ 2 ครั้ง
การใช้ยา Ritonavir
วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือติดต่อกันนานกว่าที่แพทย์แนะนำ หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา
- รับประทานยานี้พร้อมอาหาร โดยห้ามเคี้ยว หักหรือบดยา แต่ควรกลืนลงไปทั้งเม็ด และเพื่อให้ไม่ลืมรับประทานยา ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของทุกวัน
- รับประทานยาติดต่อกันตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- หากผู้ป่วยใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงอย่างหมดสติหรือหายใจติดขัด
- เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด โดยเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามแช่แข็งยา รวมถึงควรปรึกษาวิธีการเก็บรักษาและการกำจัดยาที่ถูกต้องจากเภสัชกร
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ritonavir
ผู้ป่วยที่รับประทานยาริโทนาเวียร์อาจเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีลมในกระเพาะอาหาร แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง ปวดหลัง กล้ามเนื้อ หรือข้อต่อ เวียนศีรษะ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย รสชาติภายในปากเปลี่ยนไป ชาหรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มในปาก มือ หรือเท้า เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการคงอยู่เป็นเวลานานหรืออาการเหล่านี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงควรหยุดใช้ยาแล้วแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว เช่น
- มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ คัน ผิวหนังบวม แดง หรือพุพอง ผิวหนังลอก หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอกหรือลำคอ เสียงแหบผิดปกติ มีอาการบวมบริเวณปาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น
- มีสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น สับสน รู้สึกอ่อนเพลียมาก หิวหรือกระหายน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะมากและบ่อยครั้ง หน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ เป็นต้น
- ท้องเสียรุนแรงหรือเป็นท้องเสียต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
- แน่นหรือเจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
- เวียนศีรษะหรือหมดสติ
- มีรอยช้ำหรือเลือดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เหงื่อออกมาก
- รู้สึกเหนื่อยล้าหรืออ่อนเพลีย
- อาการบวม
- มองเห็นเป็นภาพเบลอ
- มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังที่รุนแรงมากและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ผิวหนังบวม แดง หรือพุพอง ผิวหนังลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ ตาแดงหรือระคายเคือง เป็นแผลในปาก คอ จมูก หรือดวงตา เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับที่รุนแรงมากและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม รู้สึกเหนื่อย ไม่อยากอาหาร ไม่สบายท้อง ปวดท้อง อาเจียน ดีซ่าน เป็นต้น
- มีปัญหาเกี่ยวกับตับอ่อนที่รุนแรงมากและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง ไม่สบายท้อง หรืออาเจียน เป็นต้น
- ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการอื่นจากปัญหาสุขภาพที่เคยเป็นมาก่อน หรือระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปหลังจากใช้ยาต้านเอชไอวีไม่นานหรือนานเป็นเดือน เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยล้าอย่างมาก ปวดหรืออ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อที่ไม่ยอมหายไป ปวดศีรษะอย่างรุนแรงหรือไม่ยอมหายไป ชาหรือรู้สึกคล้ายเข็มทิ่มตามมือหรือเท้า มีปัญหาสายตา มีสัญญาณของการติดเชื้อ ไทรอยด์เป็นพิษ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที