ความหมาย โรคแอดดิสัน (Addison's Disease)
Addison's Disease หรือโรคแอดดิสัน เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมหมวกไตที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยส่งผลให้ต่อมหมวกไตซึ่งอยู่เหนือไตทั้ง 2 ข้างผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนอัลดอสเตอโรนได้ไม่เพียงพอ ซึ่งฮอร์โมนดังกล่าวมีผลต่ออารมณ์ ระบบเผาผลาญ การทำงานของเนื้อเยื่อ การเจริญเติบโต และการจัดการกับความเครียด ผู้ป่วยโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนสังเคราะห์ทดแทน เพื่อช่วยให้กลไกต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของโรคแอดดิสัน
ผู้ป่วยมักค่อย ๆ แสดงอาการในช่วงเวลาหลายเดือน โดยมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- สีผิวเข้มขึ้น
- ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า
- วิงเวียนศีรษะ เป็นลมหมดสติ
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- รู้สึกอยากอาหารรสเค็ม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย ปวดท้อง
- หงุดหงิด หรือซึมเศร้า
- ขนร่วง
- ผู้ป่วยเพศหญิงอาจมีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการอย่างฉับพลันหรือมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤติที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพบอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์หรือโทรเรียกรถพยาบาลทันที
- ปวดบริเวณหลังส่วนล่าง ท้อง หรือขาอย่างรุนแรงและฉับพลัน
- อาเจียนหรือท้องเสียอย่างหนัก
- มีไข้สูง
- ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และผิวซีด
- มีภาวะโพแทสเซียมสูงและโซเดียมต่ำ ซึ่งอาจทำให้หมดสติหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
สาเหตุของโรคแอดดิสัน
โรค Addison's Disease แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ ซึ่งมีสาเหตุการเกิดแตกต่างกัน ดังนี้
- ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบปฐมภูมิ
เกิดขึ้นเมื่อต่อมหมวกไตได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้อีก โดยมักมีสาเหตุมาจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติและหันมาทำลายต่อมหมวกไต รวมทั้งอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น วัณโรค การติดเชื้อที่ต่อมหมวกไต มะเร็งต่อมหมวกไต ภาวะมีเลือดออกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น - ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องแบบทุติยภูมิ
เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่ทำให้ไม่สามารถผลิตแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน (Adrenocorticotropic Hormone: ACTH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่คอยกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนออกมา เมื่อมีแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมนไม่เพียงพอ ต่อมหมวกไตจึงผลิตฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอตามไปด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคเรื้อรังเป็นประจำ เช่น โรคหืด หรือโรคข้ออักเสบ เป็นต้น ก็อาจเสี่ยงต่อภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องแบบทุติยภูมิได้หากหยุดใช้ยาอย่างฉับพลัน
การวินิจฉัยโรคแอดดิสัน
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ อาการ และตรวจร่างกาย รวมทั้งอาจดูว่าผิวหนังส่วนใดมีสีคล้ำผิดปกติหรือไม่ จากนั้นจึงใช้วิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อระบุผลการวินิจฉัยที่แน่ชัด
โดยวิธีการตรวจที่อาจนำมาใช้ ได้แก่
- การตรวจเลือด เป็นวิธีวัดระดับโซเดียม โพแทสเซียม ฮอร์โมนคอร์ติซอล และแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน เพื่อดูว่าเข้าข่ายภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องหรือไม่ รวมทั้งวัดปริมาณสารภูมิต้านทานที่บ่งบอกถึงการป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
- การตรวจภาวะทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไต (ACTH Stimulation Test) โดยวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในเลือดก่อนและหลังฉีดแอดรีโนคอร์ติโคทรอพิกฮอร์โมน หากต่อมหมวกไตเกิดความเสียหาย ระดับคอร์ติซอลของผู้ป่วยจะไม่เพิ่มขึ้นหลังฉีดฮอร์โมนดังกล่าว
- การตรวจด้วยภาพถ่าย ได้แก่ การทำซีทีสแกน การทำเอ็มอาร์ไอสแกน หรือการเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูขนาด ความผิดปกติของต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมอง ซึ่งอาจช่วยให้ทราบสาเหตุที่ต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องด้วย
- การทดสอบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยฉีดอินซูลิน ในกรณีที่คาดว่าผู้ป่วยมีภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่องเนื่องจากโรคต่อมใต้สมอง แพทย์อาจตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในหลายช่วงเวลาหลังฉีดอินซูลิน ซึ่งหากระดับน้ำตาลลดต่ำลงและคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้นจะถือว่าเป็นปกติ
การรักษาโรคแอดดิสัน
โรค Addison's Disease รักษาได้โดยการรับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตไม่ได้ เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน เพรดนิโซน คอร์ติโซนสำหรับทดแทนฮอร์โมนคอร์ติซอล ฟลูโดคอร์ติโซนสำหรับทดแทนฮอร์โมนอัลดอสเตอโรน เป็นต้น แต่หากผู้ป่วยอาเจียนหรือไม่สามารถรับประทานยาได้ แพทย์อาจฉีดยาเข้าหลอดเลือดแทน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาและปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาการของโรคอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำ โพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะร้ายแรงจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยแพทย์จะให้ยาไฮโดรคอร์ติโซน สารละลายน้ำเกลือ และน้ำตาลเดกซ์โทรสแก่ผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือด เพื่อช่วยให้ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาล และระดับโพแทสเซียมกลับมาเป็นปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคแอดดิสัน
ผู้ป่วย Addison's Disease บางคนอาจมีโรคหรือภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น เบาหวาน หรือภาวะไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น และอาจมีตารางกิจวัตรประจำวันที่จำกัดมากขึ้น เนื่องจากต้องมีวินัยในการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ หากไม่รับประทานยาหรือรับประทานยาช้ากว่าเวลาที่กำหนด อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าหรือนอนไม่หลับได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการแย่ลงอย่างฉับพลันหรือที่เรียกว่าภาวะวิกฤติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การเจ็บป่วยอื่น ๆ การผ่าตัด ภาวะขาดน้ำ การหยุดใช้ยาหรือลดปริมาณยาที่ใช้รักษาอย่างกะทันหัน เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจนำไปสู่ภาวะช็อก ชัก และโคม่าได้
การป้องกันโรคแอดดิสัน
Addison's Disease เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนผู้ป่วยโรคนี้ควรป้องกันอาการของโรคกำเริบโดยรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องการหยุดใช้ยา รวมทั้งพกป้ายแสดงประวัติสุขภาพและอุปกรณ์สำหรับฉีดฮอร์โมนคอร์ติซอลเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉินเสมอ นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่ตลอด หากมีอาการแย่ลงก็ควรรีบไปพบแพทย์