กรดอัลฟาไลโปอิก (ALA)
กรดอัลฟาไลโปอิก (Alpha-Lipoic Acid หรือ ALA) เป็นกรดไขมันที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยปกป้องเซลล์ไม่ให้เกิดการอักเสบจากปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระได้ ทั้งยังอาจช่วยรักษาระดับของวิตามินซีและวิตามินอีในร่างกาย ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและให้พลังงานกับอวัยวะต่าง ๆ และอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาอาการเส้นประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานได้ด้วย
ร่างกายของเราสามารถผลิตกรดอัลฟาไลโปอิกขึ้นได้เอง หรือได้รับจากการรับประทานอาหารหลากหลายชนิด เช่น ผักโขม บร็อกโคลี่ มันฝรั่ง ยีสต์ เนื้อแดง หรือเครื่องในอย่างตับหรือไต นอกจากนี้ ยังมีกรดอัลฟาไลโปอิกชนิดที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการ และได้รับความนิยมในการรับประทานเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วย
เกี่ยวกับกรดอัลฟาไลโปอิก
กลุ่มยา | ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร |
ประเภทยา | ยาที่สามารถหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ต้านอนุมูลอิสระ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งอาหารเสริมนี้อาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ หากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรต้องการรับประทานอาหารเสริมนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและทารกมากที่สุด |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้กรดอัลฟาไลโปอิก
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้กรดอัลฟาไลโปอิก ผู้ใช้ควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน และไม่ควรใช้หากมีประวัติแพ้กรดอัลฟาไลโปอิก
- เด็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กรดอัลฟาไลโปอิก เพราะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือขาดวิตามินบี 1 ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กรดอัลฟาไลโปอิก เพื่อทำการปรับขนาดและปริมาณยาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
- ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้กรดอัลฟาไลโปอิก เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ จึงควรปรับขนาดและปริมาณให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนก่อน
- ในระหว่างการใช้กรดอัลฟาไลโปอิกไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจลดประสิทธิภาพในการรักษาของกรดอัลฟาไลโปอิก
ปริมาณการใช้กรดอัลฟาไลโปอิก
ปริมาณในการใช้กรดอัลฟาไลโปอิกจะขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของผู้ใช้ที่แตกต่างกันออกไป และอาจต้องพิจารณาเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย ตัวอย่างการใช้กรดอัลฟาไลโปอิกมีดังนี้
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ตัวอย่างการใช้กรดอัลฟาไลโปอิกเพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผู้ใหญ่ รับประทานกรดอัลฟาไลโปอิกชนิดแคปซูลปริมาณ 300–600 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง โดยควรรับประทานตอนท้องว่าง หรือรับประทานกรดอัลฟาไลโปอิกชนิดเม็ด 50 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้งพร้อมมื้ออาหาร
การใช้กรดอัลฟาไลโปอิก
ในปัจจุบันคณะกรรมการองค์การอาหารและยายังไม่มีการอนุมัติใช้กรดอัลฟาไลโปอิกทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ แต่มีการนำไปใช้ในกรณีศึกษาและงานวิจัยถึงความเป็นไปได้ที่กรดอัลฟาไลโปอิกอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการหรือเงื่อนไขของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น
- การใช้ยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไลโปอิกร่วมกับโคเอ็นไซม์คิวเท็น แมงกานีส กรดไขมันโอเมก้า 3 และซีลีเนียม ก่อนและหลังการผ่าตัดบายพาส อาจจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้
- การใช้ยาที่มีส่วนผสมของกรดอัลฟาไลโปอิกร่วมกับวิตามินซี วิตามินอี และกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว พร้อมกับการรักษาด้วยแสงบำบัด (Light Therapy) ทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ อาจจะช่วยปรับสีผิวในผู้ป่วยที่เป็นโรคด่างขาวได้
- การรับประทานกรดอัลฟาไลโปอิกติดต่อกันเป็นเวลา 3–5 สัปดาห์ อาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน หรือชาที่แขนและขาในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเส้นประสาทอักเสบได้
- การรับประทานกรดอัลฟาไลโปอิกขนาด 300 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 2–8 สัปดาห์ ก่อนและหลังการบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) อาจช่วยลดขนาดของแผลได้
- การรับประทานกรดอัลฟาไลโปอิก 1,800 มิลลิกรัม ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 20 สัปดาห์ อาจช่วยลดน้ำหนักในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินได้
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ในการรักษาอาการต่าง ๆ ของกรดอัลฟาไลโปอิกยังต้องการข้อมูลมารองรับอีกมาก ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกรดอัลฟาไลโปอิก และควรอ่านฉลากก่อนการใช้ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากกว่าที่กำหนด และควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องให้ห่างจากความชื้นและความร้อนเพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมสภาพ
ปฏิกิริยาระหว่างกรดอัลฟาไลโปอิกกับยาอื่น
กรดอัลฟาไลโปอิกอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยารักษาโรคเบาหวาน เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำจนเกินไป และเป็นอันตรายต่อร่างกาย
- ยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้า และเพิ่มความเสี่ยงในการตกเลือดได้
- ยาเคมีบำบัด เช่น ยาซิสพลาติน (Cisplatin) เพราะอาจส่งผลต่อการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้
- ยาที่มีส่วนผสมของเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) เพราะอาจลดประสิทธิภาพในการรักษาของกรดอัลฟาไลโปอิก
- ธาตุเหล็ก เพราะการรับประทานธาตุเหล็กและกรดอัลฟาไลโปอิกร่วมกันอาจลดประสิทธิภาพของร่างกายในการดูดซึมสารอาหารทั้งสองชนิด
ตัวอย่างยาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับกรดอัลฟาไลโปอิกเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
ผลข้างเคียงจากการใช้กรดอัลฟาไลโปอิก
กรดอัลฟาไลโปอิกอาจสามารถใช้ได้สูงถึงวันละ 2,400 มิลลิกรัม โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ เช่น มีผื่นคันขึ้นบริเวณผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ รวมถึงในผู้ป่วยเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่งผลให้มีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว และรู้สึกวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมด้วย
อย่างไรก็ตาม หากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีอาการรุนแรงและไม่ยอมหายไป หรือเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ โดยเฉพาะสัญญาณของการแพ้กรดอัลฟาไลโปอิก เช่น มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ และหายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์