ภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol Withdrawal)

ความหมาย ภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol Withdrawal)

Alcohol Withdrawal หรือภาวะถอนพิษสุรา เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำหยุดดื่มแอลกอฮอล์หรือลดปริมาณการดื่มลงอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยมักแสดงอาการวิตกกังวล คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หากมีอาการรุนแรงอย่างชักหรือประสาทหลอน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

1668 Alcohol Withdrawal resized

อาการของภาวะถอนพิษสุรา

ภาวะ Alcohol Withdrawal มักเกิดขึ้นหลังจากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ 6 ชั่วโมง หรืออาจนาน 2-3 วัน โดยผู้ป่วยมักแสดงอาการต่อไปนี้

  • วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีอารมณ์แปรปรวน
  • อ่อนเพลีย มือสั่น
  • ปวดศีรษะ มึนงง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีเหงื่อออกมาก
  • นอนไม่หลับ
  • หัวใจเต้นเร็วขึ้น
  • ความดันโลหิตสูง

นอกจากอาการผิดปกติข้างต้น ผู้ป่วยอาจประสบกับอาการรุนแรงที่เรียกว่ากลุ่มอาการ Delirium Tremens (DT) ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากหยุดดื่มแอลกอฮอล์ 48-72 ชั่วโมง โดยหากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

  • มีอาการสับสน หรือกระวนกระวายอย่างมาก
  • มีไข้
  • ชัก
  • ประสาทหลอน ทั้งด้านการสัมผัส การมองเห็น และการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงหรือมองเห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริง เป็นต้น

สาเหตุของภาวะถอนพิษสุรา

การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากจะส่งผลให้สารเคมีในสมองเปลี่ยนแปลง ต่อมาอาจทำให้ผู้บริโภคต้องการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการเสพติด ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากยังส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยกระตุ้นให้ร่างกายต้องการแอลกอฮอล์ตลอดเวลาและไม่สามารถปรับตัวกับการขาดแอลกอฮอล์ได้ เมื่อหยุดดื่มจึงอาจก่อให้เกิดภาวะถอนพิษสุราตามมา

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงต่อภาวะ Alcohol Withdrawal มากกว่าคนทั่วไป

  • ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • มีประวัติเป็นภาวะถอนพิษสุรามาก่อน
  • มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง

การวินิจฉัยภาวะถอนพิษสุรา

หากพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการบ่งชี้ของภาวะ Alcohol Withdrawal ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและบำบัดอย่างถูกต้อง โดยเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ป่วย ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น จากนั้นอาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อตรวจดูอาการบ่งชี้ของภาวะถอนพิษสุรา เช่น มือสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะขาดน้ำ มีไข้ เป็นต้น
  • ตรวจเลือดหรือปัสสาวะ เพื่อดูปริมาณสารพิษอื่น ๆ ในร่างกาย
  • อาจใช้เกณฑ์ทางคลินิกที่เรียกว่า Clinical Institute Withdrawal Assessment of Alcohol-Revised (CIWA-Ar) เพื่อประเมินความรุนแรงของภาวะถอนพิษสุรา

การรักษาภาวะถอนพิษสุรา

วิธีการรักษาภาวะ Alcohol Withdrawal ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วยเป็นหลัก ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
    สามารถรักษาตัวได้ที่บ้านตามปกติ แต่ควรอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือเพื่อน เพราะจำเป็นต้องมีคนคอยช่วยเหลือหากอาการป่วยกำเริบ และบริเวณที่อยู่อาศัยควรเงียบสงบเหมาะแก่การพักรักษาตัว นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามนัดหมายอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์มักตรวจเลือดและตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อบำบัดอาการเสพติดแอลกอฮอล์ และผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องรับประทานยากล่อมประสาทเพื่อบรรเทาภาวะถอนพิษสุราควบคู่ไปด้วย
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
    ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด โดยแพทย์จะคอยตรวจวัดความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และระดับสารเคมีในเลือดชนิดต่าง ๆ ซึ่งแพทย์มักให้ผู้ป่วยรับประทานยากล่อมประสาทเพื่อบรรเทาภาวะถอนพิษสุรา ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารและยาได้ด้วยตนเอง อาจจำเป็นต้องให้สารน้ำและยาผ่านทางหลอดเลือดดำ

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะถอนพิษสุรา

โดยปกติผู้ป่วยที่มีภาวะ Alcohol Withdrawal มักประสบกับภาวะแทรกซ้อน ดังต่อไปนี้

  • ภาวะขาดน้ำ
  • ภาวะน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล
  • ภาวะติดเชื้อ
  • โรคตับอ่อนอักเสบ
  • ภาวะเลือดเป็นกรดจากการดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ป่วยที่เผชิญอาการดังข้างต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากภาวะถอนแอลกอฮอล์ชนิดรุนแรง หรือเกิดกลุ่มอาการ Delirium Tremens ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการรุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันภาวะถอนพิษสุรา

การป้องกันภาวะ Alcohol Withdrawal ทำได้ไม่ยาก เพียงควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องไม่ดื่มในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน

โดยทั่วไปคนในวัยผู้ใหญ่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกิน 2 ดื่มมาตรฐาน/วัน ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมักมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เท่ากัน โดย 1 ดื่มมาตรฐานของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเท่ากับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ประมาณ 10 กรัม เฉลี่ยแล้วอาจเท่ากับเบียร์ประมาณ 360 มิลลิลิตร ไวน์ประมาณ 150 มิลลิลิตร และสุราประมาณ 45 มิลลิลิตร

ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างเสพติดการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี และลดโอกาสในการเกิด Alcohol Withdrawal ตามมา